“พงษ์ศักดิ์” นายกฯนครยะลา รุกเมืองนวัตกรรม-สร้างรายได้

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“เมืองยะลา” หนึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มักถูกมองว่ามีปัญหาเรื่องความไม่สงบจนส่งผลกระทบรอบด้าน

แต่ใครจะรู้บ้างว่าหากมองอีกนัยหนึ่งคือเมืองแห่งโอกาสที่พร้อมพัฒนาไปทุกด้าน โดยเทศบาลนครเมืองยะลา ตั้งเป้าวางแผนไว้ว่าจะพัฒนาคนและเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม และพร้อมจะนำเสนอเรื่องต่าง ๆ กับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

แผนพัฒนาสร้างรายได้ 10 ปี

“พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” นายกเทศมนตรีนครยะลา จังหวัดยะลา ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันรายได้ประชากรเทศบาลเมืองยะลาเฉลี่ยอยู่ที่ 105,000-110,000 บาท/คน/ปี ส่วนรายได้ประชากรกลุ่มยากจนประมาณ 1,000-2,000 บาท/คน/เดือน

ซึ่งเทศบาลนครยะลาถือเป็นหนึ่งหน่วยงานพัฒนาท้องถิ่น ได้เล็งเห็นถึงการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจว่าต้องมีเป้าหมายชัดเจน จึงจัดทำแผนพัฒนาเพื่อนำมาเป็นแนวทางการทำงาน ตั้งเป้าสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็น 200,000 บาท/คน/ปี ภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565-2575) และเริ่มดำเนินการจํานวน 4 แนวทาง ได้แก่

1.smart city innovation คือการสร้างเมืองนวัตกรรมเพื่อการยกระดับคุณภาพที่ดีขึ้น สอดรับการใช้ชีวิตในยุคใหม่ 2.sustainable environment city เมืองแห่งสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ศูนย์รวมของธุรกิจและนักจัดการสิ่งแวดล้อม

3.agriculture innovation city เมืองแห่งนวัตกรรมการเกษตร โดยใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมชีวภาพและวิศวกรรมในการจัดการเกษตร และ 4.wellness city เมืองแห่งนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ศูนย์กลางความรู้และบริการด้านสุขภาพ ที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง

นครยะลา

“ในเขตเทศบาลเมืองยะลา เรามีตัวเลขทั้งประชากรในพื้นที่และประชากรแฝงที่รวบรวมไว้ในช่วงเกิดโควิด-19 ประมาณ 1 แสนกว่าคน เรามองไปยังการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก พยายามสร้างคนจากเยาวชน ดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทีมทำงานด้วยกัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วส่งเสริมศักยภาพผู้คนสร้างโอกาสต่อยอดกันไปให้เมืองมีความยั่งยืนในระยะยาว”

สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการวางแผนพัฒนาเมืองเบื้องต้น 1.จะช่วยหลีกเลี่ยงสถานการณ์เมืองเสื่อมถอย ในอีก 10 ปีข้างหน้าหากปล่อยให้เมืองขยายตามแนวโน้มปัจจุบัน จะส่งผลให้รายได้ประชาชนลดลง เพราะต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ เศรษฐกิจคงเดิม มูลค่าเพิ่มจะตํ่า เมืองจะหนาแน่นขึ้น 2.ทุกฝ่ายจะได้เห็นภาพอนาคตไปในทิศทางเดียวกันและเห็นชอบร่วมกัน (shared vision)

3.ร่วมพัฒนาแบบสอดประสานกันตามแบบของตนเอง (concerted actions) และทุกคนทําพร้อมกันได้โดยไม่ต้องรอการเห็นชอบใหม่ทุกขั้นตอน สามารถใช้ศักยภาพของแต่ละฝ่ายอย่างเต็มที่ ตามบทบาทหน้าที่ เสริมแรงกันโดยไม่เกิดความซํ้าซ้อน

“พงษ์ศักดิ์” บอกว่า แผนพัฒนา 10 ปีนี้เพิ่งวางแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ตอนนี้ส่วนแรกที่เริ่มดำเนินการคือประชุมผู้บริหารทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ขณะเดียวกันเตรียมสิ่งที่เป็นโครงสร้างรองรับการพัฒนาคน เช่น ห้องปฏิบัติการสำหรับให้เด็กรุ่นใหม่เพื่อการเรียนรู้ TK Park พื้นที่บ่มเพาะคนสู่อนาคตที่กำลังจะสร้างแล้วเสร็จ และหากมีการกระจายอำนาจในทุกมิติ ดึงเครือข่ายท้องถิ่นมาร่วมมือกัน จะช่วยผลักดันแผน 10 ปีให้มีความเป็นไปได้สูง

นครยะลา

ร้องรัฐแก้เกษตร-สังคม

เมืองยะลาอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรดี โดยเฉพาะสวนทุเรียนที่สร้างมูลค่าได้สูง ทำให้กลุ่มเกษตรปลูกทุเรียนมีกำลังซื้อพอสมควร แม้ตอนนี้จะประสบปัญหาหนอนเจาะทุเรียนระบาดอยู่ก็ตาม ขณะเดียวกันกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางกลับน่าเป็นห่วง เนื่องจากราคายางพาราต่ำลง ทำให้เจ้าของสวนรายได้น้อยและเริ่มมีฐานะไม่ค่อยดี บางรายโค่นยางแล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน

แต่การเปลี่ยนผ่านต้องใช้เวลานานนับปี พอรายได้หดหายก็ต้องยอมขายที่ดินให้นายทุนเพื่อให้ได้เงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเวลาผ่านไปจากเคยเป็นเจ้าของสวนสุดท้ายก็กลับกลายมาเป็นแรงงาน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว ตลอดจนสังคมที่อยู่ด้วย

“ราคายางพาราส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องโรคใบยางร่วงที่ทำให้ปริมาณน้ำยางลดลงไปกว่า 80% ทั้งเจ้าของสวนทั้งคนกรีดยางแทบจะได้เงินไม่พอประทังชีวิต และส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ล้วนยากจนทั้งสิ้น

หากไม่มีกำลังทรัพย์มากพอก็ไม่สามารถเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนแทนได้ ซึ่งรัฐบาลคงต้องเข้ามาดูแลกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเทศบาลนครยะลาก็พร้อมที่นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนดูแลภาพรวมทั้งประเทศต่อไป”

ด้านสถานการณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “พงษ์ศักดิ์” บอกว่า ทั้งยะลา นราธิวาส และปัตตานี มีสถิติตัวเลขความไม่สงบดูดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องมีขบวนการพูดคุยกับประชาชน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อหาข้อสรุปนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน

“ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ หลังจากแถลงนโยบาย และด้วยการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง เข้าใจว่าคงต้องปรับจูนนโยบายต่าง ๆ ช่วงนี้คงอยู่ในช่วงการรับฟังปัญหาจากประชาชนและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในเรื่องโครงสร้างที่จะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนคงจะต้องใช้เวลา เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือการเร่งทำงานและทำงานอยู่บนความโปร่งใส แก้ปัญหาตามความต้องการของประชาชน”