พื้นที่เขื่อน กฟผ. เนื้อหอม โรงแรม-โรงพยาบาลชื่อดังแห่ผุดเวลเนส

โรงแรม-โรงพยาบาลชื่อดังแห่สนใจลงทุนเขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง หรือธุรกิจเวลเนสในพื้นที่เหนือเขื่อนของ กฟผ.ทั่วไทย “สวิสโฮเทล-แมริออท-เครือโรงแรมลา ฟลอร่า เขาหลัก” ด้านเครือข่าย “รพ.กรุงเทพ-รพ.บำรุงราษฎร์” กำลังเล็งทำเลเขื่อน รวมถึงบริษัท มิสกวาน เฮลธ์ กรุ๊ป จำกัด หรือ (MHG) และเครือข่าย “คามาลายา” ที่ทำเวลเนสข้ามชาติกำลังจะเข้ามาคุยรายละเอียด ด้าน กฟผ.เร่งแก้ พ.ร.บ.กฟผ.ให้ตอบโจทย์เชิงบวก พร้อมมีบริษัทลูกรองรับการทำธุรกิจร่วมทุนอยู่แล้ว

หลังจากทางกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัย 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยพายัพ และ มหาวิทยาลัยพะเยา

ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการนำพื้นที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเขตนวัตกรรมการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ และเขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมรอบชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่ กฟผ.มีอยู่ในระยะเวลา 5 ปี โดยลงนามไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566

ล่าสุด นายจรัล คำเงิน รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. มีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาพื้นที่เหนือเขื่อนและชุมชนโดยรอบเขื่อนเข้าสู่ “ธุรกิจเวลเนส wellness”

โดยสั่งการมาที่คณะกรรมการบริหาร ซึ่ง กฟผ.เตรียมจัดตั้งเป็นโครงการขึ้นมา โดยบูรณาการการทำงานกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ ด้วยการนำเขื่อนขนาดใหญ่ 6-7 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพในเชิงพื้นที่ ทั้งด้านมูลค่าและคุณค่า รวมถึงเป็นแหล่งผลิตพลังงานสีเขียวมาดำเนินการก่อน

เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์, เขื่อนศรีนครินทร์, เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา, เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี

โดยพื้นที่ในเขื่อนเหล่านั้น กฟผ.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บางส่วนเช่าจากกรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนั้นนายกุลิศ ประธานบอร์ด กฟผ.จึงสั่งการให้ทีมกฎหมายมาช่วยดูว่า พระราชบัญญัติการไพฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ จะปรับแก้ไขอย่างไรให้เอื้อต่อการบูรณาการสินทรัพย์เหล่านี้ให้เพิ่มมูลค่าและคุณค่า ก่อให้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ

ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ไปหารือกับกรมธนารักษ์ มีเงื่อนไขเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ของกรมธนารักษ์อยู่แล้ว ส่วนกรมอุทยานฯเองที่ผ่านมาก็มีการทำธุรกิจบ้านพัก เก็บค่าเช่าค่าดำเนินการอยู่ หากบูรณาการตามเป้าหมายตามแนวทางที่ “กฎบัตรไทย” ได้วางเอาไว้ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่มาร่วมบูรณาการด้วย จะตอบโจทย์หรือเอื้อประโยชน์ในทุกภาคส่วน

สำหรับรูปแบบการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน ปัจจุบัน กฟผ.มีบริษัทลูก 5-6 บริษัทที่ทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ดังนั้นจะดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามาดำเนินการ โดยส่วนหนึ่ง กฟผ.อาจจะลงทุนเองหรือลงทุนร่วม หรือจะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปดำเนินการได้ 2-3 แนวทาง ซึ่งเงื่อนไขการลงทุนในแต่ละเขื่อนอาจจะแตกต่างกันไป

“ที่ผ่านมาเราทำ CSR พื้นที่โดยรอบ แต่มีผลเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าเป็นโครงการอิมแพ็กต์ระดับชาติหรือระดับอาเซียน เรามีต้นทุนที่ดี แต่ว่าต้องบูรณาการภาพใหญ่ของประเทศ บอร์ดและผู้บริหาร กฟผ.มีนโยบายสนับสนุนเต็มที่ เพื่อพัฒนาไปสู่เวลเนสที่มีศักยภาพสูง ส่วนพื้นที่นำร่องอาจจะหยิบยกเขื่อนบางแห่งขึ้นมานำร่องในลักษณะแซนด์บอกซ์ไปก่อน” นายจรัลกล่าวและว่า

พื้นที่ของ กฟผ.ที่ดำเนินการเช่ากรมป่าไม้มา 40-50 ปี มีศักยภาพทางด้านเวลเนสมาก แต่ด้วยวัตถุประสงค์ตั้งต้น กฟผ.ดูแลเขื่อนผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว แต่หากทำเพียง CSR “เสียดายโอกาส” ถ้ายกระดับมาตรงนี้จะเป็นอิมแพ็กต์ระดับประเทศ

โดยเฉพาะมีนักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมจะบินมาพัก 1-2 เดือน มีผลดีต่อเศรษฐกิจ หากทุกฝ่ายช่วยกัน ซึ่งท่านผู้ว่าการ กฟผ.สั่งการลงมาแล้ว ก็อยากมุ่งเน้นตรงนี้จะเป็น soft power ของไทยอย่างหนึ่ง ก่อให้เกิดเศรษฐกิจนอกจากธุรกิจหลักของการผลิตไฟฟ้าและพลังงานสีเขียว ยกตัวอย่าง เขื่อนวชิราลงกรณ กับเขื่อนศรีนครินทร์ มีศักยภาพมาก

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีโรงแรมและโรงพยาบาลหลายแห่งแสดงความประสงค์จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เหนือเขื่อนของ กฟผ.ทั่วประเทศ ที่จะนำมาทำ “เขตนวัตกรรมการแพทย์” และ “เขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง”

ยกตัวอย่าง เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ตอนนี้มีผู้แจ้งความประสงค์และเข้าไปหารือกับ กฟผ.ใน 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1) ต้องการทำหน่วยฟื้นฟูสุขภาพขนาดใหญ่ เป็นทุนของคนไทยเอง 2) บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ผู้ให้บริการเครื่องบินน้ำ มีความประสงค์เชื่อมโยงการท่องเที่ยวพื้นที่ต่าง ๆ กับการท่องเที่ยวเหนือเขื่อน แสดงความต้องการที่จะบินมาลงในพื้นที่เขื่อน โดยไม่ทำให้เกิดมลพิษในพื้นที่

และ 3) ทางเครือโรงแรมลา ฟลอร่า เขาหลัก และโรงแรมลาเวล่า ประสงค์จะเชื่อมโยงกิจการโรงแรมที่พักเข้ามายังพื้นที่ เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี

ส่วนเขื่อนลำตะคอง มีที่พิเศษกว่าเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. เพราะมีพื้นที่อยู่ริมถนนใหญ่ ที่ดินอยู่ปากทางเข้า อ.ปากช่อง และตรงที่ตั้งเขื่อนอยู่ห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ปากช่องเพียง 2 กม. มีจุดชมวิวที่มีความเหมาะสม ดังนั้นเขื่อนลำตะคอง ได้มีผู้แจ้งความประสงค์ลงทุน ประกอบไปด้วย

1) “เดอะเปียโน” รีสอร์ตเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จะขอร่วมลงทุนกับ กฟผ. จัดทำพื้นที่ประชุมและพื้นที่พาณิชยกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อเสนอ ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ กฟผ. รายละเอียดยังต้องพิจารณาตามขั้นตอนกันต่อไป

2) การลงทุนด้านเฮลท์แคร์ของเครือโรงแรมลา ฟลอร่า เขาหลัก ขณะที่โรงแรมสวิสโฮเทล สนใจลงทุนที่เขื่อนลำตะคอง กับเขื่อนอีก 2 แห่งที่ จ.กาญจนบุรี และโรงแรมแมริออท สนใจลงทุนในเขื่อน 2 แห่งที่ จ.กาญจนบุรี เช่นกัน

“ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ก็จองไว้ 2 เขื่อน คือ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โดยต้องการพื้นที่ในเขื่อนอุบลรัตน์เป็นหน่วยฟื้นฟูสุขภาพ เมื่อผ่าตัดที่ รพ.ศรีนครินทร์ จะนำผู้ป่วยไปฟื้นฟูที่เขื่อน ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) สนใจลงทุนแหล่งฟื้นฟูสุขภาพที่เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำตะคอง เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีเครือข่าย รพ.กรุงเทพ สนใจขยายในพื้นที่ จ.ขอนแก่น รพ.บำรุงราษฎร์ สนใจขยายลงทุนใน จ.เชียงราย ส่วนโรงแรมแมริออท บริษัท มิสกวาน เฮลธ์ กรุ๊ป จำกัด หรือ (MHG) และเครือข่าย “คามาลายา” ที่ทำเวลเนสระดับโลกก็กำลังจะเข้ามาคุยรายละเอียดกับเราอยู่

จากการสอบถามไปยังนายสมพงษ์ ดาวพิเศษ กรรมการผู้จัดการ โรงแรมลาเวล่า เขาหลัก และเลเบย์ เซิร์ฟ แคปิตอล กล่าวว่า สนใจที่จะลงทุนธุรกิจเวลเนสบริเวณเขื่อนเชี่ยวหลานและเขื่อนลำตะคอง แต่ต้องรอดูเงื่อนไขของ กฟผ.ก่อน