วิสาหกิจ “ดงกลาง” รุกส่งออก เจอล้งทุบราคาปลายทางเดี้ยง

ธนกฤต เขียวขจี
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ผลผลิตมังคุดปี 2566 ประมาณ 312,123 ตัน ผลผลิตภาคตะวันออก 170,046 ตันหมดไปแล้ว ภาคใต้ 142,077 ตัน ผลผลิตออกไปแล้ว 60-70% เป็นช่วงโค้งสุดท้าย พบว่าทุก ๆ ปีสภาพปัญหาราคามังคุดตกต่ำในภาคตะวันออกและภาคใต้เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร บางปีราคาไม่ถึงกิโลกรัมละ 10 บาท

ขณะที่ต้นทุน 25-30 บาท เกษตรกรชาวสวนมองว่าปัญหาราคาตลาดปลายทางเป็นกลไกตลาด มักจะถูกนำมาเป็นข้ออ้างกดราคาของล้งหรือผู้ส่งออก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ธนกฤต เขียวขจี” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดคุณภาพดงกลาง จังหวัดตราด ได้ทดลองนำมังคุดคุณภาพส่งออกตลาดจีนโดยตรง เพื่อหาแนวทางการส่งออกมังคุดของกลุ่มเกษตรกร

พ่อค้าฟันกำไรต้นฤดูแพง

ธนกฤตบอกว่า ปัญหาราคามังคุดภาคใต้กับภาคตะวันออกคล้าย ๆ กัน คือการถูกกดราคาในการซื้อ-ขาย ปกติตั้งแต่เริ่มต้นฤดูช่วงที่มังคุดราคาแพง กก.ละ 200-240 บาท ผู้ส่งออกบวกกำไรส่วนต่างสูงมาก ถึง กก.ละ 100 บาท ขณะที่ชาวสวนจะรู้สึกพอใจที่ขายได้ราคาแพง

ขณะที่ช่วงมังคุดราคาตกต่ำ ชาวสวนคิดว่าถูกกดราคา จริง ๆ เป็นไปตามกลไกตลาด ปริมาณผลผลิตมาก ทำให้ราคาตกต่ำ ผู้ส่งออกทำกำไรได้น้อย และในตลาดปลายทางจีน ยังมีผลไม้อื่น ๆ มาแข่งขัน เช่น ลิ้นจี่ลูกใหญ่ ราคาถูก สดกว่า

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงตลาดปลายทางราคาคงที่ ผู้ส่งออกกลับปรับราคาขึ้นลงในแต่ละวันเพื่อทำกำไร ทำให้ชาวสวนเห็นว่าช่วงที่มังคุดออกมาก ๆ ราคาจะต่ำลง เมื่อคิดราคาเฉลี่ยทั้งฤดูกาลแล้วเกษตรกรมีรายได้ลดลง ปัญหาราคามังคุดตกต่ำชาวสวนออกมาประท้วง ยื่นหนังสือ และเรียกร้องหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการให้เข้ามาช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งประท้วงด้วยการหยุดเก็บ เมื่อจบฤดูกาลก็เงียบหายไป และมีปัญหาวนเวียนซ้ำซากทุกฤดูกาลทุกปี

“ถ้าต้นฤดูชาวสวนขายได้กิโลฯละ 100 บาท ราคาตลาดปลายทาง กก.ละ 264 บาท ล้งส่งออกมีกำไร กก.ละ 100 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย กก.ละ 64-67 บาทเป็นค่าเช่าตู้ ค่าดำเนินการ ค่าผ่านด่าน ค่าดำเนินการตลาด 1 ตู้ น้ำหนัก 18 ตัน มีกำไรตู้ละ 1.8 ล้านบาท หรืออาจมากกว่าการซื้อราคาถูกลงอีก”

ล้งควบคุมกลไกราคา

ก่อนที่จะลองส่งออก กลัวที่สุดคือการเงินที่ตลาดปลายทางที่รับซื้อจะจ่ายจริงหรือไม่ ตลาดจีนไม่น่ากลัวอย่างที่คิด การโกงทำให้เสียชื่อเสียงทางการค้ามาก จีนไม่ทำ แต่ยอมรับว่าราคาที่ขายไม่ได้ตามเป้าหมาย จากการส่งออกครั้งเดียว 1 ตู้ ทำให้เห็นราคาตลาดมังคุดปลายทางที่รับซื้อบางส่วน

ยกตัวอย่าง ช่วงที่มีการส่งออกมาก หากของลอตนี้ไปถึงปลายทางตลาดจีน ราคาจะลงแน่ ผู้ส่งออกบางคนชิงส่งออกทางเครื่องบิน ให้ได้ราคาสูง หรือผู้ส่งออกอาจจะรวมตัวกันซื้อ “ทุบราคา” ต่ำมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง และส่งออกทางเครื่องบินไปทำตลาดก่อน เมื่อตู้ขนส่งไปจีนทางบกใช้เวลา 5-6 วัน ราคาตลาดจะถูกลง เพราะปลายทางรู้ราคาต้นทาง

ทำให้ผู้ส่งออกถึงกับขาดทุนได้ ภาพการส่งออกจึงดูน่ากลัว ชาวสวนไม่กล้าจริง ๆ ตลาดจีนยังมีความต้องการมาก และการส่งออกไม่ยุ่งยาก เมื่อจ้างโรงแพ็กแล้วชิปปิ้งจะเป็นผู้จัดการทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นทางไปถึงตลาดปลายทาง เช่า ตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่ง การดำเนินการตลาดปลายทางตะกร้าละ 10 หยวน ค่าใช้จ่ายประมาณ กก.ละ 64-67 บาท การทำแบรนด์ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นทางการ เพียงแต่แจ้งที่ด่าน

มังคุด

“จากการรวบรวมผลผลิตของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มคุณภาพมังคุดดงกลาง จ.ตราด ส่งออกที่ตลาดค้าส่งเมืองปักกิ่ง เพราะคิดว่าเป็นตลาดที่ได้ราคาดี ราคารับซื้อ กก.ละ 140 บาท มีผู้ส่งออกรวมตัวกันทุบราคาเหลือ กก.ละ 60 บาท และส่งไปทางเครื่องบินราคาตลาดยังอยู่ที่ 230 บาท

แต่เมื่อการขนส่งทางรถยนต์ไปถึงอีก 5-6 วัน ราคาลงมาเหลือ กก.ละ 150 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย กก.ละ 64-67 บาท ราคามังคุดเหลือ 70-80 บาท การทำตลาดปลายทางไม่ประสบความสำเร็จ ล้งรู้ว่าช่วงไหนราคาขึ้นลงและควบคุมราคาได้”

มังคุดไร้คุณภาพราคาร่วง

การอ้างว่าชาวสวนทำมังคุดไม่มีคุณภาพทำให้ราคาลงไม่ถูกต้อง พ่อค้าก่อนรับซื้อจะมีการแยกคุณภาพ กำหนดราคาซื้อตามเกรด ผิว ขนาด เช่น ผิวมันใหญ่ ผิวลายกาก ดำ ดอก ตกไซซ์ แยก 3-4 เกรดส่งตลาดต่างประเทศ การกำหนดราคาโดยอ้างมังคุดไม่มีคุณภาพไม่ถูกต้อง ยกเว้นมังคุดแก้วยางนั้น อาจมองยากและควบคุมได้ยากมาก ในการผลิตยอมรับว่าคุณภาพไม่ดีจริง ๆ เกิดขึ้นช่วงฝนตกหนักต่อเนื่อง

ซึ่งตลาดปลายทางจะประเมินปริมาณของเสียเป็นเปอร์เซ็นต์ ปรับลดราคาลง และการคัดเกรดมาตรฐานจีนไม่เข้มข้นถึง 100% เท่าล้งที่ส่งออก ที่กำหนดผิวมัน ผิวลาย หูลาย หูเขียว จริง ๆ แล้วไปถึงตลาดจีนสีดำเหมือนกันหมด แม้แต่ตกไซซ์ขึ้นเกรดได้

“มังคุดที่ขายส่งตลาดต่างประเทศ ชาวสวนจะดูได้ว่าถูกเอาเปรียบหรือถูกกดราคาหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ต้องดู
ตลาดปลายทางเป็นหลัก และลบด้วยค่าใช้จ่าย กก.ละ 64-67 บาท จะได้ราคาขายของผู้ส่งออกและนำมาลบกับราคาที่ชาวสวนขายได้ ส่วนต่างจะอยู่ในมือซื้อ และผู้ส่งออก”

ส่วนพ่อค้าคนกลาง แผงริมทาง รับซื้อมังคุดจากชาวสวนส่งผู้ประกอบการส่งออก (ล้ง) จะรับราคามาจากล้ง ซึ่งจะมีการปรับราคาขึ้น-ลงช่วงก่อนรับซื้อหลายช่วงราคา หากของมีปริมาณมากจะปรับราคาซื้อลดลง เพราะได้ของตามปริมาณที่กำหนดแล้ว ทำให้มือซื้อขาดทุนย่อยยับ เพราะไปดันราคาแข่งขันกัน นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ส่งออกไม่ติดป้ายรับซื้อตามที่กฎหมายกำหนด

“มือซื้อหรือคนที่ไปรวบรวมมังคุดไปส่งล้ง หรือแผงย่อยรับซื้อมังคุดตามจุดต่าง ๆ ไปส่งให้ล้ง โดยล้งที่ส่งออกจะให้ราคามา ไม่มีสิทธิขอราคากับล้ง การปิดป้ายราคารับซื้อจะทำไม่ได้ เพราะภายใน 1 วันราคาจะเพิ่ม-ลด 20-50 บาท มือซื้อจะเผชิญหน้ารับแรงกดดันกับชาวสวน ผู้ประกอบการจะควบคุมราคาโดยที่ยังขึ้นอยู่กับโควตา ความต้องการปิดตู้ ถ้าตู้เต็มจะลดราคามือซื้อไปครึ่งต่อครึ่ง”

“จากประสบการณ์ การส่งออกของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดคุณภาพดงกลาง เพียงตู้เดียวในปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมของราคาตกต่ำได้อย่างยั่งยืน ราคามังคุดย่ำแย่มา 3-4 ปีแล้ว วิสาหกิจหรือกลุ่มใด ๆ ในภาคตะวันออก ภาคใต้ต้องร่วมมือกันเตรียมรับมือในปีต่อ ๆ ไป การปล่อยให้ราคาตลาดปลายทางอยู่ในมือผู้ประกอบการ สินค้าทุกชนิดราคาลดลงแล้วขึ้นยาก ต้องรวมกลุ่มเพื่อส่งออกอาจจะใช้ระยะเวลา 5-10 ปี ทำได้แน่นอน แต่ด้วยอาชีพหลักเป็นชาวสวนคงไม่มีใครอยากทำ คาดว่าต่อไปพ่อค้ารายย่อยจะร่วมมือกันส่งออกเอง และจะผันตัวเองเป็นผู้ให้บริการการส่งออก”