นายกเทศมนตรีนครยะลา จี้รัฐบาลกระจายอำนาจ เพิ่มความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

นายกเทศมนตรีนครยะลา จี้รัฐเปิดทางแก้ปัญหาการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ระบุอุปสรรคการทำงาน 4 ข้อ ของเมืองยะลา ได้แก่ 1.อำนาจและหน้าที่ 2.การบริหารงานบุคคล 3.ระเบียบการเงิน การคลัง 4.ความอิสระ ชี้ระบบการทำงานล่าช้าล้าหลัง ถึงเวลาควรเปลี่ยนแปลง

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จังหวัดยะลา ได้กล่าวในงานสัมมนา “Talks For Thailand รัฐ ลวง ลึก” ของมติชน ในหัวข้อ “กระจายอำนาจ ทะลุมิติ” ว่าท้องถิ่นสามารถทำอะไรได้บ้างหากได้รับการกระจายอำนาจ และติดปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น คิดว่าหากเมื่อไหร่ก็ตามมีการกระจายอำนาจลงไปในท้องที่การทำงานจะทำได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด รวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือต้องประหยัดทรัพยากร โดยเฉพาะเวลาที่ยิ่งสูญเสียเวลาเนิ่นนานมากเท่าไหร่ ความเสียหายยิ่งมากขึ้น

“ถ้าท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง อย่างน้อยประชาชนก็จะมีบ้านเรือนหลักแสนขึ้นไป ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า จากการที่รัฐบาลกุมอำนาจอยู่เป็นจุดศูนย์กลางทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยาก ยกเคสกรณีจังหวัดยะลา เกิดโรคใบยางร่วงที่เกิดมา โรคในกล้วยหิน พืช GI ของยะลา ซึ่งเกิดมา 5 ปีจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ผลผลิตราคาตก เกษตรกรมีรายได้น้อย และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมา”

จะเห็นได้ว่าปัญหาของท้องถิ่นอาจจะไม่ได้ปัญหาของรัฐบาลกลาง ฉะนั้นหากจะให้ภาครัฐมาดูแลในส่วนนี้ รัฐอาจจะมีความรู้สึกว่าไม่มีเวลาเพียงพอ หรือไม่ต้องการส่งเสริม อย่างยางพาราที่โอเวอร์ซัพพลายไปแล้วรัฐบาลก็อาจจะอยากไปส่งเสริมการปลูกพืชอื่น เช่น ทุเรียน โดยลืมไปว่าการปรับเปลี่ยนปลูกพืชแต่ละชนิดต้องใช้เวลานานนับปี ระหว่างนั้นเกษตรกรรายย่อยก็ไม่มีกิน สุดท้ายต้องตัดใจขายที่ดินไปใช้แรงงาน กลายเป็นลูกจ้างและผู้มีรายได้น้อย แทนที่จะได้เป็นเจ้าของกิจการ

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า แต่ละท้องถิ่นล้วนมีจุดเด่นและต้นทุนมหาศาลและพรรคเพื่อไทยในอดีตเคยทำ OTOP ยกระดับชีวิตชาวบ้าน แต่ก็ยังไปไม่สุดเท่าที่ควร เมื่อพรรคก้าวไกลชูนโยบายสุราเสรีก็นับว่าเป็นการสนับสนุน OTOP และต่อยอดเพิ่มมาอย่างหนึ่ง หากแต่ละท้องถิ่นสามารถยกระดับสิ่งที่มีอยู่ขึ้นมา ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ได้ และทุกท้องถิ่นต้องแข่งกันโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

“ผมยกตัวอย่างจีนที่ไม่เคยหยุดนิ่งและแข่งขันกันสูงมาก มีการกระจายอำนาจลงไปในแต่ละพื้นที่ ลงเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นมากถึง 70% ส่วนรัฐบาลกลางเหลือเพียง 30% สุดท้ายประชาชนได้ผลประโยชน์ แตกต่างจากประเทศไทย ที่พรรคใดก็ตามที่กวาด สส.ในพื้นที่ได้มากที่สุดก็มีสิทธิได้โควตาตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่สามารถนำทรัพยากรจากส่วนกลางลงไปพัฒนาพื้นที่บ้านตัวเองได้มากกว่าพื้นที่อื่น”

“ในอนาคตอาจจะเกิดพรรคเชียงใหม่ พรรคโคราช สุดท้ายทุกคนก็เอาเข้าบ้านตัวเอง ยิ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เช่น การสร้าง EEC สุดท้ายก็แก้ปัญหากระจายรายได้ไม่ทั่วถึง พื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาและประชากรมีรายได้กระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด ส่วนจังหวัดที่เหลืออื่น ๆ ก็ยังยากจนเหมือนเดิม”

หากมีการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม จะเกิดการแข่งขัน ถ้าผู้บริหารที่เก่งก็จะพาพื้นที่ของตัวเองและบ้านเมืองเดินไปได้ หากไม่มีความสามารถพอก็แค่รอเวลาพ้นวาระและให้คนมีความสามารถขึ้นมาแทน เพราะประชาชนจะรู้ว่าต้องเลือกผู้นำแบบไหน ซึ่งจะทำให้เห็นการสร้างผู้นำที่มีความสามารถนำพาประเทศเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า มีวาทกรรมอย่างหนึ่งที่มักได้ยินอยู่ตลอดว่าคนไทยไม่พร้อม โดยเฉพาะท้องถิ่นจะถูกตั้งคำถามว่าประชาชนมีความพร้อมไหม ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นพิสูจน์อะไรได้เยอะมาก เพราะที่ผ่านมานายกท้องถิ่นคนเดิมมักสอบตกกว่า 70% ที่ผ่านเข้ามานั่งตำแหน่งเดิมได้มีแค่ 30% แม้จะมีเรื่องการร้องเรียนการทุจริต แต่ก็ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ต่างกัน ซึ่งประชาชนจะเลือกคนที่ทำให้ชีวิตเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เลือกอนาคตของลูกหลาน โดยไม่สนใจการลดแลกแจกแถม ฉะนั้นจึงต้องถามว่าส่วนกลางพร้อมจะกระจายอำนาจให้ประชาชนหรือยัง

อย่างไรก็ตาม ยกตัวอย่างเมืองยะลา มีข้อจำกัดและอุปสรรคของการกระจายอำนาจคือ 1.อำนาจและหน้าที่ ที่เทศบาลได้รับยังอยู่ในรูปเดิม 40-50 ปีที่ผ่านมา และยังไม่มีการแก้ไข 2.การบริหารงานบุคคล ต้องมีคนเก่งที่รู้จักพื้นที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง 3.ระเบียบการเงิน การคลัง อยากทำวอลเล็ตก็ไม่ได้ ระเบียบการเงินการคลังใช้มากว่า 40 ปีก็ไม่เคยแก้ไข และแก้ไขไม่ได้ มีความล่าช้า ย้อนยุค และ 4.ความอิสระ

“ความเข้มแข็งของทุกท้องถิ่นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ ไม่ต่างจากบริษัทใหญ่ที่มีบริษัทสาขาย่อย หากทุกสาขาทำกำไรได้ บริษัทแม่ก็มีกำไร แต่วันนี้บริษัทแม่กลับจะเจ๊งและจะพาบริษัทลูกล้มไปด้วย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ควรจะกระจายอำนาจแก้ไขปัญหา” นายกเทศมนตรีนครยะลากล่าว