เมล็ดกาแฟไทยราคาพุ่งเท่าตัว ผลผลิตน้อย-ชาวสวนแห่ปลูกทุเรียนแทน

กาแฟ

เมล็ดกาแฟไทยแพงสุดในรอบ 40 ปี แบบคั่วกิโลฯละ 550 บาท พันธุ์โรบัสต้า-อราบิก้าพุ่งไม่หยุด ขึ้นเกือบเท่าตัว สาเหตุนักท่องเที่ยวทะลัก ผู้บริโภคนิยมดื่ม ชาวสวนไทย-เวียดนาม-สปป.ลาวแห่โค่นต้นกาแฟหันไปปลูกทุเรียนแทน บอร์ดพืชกาแฟเปิดทางรายใหญ่นำเข้าตั้งแต่ต้นฤดู คาดปี’67 ไทยนำเข้าถึง 60,000 ตันต่อปี

นายนัด ดวงใส กรรมการพืชกาแฟ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 1-2 ปีนี้ราคาเมล็ดกาแฟได้ปรับตัวสูงขึ้น ปีที่แล้วกาแฟสารอยู่ที่ 80-82 บาท/กก. แต่ ณ วันที่ 1 ก.พ. 2567 ราคาอยู่ที่ 132 บาท และมีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นอีกต่อเนื่อง ส่วนราคาค้าปลีกเมล็ดที่คั่วเสร็จแล้วจะปรับขึ้นเป็น 200-300 บาท/กก. ซึ่งสูงเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 40 ปี

“คาดการณ์ว่าผลผลิตกาแฟโรบัสต้าทางใต้ไม่น่าจะถึง 10,000 ตัน จากเดิมอยู่ที่ 20,000-30,000 ตัน ไม่รวมพันธุ์อราบิก้า เพราะภาคใต้ปลูกน้อย ปัจจัยที่กาแฟมีปริมาณน้อยลงทุกปีเพราะชาวสวนหันไปลูกทุเรียนและมีภัยธรรมชาติ ทำให้การนำเข้าปีนี้คงไม่ต่ำกว่า 60,000 ตัน เท่าที่ทราบข้อมูลมีเพียงบริษัทเดียวจะนำเข้า 35,000 ตัน ซึ่งยังไม่รวมรายอื่น ๆ ก่อนเกิดโควิด-19 การบริโภคกาแฟทั่วประเทศอยู่ที่ 90,000 ตัน/ปี และลดลงตามสถานการณ์ หลังสถานการณ์ผ่อนคลายการบริโภคกลับมาสูงปกติ” นายนัดกล่าวและว่า

แต่ก่อนการเก็บเกี่ยวของภาคใต้ต้องรอสิ้นฤดูกาลในเดือนมีนาคม ถึงจะขออนุญาตนำเข้าได้ในเดือนเมษายน แต่ปี 2567 สามารถนำเข้าได้แล้วตลอดปีตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นไป

นายจีระวัฒน์ ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกณรงค์ หมากไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคากาแฟไทยสูงขึ้นจริง 130-132 บาท/กก. จากเดิมอยู่ที่ 80 กว่าบาท/กก. และค่อย ๆ ขยับมาเป็น 105 บาท/กก.ในปี 2566 คาดว่าปีนี้ราคาจะแตะที่ 150 บาท/กก.

ปัจจัยเพราะดีมานด์ซัพพลายกาแฟไม่พอต่อการบริโภค เนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟปริมาณน้อยมาก ในขณะที่ผู้บริโภคขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นและปัจจุบันกลายเป็นอาหารหลักของผู้บริโภค ไม่ต่ำกว่า 2 แก้วต่อวัน พร้อมกับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ทะลักเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะดีมานด์ซัพพลาย ผลกระทบต่อราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นในที่สุด

ปัจจัยสำคัญที่กาแฟปริมาณน้อยลงในภาคใต้ เนื่องจากมีการโค่นกาแฟหันมาปลูกทุเรียนแทน รวมถึงใน สปป.ลาว ประเทศเวีดยนาม ก็โค่นกาแฟและส่งเสริมการปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นายจีระวัฒน์กล่าวว่า ปีนี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำเอ็มโอยูกับบริษัท เอกณรงค์ หมากไทย จำกัด มีโครงการส่งเสริมปลูกยางร่วมพืชอื่น โดยเอกณรงค์ส่งเสริมปลูกกาแฟร่วมยาง จำนวน 1.2 ล้านต้น ร่วมกับชาวสวนยางในภาคใต้จะเริ่มเดือนกรกฎาคมนี้ อีก 3 ปีจะให้ผลผลิตระยะแรก

นายพงษ์วรา จันที กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูลส์ คอฟฟี่ จำกัด โลคอลแบรนด์ในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์กาแฟอราบิก้าราคาสูงขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำคือบนดอยที่เป็นแหล่งปลูก พบว่าผลผลิตกาแฟเชอรี่เมื่อ 10 ปีก่อน ราคาอยู่ที่ 20 บาทก็เพิ่มเป็น 40 บาทแล้ว/กก. ซึ่งเป็นต้นทุนเพิ่มทั้งค่าแรงเก็บเกี่ยว และสภาพอากาศที่แปรปรวนมีผลต่อการผลิตที่ลดลง

ที่กระทบมากคือกลุ่มโรงคั่วเมล็ดกาแฟที่ต้องรับซื้อเมล็ดกาแฟสาร (เมล็ดกาแฟดิบพร้อมคั่ว) ในราคาที่สูง และต้องปรับราคาขายเมล็ดกาแฟคั่วจาก 400 บาท เป็น 420 บาท/กก. สุดท้ายกระทบถึงปลายน้ำ คือ ร้านกาแฟ ต้องซื้อเมล็ดกาแฟคั่วในราคาที่สูงมาก

ทำให้ปี 2566 พบว่ามีร้านกาแฟรายย่อยในเชียงใหม่ต้องปิดกิจการถึง 30% เพราะแบกรับต้นทุนวัตถุดิบไม่ไหว อาทิ นม ครีมเทียม แก้วกาแฟ หลอด ฯลฯ แต่ไม่สามารถปรับราคาขายกาแฟได้ ในขณะที่กำลังซื้อลดลง อีกทั้งผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นจากร้านแบรนด์ใหญ่ที่ปัจจุบันแข่งขันรุนแรง

“ตอนนี้มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจาก 3 แหล่ง คือ บราซิล สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งถูกกว่าและมีคุณภาพดี แนวโน้มคงนำเข้ามากขึ้น ขณะที่ร้านแบรนด์ใหญ่และรายกลางที่สามารถซื้อได้ คงซื้อเมล็ดกาแฟในประเทศที่ปลูกแบบ Single Origin”

นายนิกร แสงดวงดี เจ้าของร้านกาแฟดีนาน แบรนด์ท้องถิ่นเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาเมล็ดกาแฟยังไม่นิ่ง ผลกาแฟเชอรี่อยู่ที่ 30 บาท/กก. กาแฟกะลาอยู่ที่ 200 บาท/กก. ขณะที่กาแฟสารเฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/กก. และเมล็ดกาแฟคั่วราคากว่า 400 บาท/กก.

“เราจำเป็นต้องซื้อเมล็ดกาแฟคั่วจากโรงคั่วกิโลกรัมละ 400 กว่าบาท ทำให้ต้องปรับราคาขายไปที่ 550 บาท/กก. เพราะทางร้านไม่ได้ใช้เมล็ดนำเข้า แม้จะถูกกว่า ยังคงใช้ผลผลิตที่ปลูกในเชียงใหม่ เพื่อคงเอกลักษณ์ของรสชาติกาแฟท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดขายหลัก”