เปิดตำนานผีตาโขน งานบุญประเพณีใหญ่จังหวัดเลย สุดสัปดาห์นี้

ผีตาโขน
ภาพจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

จังหวัดเลยโหมโรงจัดงาน “ผีตาโขน” สุดสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2566 พร้อมการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีใหญ่ของทุกปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “งานบุญหลวง” หรือ “งานบุญผะเหวด” โดยจะจัดขึ้นที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย

เปิดตำนานความเชื่อผีตาโขน

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุไว้ว่า ผีตาโขน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณ งานบุญนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “งานบุญหลวง” ที่ถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่นที่รวมเอางานบุญพระเวส (ฮีตเดือนสี่) และงานบุญบั้งไฟ (ฮีตเดือนหก) ให้เป็นงานบุญเดียวกัน โดยงานบุญพระเวสมีวัตถุประสงค์จัดเพื่อให้ฟังเทศน์มหาชาติ ส่วนงานบุญบั้งไฟนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อถวายบูชาเทวาอารักษ์รักษาเมือง ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล และมีผีตาโขนจะเป็นผู้ออกมาสร้างสีสันและความครื้นเครงในขบวนแห่

สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลยระบุไว้ว่า ประเพณีแห่ ผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า “งานบุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปี กับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย

กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตน และสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้ง 2 พระองค์กลับเมือง “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน

ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีชื่อเสียงและขึ้นชื่อของจังหวัดเลย โดยกระบวนแห่ผีตาโขนผู้คนจะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่เป็นเอกลักษณ์ มีลวดลายที่งดงามแตกต่างกันไป แสดงการละเล่นเต้นรำกันอย่างสนุกสนานในขบวนแห่ที่แห่ยาวไปตามท้องถนน ซึ่งชื่อของผีตาโขนนั้นเล่าต่อกันมาว่า น่าจะมาจากการสวมหน้ากากคล้ายหัวโขน หรือบางคนเรียกเป็นผีตาขน ผีตามคน และเพี้ยนเป็นผีตาโขนในที่สุด

หน้ากากผีตาโขน

ผีตาโขนที่มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน และมี 2 ประเภทคือ ผีตาโขนใหญ่ผู้ชายและผู้หญิง หน้ากากผีตาโขนที่มีส่วนประกอบดังนี้ 1.หัวของผีตาโขน ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียวมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก 2.หน้าทำจากโคนก้านมะพร้าวถากเป็นรูปหน้ากาก เย็บต่อกับส่วนหัว แล้วเจาะช่องตา 3.จมูกทำจากไม้เนื้ออ่อนแกะสลักเป็นรูปร่างต่าง ๆ คล้ายกับจมูกคน ปัจจุบันนิยมทำยาวเป็นงวงช้าง 4.เขาทำจากปลีมะพร้าวแห้งมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการแล้วติดที่ข้างหวด

5.การตกแต่งลวดลายเมื่อก่อนนิยมใช้สีธรรมชาติ เช่น ปูนขาว ปูนแดง ขี้เถ้า ขมิ้น เขม่าไฟ ปัจจุบันนิยมสีน้ำมันเพราะสะดวกและมีสีสันสดใส จากนั้นจะนำเศษผ้ามาเย็บต่อกับหวดและหน้ากากให้ผ้าคลุมมิดไหล่ สำเร็จเสร็จกลายเป็นหุ่นผีตาโขนในที่สุด

ชนิดของผีตาโขน

ผีตาโขนในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก

  • ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่าง
  • ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำ และเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน

งานประเพณีผีตาโขนปี 2566

สำหรับงานประเพณีผีตาโขนปี 2566 จะจัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีกิจกรรมอย่างครึกครื้น เช่น การละเล่นผีตาโขน เทศน์มหาชาติมีการทำบุญพระธาตุศรีสองรัก และงานบุญต่าง ๆ ผสมกัน โดยจัดงานกัน 3 วัน ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายนนี้

ภายในงานยังมีประกวดหน้ากากผีตาโขน ชิงถ้วยประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ในงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2566 พร้อมเงินรางวัลรวม 51,000 บาท และเกียรติบัตร ภายใต้แนวคิด “ผีตาโขน เทศกาลสีสันแห่งความสุข” Phi Ta Khon The Colorful Festival of Happiness โดยการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท

1.อัตลักษณ์งดงาม Beautiful Identity การส่งประกวดผลงานหน้ากากผีตาโขนที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
2.จิตวิญญาณสร้างสรรค์ Creative Spirit การแข่งขันประกวดวาด หรือตกแต่งหน้ากากผีตาโขน ภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมง

โดยผู้เข้าประกวดจะต้องนำหน้ากากผีตาโขนมาเอง (สามารถรองพื้นสีขาวได้เท่านั้น) การส่งประกวดทั้ง 2 ประเภทจัดในวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ บูทวัฒนธรรมหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. และรับรางวัลในพิธีเปิดงาน วันที่ 24 มิถุนายน 2566