กปภ.ตั้งบริษัทลูกหารายได้เสริมลดรายจ่าย

กปภ.

เปิดแผนประปาภูมิภาค (กปภ.) เร่งหารายได้นอกเหนือค่าน้ำ หลังพบ 5 ปีที่ผ่านมา “กำไรลด-ต้นทุนเพิ่ม” เหตุรัฐบาลงดจ่ายเงินอุดหนุนขาดทุนค่าน้ำ PSO เตรียมแก้ พ.ร.บ.การประปาภูมิภาคปี 2522 เปิดทางตั้งบริษัทลูกหารายได้จากงานบริการซ่อมท่อประปา ป้ายโฆษณา พร้อมพัฒนาที่ดิน-แหล่งน้ำดิบสำรองทั่วประเทศ เร่งลดน้ำสูญเสียจากระบบลงให้เหลือ 20%

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้บริการด้านน้ำประปาแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาค 74 จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพฯ-นนทบุรี-สมุทรปราการ และระบบประปาของ อปท.) กำลังดำเนินการเพื่อหา “รายได้” ที่จะนำมาลงทุนในกิจการของ กปภ.นอกเหนือไปจากรายได้จากการจำหน่ายน้ำประปาจาก 234 สาขา 350 หน่วยบริการ จากข้อเท็จจริงที่ว่า กำไรของ กปภ.ในช่วง 5 ปีหลังเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จากต้นทุนการผลิตน้ำประปาที่เพิ่มขึ้น การลงทุนขยายระบบประปาและระบบผลิตน้ำ การส่งน้ำ ประกอบกับ กปภ.เองไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าน้ำประปามานานมากกว่า 10 ปีแล้ว

นายสุทัศน์ นุชปาน รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (แผนยุทธศาสตร์) กล่าวว่า ปัจจุบัน กปภ.แบ่งการให้บริการลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่อยู่อาศัยประมาณ 80% กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและหน่วยงานราชการประมาณ 10% และกลุ่มธุรกิจใหญ่ อาทิ ผู้ประกอบการโรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม อีก 10% โดย กปภ.ต้องลงทุนระบบผลิตน้ำที่ส่งน้ำประปาเชื่อมตามท่อทุกบ้านด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูงมาก ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดที่ต้องทำให้น้ำประปามีราคาถูกเพื่อประชาชน ส่งผลให้ต้องขายน้ำขาดทุนกว่า 80-85% และขออนุมัติ “เงินชดเชยค่าบริการทางสังคม (PSO)” จากรัฐบาลมาทดแทนการขายขาดทุนค่าน้ำ

“ปกติรัฐบาลจะจ่ายเงิน PSO ให้กับ กปภ.เฉลี่ยประมาณ 500 ล้านบาท/ปี โดยเงินจำนวนนี้คำนวณจากราคาต้นทุนการขายน้ำให้กับพื้นที่อยู่อาศัย แต่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้คำนวณกำไรเข้ากับธุรกิจและนำตัวเลขมาชดเชยกัน ส่งผลให้ กปภ.ไม่ได้รับเงินชดเชย PSO ในส่วนนี้ หรื เท่ากับเงินชดเชยหายไป 500 ล้านบาท และต้องรับภาระขาดทุนสะสม ทั้งยังไม่สามารถขึ้นราคาค่าน้ำได้

ดังนั้นในอนาคต กปภ.จะเริ่มมีปัญหาทางด้านการเงิน จากรายได้ค่าน้ำประปาอย่างเดียวเฉลี่ยอยู่ที่หลัก 10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนกำไรก็ลดลงมาเรื่อย ๆ โดยปีล่าสุดอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท แต่ต้องจัดส่งให้รัฐบาล 50% ที่เหลือส่วนหนึ่งจ่ายเป็นโบนัสให้กับพนักงาน กปภ. 8,900 คนทั่วประเทศ ในอัตราเท่ากันคือ 1 เดือน” นายสุทัศน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กปภ.ไม่มีการปรับขึ้นค่าน้ำมากว่า 10 ปีแล้ว จากการขายน้ำประปาแบ่งตามพื้นที่คือ พื้นที่ทั่วไปราคาค่าน้ำจะต่ำสุด, พื้นที่ซึ่งเอกชนร่วมลงทุน เช่น จังหวัดชลบุรี และพื้นที่เกาะ เช่น เกาะพะงัน เกาะสมุย ราคาค่าน้ำประปาจะแพงที่สุด ส่วนความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าน้ำประปานั้นจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และตอนนี้ได้จ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อดำเนินการด้านโครงสร้างราคาค่าน้ำ

หารายได้เพิ่มนอกเหนือจากค่าน้ำ

เมื่อสถานการณ์ของการประปาส่วนภูมิภาคเป็นเช่นนี้ นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ได้มีนโยบายให้ กปภ.พยายามหารายได้จากแหล่งอื่น “นอกเหนือจากค่าน้ำ” เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ และทำให้สถานะการเงินของ กปภ.มีเสถียรภาพและมีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ อาทิ บริการล้างถังเก็บน้ำ บริการรับซ่อมท่อประปา/หาท่อแตกรั่วภายในตัวอาคาร

“เราเตรียมตั้งบริษัทลูก ให้บริการงานซ่อมท่อในบ้านแบบมาตรฐาน เพราะประชาชนมีความต้องการเป็นจำนวนมาก แต่ต้องดูว่าติดข้อกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 ระบุไว้ว่า ต้องเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประปาภูมิภาคควบคู่กันไป อะไรทำได้ทำไม่ได้ เช่น การรับจ้างติดป้ายโฆษณาที่ศูนย์ประปา การพัฒนาแหล่งน้ำสำรองและที่ดิน จะนำมาทำร้านค้าต่าง ๆ โดยที่ดินส่วนหนึ่งเป็นของกรมธนารักษ์ ก็ต้องประสานงาน นอกจากนี้ กปภ.อาจจะมีการขายน้ำดิบด้วยในอนาคต” นายสุทัศน์กล่าว

ทั้งนี้ กปภ.มีการตั้งเป้ารายได้จากค่าน้ำ 100% ระยะแรกจะต้องเพิ่มรายได้ทางอื่นนอกเหนือจากค่าน้ำประปา ให้ได้สัก 20% ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ กปภ.ต้องดำเนินการ ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.การประปาส่วนภูมิภาคที่ให้ดำเนินการควบคู่กันไปนั้น อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในสมัยรัฐบาลหน้า

ตั้งเป้าลดสูญเสียน้ำเหลือ 25%

นอกเหนือไปจากการหา “รายได้” เพิ่มแล้ว การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “น้ำสูญเสีย” เนื่องจาก กปภ.มีท่อประปารวมกว่า 500,000 กิโลเมตร วางอยู่ทั่วประเทศ โดยท่อประปาจำนวนนี้จะแบ่งออกเป็น zone ด้วยการวัดระยะ 500-1,000 กิโลเมตร

ดังนั้นเมื่อเกิดการรั่วซึมของน้ำ วิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็คือ การปิดน้ำเป็นช่วง ๆ ช่วงละประมาณ 1 กิโลเมตร ในแต่ละ zone เพื่อตรวจสอบว่า น้ำรั่วซึมออกมาจากบริเวณไหน แม้ระบบตรวจวัดจะดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังด้อยกว่าประเทศที่มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับ เช่น ญี่ปุ่น หากรัฐบาลยังให้ กปภ.ขายน้ำในราคาขาดทุนก็จะไม่มีเงินบำรุงรักษาระบบเดิมและลงทุนพัฒนาระบบตรวจสอบการสูญเสียน้ำให้ดีขึ้นได้

ปัจจุบันการสูญเสียน้ำของ กปภ.อยู่ที่ 30% ต่อปี อาจจะมีลดลงไปบ้างในบางปี 1-2% แต่ในปีนี้ (2566) กปภ.ตั้งเป้าไว้ว่า จะลดน้ำสูญเสียลงให้เหลือ 25% ตามมาตรฐานระบบจ่ายหรือลดลงให้ได้ 5% ขณะเดียวกันทางกระทรวงการคลังก็ได้ตั้งเป้าอยากให้ลดการสูญเสียน้ำลงเหลือ 20% ซึ่งเป็นไปได้ยาก

“เราต้องดูว่าต้นทุนอัตราการจ่ายน้ำของเราเป็นเท่าไหร่ 30% คิดเป็นเงินมากน้อยแค่ไหน เมื่อได้งบประมาณมา เราจะพิจารณาปรับปรุงจังหวัดที่เกิดการรั่วซึมก่อนเป็นอันดับแรก และที่ผ่านมา กปภ.สามารถลดการสูญเสียน้ำลงได้ 2-3% ในโซนท่อใหญ่ที่ระดับน้ำสูญเสียขึ้นสูง แต่ยิ่งลดลงได้เท่าไหร่ก็ยิ่งหาจุดที่เหลือยาก และต้องใช้งบประมาณติดเซ็นเซอร์เพิ่ม นอกจากนั้นยังต้องมอนิเตอร์ในระบบตลอด เพื่อหาจุดที่มีการจ่ายน้ำมากกว่าปกติในบางวันว่า เกิดจากสาเหตุอะไร โดยน้ำสูญเสียอาจไม่ได้มาจากการแตกหรือรั่วซึมของท่อเพียงอย่างเดียว แต่มีกรณีขโมยใช้น้ำด้วย” นายสุทัศน์กล่าว

จากสถานการณ์ทั้งหมดส่งผลให้ กปภ.จัดทำแผนที่จะลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ด้วยการ 1) ขอรับเงินค่าชดเชยบริการทางสังคม หรือเงิน PSO กลับคืนมา 2) การหารายได้อื่นนอกเหนือจากค่าน้ำประปา และ 3) การขอขึ้นค่าน้ำ พร้อมทั้งรณรงค์เรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด ยิ่งใช้ยิ่งราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคต้องใช้น้ำประปาตามความจำเป็น

ลงทุนน้ำ EEC อีก 6,500 ล้านบาท

ด้านโครงการลงทุนปัจจุบันในปี 2566 กปภ.มีแผนโครงการลงทุน 31 โครงการ งบประมาณ 17,654 ล้านบาท กับแผนโครงการลงทุนในอนาคต 51 โครงการ งบประมาณ 32,293 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบกิจการประปาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 7 โครงการ งบประมาณ 357 ล้านบาท งบประมาณรวม 32,650 ล้านบาท โดยเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ เงินรายได้ของ กปภ. เงินกู้พันธบัตร และเงินอุดหนุนที่ขอจากภาครัฐ แม้หลายโครงการจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ก็คือ ภารกิจที่ต้องบริการประชาชน

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า ในจำนวนโครงการลงทุน 31 โครงการในปีนี้ มีโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต-ศักยภาพระบบประปาให้สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต มูลค่ากว่า 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว อาทิ 1) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา อ.นิคมพัฒนา อ.ปลวกแดง จ.ระยอง อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี (ระยะที่ 1) ส่วนที่ 2 วงเงิน 636,760,779 ล้านบาท, ระยะที่ 2 วงเงิน 913,831,775 บาท, ระยะที่ 1 ส่วนที่ 3 วงเงิน 541,962,616 บาท

2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาชลบุรี-พนัสนิคม-(พานทอง)-(ท่าบุญมี) ระยะที่ 1 อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี วงเงิน 2,868,224,299 บาท 3) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาบ้านฉาง อ.บ้านฉาง-เมืองระยอง-นิคมพัฒนา-ปลวกแดง จ.ระยอง วงเงิน 1,500,000,000 บาท