จังหวัดเลยเตรียมสร้างอ่างน้ำลาย กรมชลประทานคาดใช้งบฯ 1.8 พันล้าน

เตรียมสร้างอ่างน้ำลาย จ.เลย

จากแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเลยจำนวน 19 โครงการ นับเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งให้กับพื้นที่ ล่าสุดโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำลายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเลย ทั้งสิ้น 19 โครงการของกรมชลประทาน ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำที่ทำหน้าที่ตัดยอดน้ำในฤดูฝนไม่ให้มาท่วมพื้นที่ด้านล่างและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง มีทั้งหมด 8 แห่ง มีความจุรวม 111 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 6 แห่ง

ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยแห้ว อ่างเก็บน้ำพาว อ่างเก็บน้ำหมาน อ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ อ่างเก็บน้ำน้ำเลย และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ ความจุรวม 75.4 ล้าน ลบ.ม. และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม อีก 2 แห่ง ความจุรวม 35.6 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำลาย และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำฮวย

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำลายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทางรัฐบาลได้ดำเนินการเร่งรัดมาโดยตลอด โดยได้ส่งรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามไปดูพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 และเร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการ ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 20,600 ไร่ เป็นป่าวนอุทยานภูบ่อบิด ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าอนุรักษ์, ป่าเศรษฐกิจ” ป่า ส.ป.ก.และที่ดินของประชาชน

จนถึงวันนี้การสำรวจการศึกษาด้านความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ความจุอ่าง 27.99 ล้าน ลบ.ม. สันฝายยาว 110 เมตร สูง 8 เมตร พร้อมระบบท่อ ใช้งบประมาณรวม 1,835 ล้านบาท ในเบื้องต้นได้จัดทีมงานไปให้ข้อมูลและเจรจากับประชาชนเรื่องการเวนคืน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี จะช่วยพื้นที่ในฤดูแล้ง 13,249 ไร่ และพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 17,200 ไร่ หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะช่วยป้องกันอุทกภัยและแก้ปัญหาภัยแล้งได้

เตรียมสร้างอ่างน้ำลาย จ.เลย

ล่าสุด โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำน้ำลายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้

“โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลยเพียง 5 กม. ปัจจุบันเป็นฝายน้ำล้นชนบทห้วยน้ำลายที่ชำรุดลงมาก ท่ามกลางภูเขาสูงหลายลูก ซึ่งลำน้ำลายไหลลงมาผ่านสะพานที่ชุมชนภูบ่อบิด (ขณะนี้ก่อสร้างสะพานเพิ่มให้ยาวและกว้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำล้นน้ำท่วม) จากนั้นน้ำลายก็จะไหลลงสู่แม่น้ำเลย อันเป็นสายน้ำหลักของจังหวัดเลยที่ไหลผ่านพื้นที่เทศบาลเมืองเลย ก่อนจะไหลลงไปลงแม่น้ำโขงที่ ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย”

นายสุรชาติกล่าวอีกว่า อ่างเก็บน้ำน้ำลายมีประโยชน์มากหลายตำบล จะช่วยประโยชน์ทางการเกษตร แก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ใกล้กับตัวเมืองเลย ด้านการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น เสร็จเรียบร้อยเมื่อปี 2564 แล้วด้วย รวมทั้งค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลประทบ

ส่วนพื้นที่กลางน้ำ กรมชลประทานมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างฝายยางตามลำน้ำเลย ซึ่งจะทำหน้าที่ทดน้ำและเก็บกักน้ำตามลำน้ำไว้ให้ประชาชนสามารถนำน้ำไปใช้ได้ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งหมด 9 แห่ง ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ ฝายยางบ้านทรายขาว ฝายยางบ้านบุ่งกกตาล ฝายยางบ้านวังสะพุง ฝายยางบ้านท่าทิศเฮือง ฝายยางบ้านห้วยโตก และฝายยางบ้านติดต่อ

ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่ง ได้แก่ ฝายยางบ้านหนองคัน ฝายยางบ้านท่ามะนาว และฝายยางบ้านปากหมาก จะเร่งรัดเตรียมความพร้อมให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้โดยเร็ว

สำหรับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านไร่ทาม ต.นาอาน อ.เมืองเลย จ.เลย มีความเป็นมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงมีพระราชดำริกับอธิบดีกรมชลประทานและเจ้าหน้าที่ ให้พิจารณาวางโครงการชลประทาน ลุ่มน้ำเลย โดยพิจารณา เขื่อนเก็บกักน้ำน้ำลาย เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำน้ำเลยทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูร้อน และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี

ต่อมานายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 จ.เลย จึงได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติและเห็นชอบให้กรมชลประทานจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อดำเนินการพัฒนาต่อไป โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำลายเป็น 1 ใน 4 โครงการที่ได้รับความเห็นชอบ

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้าไว้ใช้ในการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเลย เพื่อบรรเทาความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ เป็นแหล่งน้ำดิบสนับสนุนการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเลย 4.00 ล้าน ลบ.ม. ค่าลงทุนของโครงการ มูลค่าการลงทุนของโครงการรวมทั้งสิ้น 1,835.10 ล้านบาท

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำน้ำลายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเมืองเลยแล้ว จะถูกเพิ่มให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ จ.เลย คาดว่าจะช่วยเสริมภาคการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ประชาชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้จากการท่องเที่ยวหลากหลาย อาทิ การทำเป็นแพริมน้ำ ร้านอาหาร หรือการเปิดบริการอื่น ๆ เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2-3 กิโลเมตร ติดกับอุทยานภูบ่อบิด ซึ่งเป็นจุดชมทะเลหมอก