กปภ.แก้น้ำขาด “3 เมืองอันดามัน” ดันปัดฝุ่นวางท่อเขื่อนเชี่ยวหลานไปภูเก็ต

กปภ.สาขาภูเก็ตดันโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภา สุราษฎร์ฯ ไปภูเก็ตรองรับการใช้น้ำ 3 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก “กระบี่-พังงา-ภูเก็ต”

นายสุกฤษฎิ์ กลิ่นสนธิ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความต้องการใช้น้ำในช่วงนี้ ของจังหวัดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 75,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 2,250,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน โดยภาคส่วนการท่องเที่ยว ใช้น้ำประมาณ 34% และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ 24% สำหรับภาคประชาชน 42%

แนวโน้มความต้องการน้ำในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 11% ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการใช้น้ำทั้งจังหวัดจะเพิ่มเป็น 83,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 2,505,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน

ขณะที่กำลังผลิตของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต สามารถผลิตได้ 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ให้ความมั่นใจว่าปี 2567 กปภ.ภูเก็ตมีน้ำให้บริการได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ และไม่ต้องนำน้ำทะเลมาใช้ในการผลิต

สำหรับแหล่งน้ำต้นทุนมี 3 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของโครงการชลประทาน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ปริมาณน้ำรวมประมาณ 21.6 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีแหล่งน้ำอื่น เช่น ช่วงฤดูฝนจะใช้น้ำคลอง น้ำท่า น้ำตกกะทู้ คลองบางใหญ่ คลองบ้านยา คลองเจ๊ะตา และคลองกระทะ มาผลิตน้ำประปา ส่วนน้ำของอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 อ่าง จะเก็บไว้ในช่วงฤดูแล้งช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม

สำหรับขุมเหมืองในภูเก็ต ทาง กปภ.สาขาภูเก็ตมีการติดต่อขอซื้อไว้ เช่น โซนสถานีผลิต บ้านบางโจ มีของ Blue Canyon ประมาณ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร สวนป่าบางขนุน 5 แสนลูกบาศก์เมตร พรุจำปา 250,000 ลูกบาศก์เมตร

เชิงทะเล ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร แพครูวิทย์อยู่ที่ประมาณ 700,000 ลูกบาศก์เมตร ขุมม่าหนิก ประมาณ 750,000 ลูกบาศก์เมตร รวมน้ำจากขุมเหมืองเอกชนที่ตกลงซื้อไว้ประมาณ 11,200,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ยังมีบางขุมน้ำไม่ได้ติดต่อซื้อน้ำไว้ เพราะตอนนี้ยังมีน้ำเพียงพอ

แก้น้ำขาด

นอกจากนี้ บริเวณอ่างเก็บน้ำบางวาด มีขุมเหมืองน้ำล็อคปาล์ม สามารถใช้น้ำได้อีก 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนซอยปลักเจ ต.กะรน ใช้น้ำจากฝายอยู่ที่ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และอ่างเก็บน้ำที่ซอยปฏัก 20 ประมาณ 125 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

ส่วนคลองบางจาก อยู่ที่ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ในส่วนของคลองกระทะ จะได้แหล่งน้ำ 9,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปกติจะใช้น้ำจากอ่างอยู่ที่ 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าดำเนินการตามนี้จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเพียงวันละ 6,000 ลูกบาศก์เมตร

นายสุกฤษฎิ์กล่าวว่าในส่วนแผนเร่งด่วน ได้ติดตั้งโมบายแพลนต์เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตน้ำเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น รองรับการให้บริการได้ต่อเนื่อง เป็นการรักษาและยกระดับอ่างเก็บน้ำของชลประทานทั้ง 3 อ่าง ส่วนระยะกลาง มีโครงการวางท่อแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ตำบลวิชิต ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ เพื่อนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำบางวาดไปเสิร์ฟให้ผู้ใช้น้ำในส่วนของอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ เพื่อลดโหลดการผลิต

ในส่วนนี้ใช้งบประมาณของการประปาส่วนภูมิภาค และจะมีโครงการสูบผลิตน้ำจากคลองกระทะในช่วงฤดูฝน งบประมาณ 25 ล้านบาท ตอนนี้แผนงาน 85% แล้ว คาดว่าประมาณสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 จะแล้วเสร็จ

“จะมีการวางท่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำ ของสถานีผลิตน้ำบางวาดไปเสิร์ฟให้ที่ป่าตอง งบประมาณ 94 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนของปี 2567”

สำหรับแผนระยะยาวมีโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค พังงา-ภูเก็ต ระยะที่ 1 คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ได้อนุมัติงบประมาณ 3,269.87 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2567-2569 จะเพิ่มอัตราการผลิตน้ำได้ 72,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รองรับผู้ใช้น้ำได้ประมาณ 20,000 ราย

แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย พังงา-ภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณ 1,404.100 ล้านบาท

ตามแผนจะก่อสร้างปี 2570-2572 จะเพิ่มอัตราการผลิตน้ำจาก 72,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

แผนงานที่ 3 ศึกษาความเป็นไปได้การวางโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ไปยังภูเก็ต ความยาวท่อ 185 กิโลเมตร เพื่อรองรับการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

สำหรับปัญหาอุปสรรคมีเรื่องการขาดงบประมาณในการจัดหาพื้นที่จัดเก็บน้ำดิบ เพราะว่าภูเก็ตมีปัญหาพื้นที่ขนาดใหญ่ค่อนข้างหายาก และราคาสูง จึงขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนผลักดันโครงการงบประมาณตามแผนงานโครงการที่กฟภ.ภูเก็ตนำเสนอทุกโครงการเพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้กับภาคประชาชน และธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้มีน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง