เตาเศรษฐกิจชีวมวลเมืองพัทลุง ภูมิปัญญาลดค่าใช้จ่าย LPG

“เตาเศรษฐกิจชีวมวล” ขยายตัว หันมานิยมใช้ครัวเรือน สถานประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ลดการใช้ LPG ได้ กว่า70%

นายอรุณ อินทสะระ พลังงานจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้เร่งขับเคลื่อนการใช้เตาเศรษฐกิจเตาฟืนชีวมวล หรือเตาฟืน แบบร่วมใจอุตสาหกรรมขนาดย่อม ทั้งนี้เพื่อเป็นการใช้ฟืนทดแทนแก๊ส LPG

โดยเป็นเตาที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากเตาฟืนนาชุมเห็ด ที่พัฒนาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่งเป็นการผสมผสาน การจัดทำห้องเผาไหม้ และปล่องควันแบบเตามณฑล จ.นครศรีธรรมราช มีการพัฒนาช่องอุโมงค์ควัน เพื่อป้องกันปัญหาควันย้อนออก หรือช่องใส่ฟืน

ทั้งนี้มีการเลือกใช้วัสดุในการจัดทำเป็นปูนซีเมนต์แบบทนไฟ โดยเป็นเตาที่ถูกออกแบบให้เกิดการเผาไหม้ 2 ครั้ง การเผาไหม้ จะใช้หลักการของกระแสลมธรรมชาติ

ส่วนปล่องครัว จะถูกออกแบบให้สามารถดูดควันที่เกิดจากการเผาไหม้ให้ลอยตัวสูงขึ้น ภายในเตาเป็นสุญญากาศ ซึ่งอากาศภายนอกเตาจะไหลเข้ามาแทนที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง

สำหรับส่วนประกอบและโครงสร้างเตาร่วมใจ ประกอบด้วย ช่องใส่ฟืน และเขี่ยขี้เถ้า ด้านในเตา ปากเตา และปล่องควัน

การดำเนินงานเตาเศรษฐกิจ เตาฟืนชีวมวล หรือเตาฟืนแบบร่วมใจ ในปี 2560 ได้มีการส่งเสริมเทคโนโลยีเตาเผาให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งยาว ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง โดยกลุ่มดังกล่าวได้หันมาใช้ฟืนทดแทนแก๊ส LPG ใน กระบวนการผลิตจนสามารถลดค่าใช้จ่ายแก๊ส LPG ลงได้ร้อยละ 74.72 ทำให้สามารถนำเตาดังกล่าว ไปใช้ใน อุตสาหกรรมขนาดย่อม ในครัวเรือน เพิ่มมากขึ้นทั้งยังได้มีการขยายผลไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น จ.นราธิวาส จ.ปราจีนบุรี ฯลฯ.

สำนักงานพลังงานจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า วัตถุดิบที่นำมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง เช่น ไม้ฟืน เศษไม้ ปีกไม้ ทางมะพร้าว สิ่งที่เป็นวัสุดเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยได้ลดต้นทุนการผลิตไปได้เป็นจำนวนมาก

เตาเศรษฐกิจชีวมวล สามารถนำไปใช้กับกลุ่มงานต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ตอนนี้ที่ได้ดำเนินการใช้งานแล้ว มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต้มสุราพื้นบ้าน กลุ่มผลิตเครื่องแกง กลุ่มผลิตขนม กล้วยผลิตกล้วยฉาบ กลุ่มผลิตเพาะเห็ด ฯลฯ

“เตาเศรษฐกิจชีวมวล ลงทุนต้นทุนการผลิต เตาละ 25,000 บาท ขนาด 2 กะทะ และ ขนาด 20,000 บาท เป็นต้น”