รัฐรับอานิสงส์สินค้าเกษตร “ข้าว-มัน-ยาง” ราคาพุ่งติดจรวด

สินค้าเกษตร

รัฐบาลเศรษฐารับ “อานิสงส์” สินค้าเกษตรตลาดโลก ทั้งดีมานด์-ราคาปรับขึ้นทุกรายการ ส่งผลราคาข้าวเปลือกหอมมะลิขยับใกล้ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า-ข้าวเหนียวราคาเพิ่ม 12-32% ราคายางพาราเดือนเดียวพุ่งขึ้นกว่า 20 บาท ทะลุ 73 บาท/กก. ส่วนราคาผลปาล์มปลายฤดูยืนราคาเหนือ 7 บาท/กก. เหตุสต๊อกในประเทศลดฮวบ ชาวไร่มันอีสานมีเฮ ราคาหัวมันสดเฉียด กก.ละ 4 บาท

การฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรและความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ส่งผลให้รัฐบาลเศรษฐารับอานิสงส์จนแทบจะต้อง “พับเก็บ” นโยบายการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร เมื่อไล่เรียงดูราคาสินค้าเกษตรสำคัญแต่ละรายการพบว่า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ต่างก็มีราคาปรับขึ้นทุกรายการ

ข้าวทุบสถิติ รอบ 5 ปี ราคาส่งออกพุ่ง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2566 ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน หรือสูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมาและยังเป็นการส่งออกข้าวที่ “เกินกว่า” เป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา หากคิดราคาส่งออกเฉลี่ยของข้าวไทยจะปรับขึ้นจากตันละ 515 เหรียญ เป็น 587 เหรียญ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เหรียญต่อตัน

“กรมร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 จะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน จากข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของ กรมการค้าต่างประเทศ เดือนมกราคม 2567 มีปริมาณส่งออก 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน โดยปัจจัยสำคัญที่สามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูง การชะลอส่งออกข่าวของอินเดียและปัญหาโลกร้อน ขณะที่ผลผลิตข้าวของไทยที่คาดว่า จะลดลงจากปีก่อน 5.87% นั้นเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ” นายรณรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสัญญาณว่า อินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากร และอาจส่งออกข้าวได้ในอนาคต ส่วนประเทศอินเดียอาจจะประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาวหลังการเลือกตั้งกลางปี ดังนั้น ไทยจึงต้องเตรียมแผนรับมือด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกข้าว เพื่อส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย ตามนโยบาย “รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ” เริ่มด้วยการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ “Thailand Rice Convention (TRC) 2024” ในเดือนพฤษภาคม 2567 จะเปิดให้มีการเจรจาธุรกิจระหว่างกัน

การส่งออกข้าวที่เติบโตมากขึ้นได้ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกขาวหอมมะลิปัจจุบันอยู่ที่ราคา 14,850 บาทต่อตัน เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 9% (13,640 บาทต่อตัน) ซึ่งเป็นระดับราคาที่ใกล้เคียงกับราคาประกันที่ตันละ 15,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 14,600 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีราคาอยู่ที่ 12,924 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 14,450 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 10,804 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเจ้าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12,950 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 9,781 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,300 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 11,837 บาทต่อตัน

ราคายางพุ่งติดจรวด

ด้านสถานการณ์ยางแผ่นรมควันในประเทศปรากฏ วันนี้ (2 ก.พ.) ราคายางแผ่นรมควันชั้น 1 ประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา อยู่ที่ 72.69 บาท/กก. หรือราคา “ลดลง” จากวันก่อน (1 ก.พ.) ที่ราคา 73.39 บาท/กก. หรือลดลง 7 สตางต์ ขณะที่ราคาน้ำยางสด ณ โรงงาน อยู่ที่ 66.20 บาท/กก. หรือ “เพิ่มขึ้น” จากวันก่อน (1 ก.พ.) ที่ราคา 66 บาท หรือเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ ส่วนราคาส่งออก FOB วันนี้อยู่ที่ 78.19 เหรียญ หรือ “ลดลง” จากวันก่อนที่ราคา 78.89 เหรียญ

แม้ภาพรวมราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 จะมีราคาประมูล “ลดลง” เป็นวันแรกก็ตาม แต่ก็ยังสามารถรักษาระดับราคายางที่ทะลุ 70 บาท/กก.มาได้ 1 สัปดาห์ และหากติดตามราคายางแผ่นตั้งแต่ต้นปี 2567 พบว่า ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ได้วิ่งขึ้นมาจากระดับราคาที่ 57.30 บาท (2 มกราคม) มาเป็น 72 บาท/กก. หรือปรับขึ้นมาด้วยเวลาอันรวดเร็วถึง 14 บาท/กก.ทีเดียว

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) กล่าวถึงโอกาสที่ราคายางพาราของไทยจะทะลุขึ้นไปถึง 3 หลักนั้น “มีความเป็นไปได้ เพียงแต่ไทยจะต้องแก้ปัญหาเรื่องยางพาราเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศให้ได้ก่อน” สถานการณ์ยางจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทะลักเข้ามาช่องทาง สังขละบุรี ประมาณ 100,000 กว่าตัน และทางระนองอีกประมาณแสนกว่าตัน มีทั้งยางแผ่นรมควันทุกแบบ ด้วยแรงจูงใจจากราคายางทางฝั่งเพื่อนบ้าน “ถูกกว่าไทย” ประมาณครึ่งต่อครึ่ง หรือจาก 30 กว่าบาท มาขาย 70 บาท/กก.

ดังนั้นรถที่จอดขึ้นยางที่ด่านสังขละบุรี สามารถกำไรต่อเที่ยวไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท วันหนึ่งมีรถขึ้นมาขนยางกว่า 30 เที่ยว

“ผมมีแนวคิดว่า ต้องมีมาตรการไม่ให้นำผ่านยางพารา หรือถ้านำผ่านก็ต้องมีการเก็บค่าใช้จ่าย กก.ละ 2 บาท เช่นเดียวกับที่เกษตรกรชาวสวนไทยที่ต้องจ่ายเงิน กองทุนสงเคราะห์ชาวสวนยาง (CESS) เพื่อลดความได้เปรียบกรณีที่ยางเพื่อนบ้านขนส่งผ่านแดนจากข้ามประเทศไทยไปยังมาเลเซีย” ดร.เพิกกล่าว

ส่วนภารกิจของการยางแห่งประเทศไทย ที่จะเร่งกระตุ้นความต้องการใช้ยาง ประกอบไปด้วย 1) การสร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกัน 500 ตลาด ทุกท้องถิ่นทั่วไทย รองรับ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) 2) บริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง 3) เร่งออกโฉนดไม้ยางทุกพื้นที่ทั่วไทย 4) สร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์การยางเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร 5) ผลิตยางล้อแบรนด์การยาง Thai Type 6) สนับสนุนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของสถาบันเกษตรกร เน้นการทำตลาดแบบจริงจัง และ 7) ติดอาวุธทางความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรทุกระดับชั้น

ล่าสุด กยท.เตรียมที่จะเสนอให้รัฐบาลให้สนันสนุนผู้ประกอบการยางด้วย ซอฟต์โลน ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินเบื้องต้น 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้เกิดการดูดซับผลผลิตยางออกสู่ตลาดในลำดับถัดไป

ราคายางเข้าใกล้ 80 บาท

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนล่าง ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ภาคใต้ กล่าวว่า ยางทางภาคใต้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ทั้งฝนตกน้ำท่วม ยางเกิดโรคใบร่วงและกำลังเข้าฤดูกาลยางผลัดใบ จึงส่งผลไม่ได้กรีดยางกันอย่างเต็มที่ บวกกับปริมาณน้ำยางสดปริมาณผลผลิตน้อยมาก ส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยาง น้ำยางสด น้ำข้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต หลายแห่งส่อเค้าจะปิดตัวลงชั่วคราว และอีกส่วนหนึ่งต้องเร่งหาซื้อยางเข้าสู่โรงงาน ส่งผลให้ราคาน้ำยางปรับตัวขึ้น “และยังมีการชี้นำราคาด้วย”

ดังนั้น ทิศทางยางในปี 2567 ราคามีแนวโน้ม “จะดีอยู่ในระยะหนึ่งและอาจจะปรับตัวขึ้นอีก” จากปัจจัย 1) ยางขาดแคลน 2) โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ขาดแคลน 3) ยางมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวเติบโตของกลุ่มรถยนต์ EV และ 4) ราคายางในตลาดฟิวเจอร์มาร์เก็ต จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นตัวแปรที่สำคัญด้วย

ด้านนายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปรรูปยาง ประธานกลุ่มวิสาหกิจคนกรีดยางรายย่อยถ้ำพรรณรา กล่าวว่า ภาวะยางไทยมีแนวโน้มราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตลอดปี 2567 และมีแนวโน้มราคายางแผ่นรมควันจะไต่ขึ้นไป 80 บาท/กก. และน้ำยางสดจะไต่ขึ้นไปที่ 70 บาท/กก. โดยราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 66 บาท/กก. เทียบกับช่วงต้นเดือนมกราคม มีราคาอยู่ที่ 55 บาท/กก. หรือขึ้นมาถึง 10 บาท/กก. ส่วนปัจจัยที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นต่อไปนั้น ประกอบไปด้วย 1) การบริหารจัดการนโยบายยางของรัฐบาล ที่มีมาตรการเข้มข้นการตรวจสอบและจับกุมยางเถื่อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

2) ภาวะแล้งและยางเกิดโรคระบาดใบร่วงไปทั่วภาคใต้ 3) มีการโค่นยางพาราหันไปปลูกปาล์มน้ำมันและทุเรียน และ 5) ภาคใต้ตอนล่างโซนอ่าวไทยเกิดฝนตกต่อเนื่อง ไม่สามารกรีดยางได้เต็มที่ ส่งผลให้น้ำยางสดได้หายไปจากตลาดถึง 60-70%

ดังนั้นกลุ่มค้ายางเมื่อถึงเวลาส่งมอบยางให้กับกลุ่มผู้ซื้อต่างประเทศ แต่ผิดความคาดหมายคือ ยางไม่เหลือสต๊อก เพราะยางเกิดการขาดแคลนจากหลายปัจจัยข้างต้นจนไม่มียางที่จะส่งมอบตามสัญญา จึงต้องมีการหายางและเร่งซื้อจนเกิดการแข่งขันกันซื้อยางกันขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้ราคายาง รัฐบาลปัจจุบันต่างกับรัฐบาลก่อนมากกว่า 20 บาท/กก. “ราคายางอนาคตปี 2568 รัฐบาลจะต้องตรึงราคาไว้ให้ได้ โดยออกมาตรการ 1 ถึง 2 โครงการเพื่อตรึงและกระตุ้นราคายาง โดยดึงยางออกจากระบบตลาด”

ทางด้านนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) มีความเห็นสอดคล้องกับ นายจรงค์ เกื้อคลัง เจ้าของสวนยางพาราและสวนเกษตรพอเพียง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านหนองปด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ที่ว่า ตอนนี้ในภาคใต้หลายพื้นที่จังหวัด สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป ฝนตกมากกว่าแล้ง บางพื้นที่เรียกว่า ฝน 8 แล้ง 4 จากฝน 4 แล้ง 8 จนไม่สามารถกรีดยางได้เต็มที่ แม้ยางราคาดีแต่ว่าไม่ได้กรีดเพราะฝนตก

ส่วนนายสมพงศ์ ราชสุวรรณ เจ้าของสวนยาง-ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา และสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผลผลิตยางขณะนี้ขาดหายไปประมาณ 2/3 โดยจากน้ำยางสด 100 กก. จะเหลือประมาณ 30 กก. และจะเป็นยางแห้งเหลือประมาณกว่า 10 กก. ปัจจัยที่ยางเกิดการขาดแคลนก็คือ ยางประสบกับโรคใบร่วง-ฝนตก และขณะนี้เข้าสู่ฤดูกาลยางผลัดใบ

ตะวันออกหยุดกรีด

แหล่งข่าวเกษตรกรสวนยางพารารายใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า มีแนวโน้มราคายางจะพุ่งขึ้นไปอีก ตอนนี้เก็บสต๊อกไว้ก่อนระยะเวลาสั้น ๆ จากปกติขายน้ำยางสดให้กับโรงงาน จ.ระยอง รับซื้อไปทำยางแผ่นรมควัน โดยสะสมไว้ให้จำนวนมากพอจึงจะขนส่งไปขาย

“ปัจจุบันราคายางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ขึ้นไป กก.ละ 72-73 บาท เป็นราคาที่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง กก.ละ 10 บาท ซึ่งมีผลต่อราคายางทุกชนิดขึ้นเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งยางก้อนถ้วย น้ำยางพาราดิบ ซึ่งราคาน้ำยางดิบที่มีเนื้อยาง 60% จะเพิ่มจาก กก.ละ 40-50 บาท เป็น 66 บาท เป็นราคาที่สูง คาดว่าราคายางน่าจะสูงขึ้น เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมเป็นฤดูที่ยางผลัดใบและแตกใบอ่อนต้องหยุดพักต้น ซึ่งปีนี้มาเร็วตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เกษตรกรจะหยุดกรีดรอให้ผลิใบใหม่ หรือถ้ากรีดยางในช่วงนี้ปริมาณจะลดลงกว่า 50%”

ทางด้านนายจักรพงษ์ วังบอน เกษตรกรชาวสวนยางขนาดเล็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นช่วงที่ยางพาราผลัดใบและเริ่มแตกใบอ่อน ส่วนใหญ่เกษตรกรจะหยุดกรีด หรือกรีดวันเว้นวัน หรือ “2 วันหยุด 1 วัน” ให้ต้นได้พัก ต้องบำรุงต้น บำรุงใบ น้ำยางจะลดลงประมาณ 50-60% ปกติจะขายเป็นยางก้อนถ้วย ได้ราคาเพิ่มขึ้นจาก 20-25 บาท เป็น 30 บาท/กก. แม้ราคาจะสูงขึ้นแต่ปริมาณลดลงมาก และไม่แน่ใจว่าราคาทรงตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง

นายเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์ ประธานกลุ่มสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด กล่าวว่า ขณะที่ปริมาณยางพาราในไทยและทั่วโลกมีปัญหาผลผลิตลดลงและโรงงานอุตสาหกรรมต้องการวัตถุดิบต่างกัน เช่น ยางก้อนถ้วย น้ำยางสด น้ำยางข้น ขี้ยาง และยางแผ่น ดังนั้นสหกรณ์จะรับจ้างผลิตน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควัน โดยหักค่าบริการ กก.ละ 4.50 บาท เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายยางแผ่นรมควันตามราคาตลาด ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าชนิดอื่นที่ขึ้นไปถึง กก.ละ 73 บาท

“โรงงงานอุตสาหกรรมมีสต๊อกยางอยู่จะมีผลบ้างในช่วงที่ราคาสูงขึ้น เพราะตามปกติการซื้อ-ขายจะทำล่วงหน้า 6 เดือน ตอนทำสัญญาอาจจะราคาอยู่ที่ 50 บาท เมื่อครบกำหนดส่งมอบ ราคาซื้อ-ขายวันนี้สูงถึง 70-71 บาท ต้นทุนจะสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการ จะซื้อตุนไว้เพื่อกันราคาจะสูงขึ้นไปอีก หรืออาจไม่ซื้อหากคิดว่าราคาจะลงอีก” นายเกรียงไกรกล่าว

ปาล์มปลายฤดูราคาพุ่ง 7 บาท/กก.

ขณะที่สถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เปิดราคามาตั้งแต่ต้นปีปรับขึ้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ 6.50 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 5.03 บาท/กก. และเคยสูงสุดถึง 7.20-7.30 บาท/กก.นั้น นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาปาล์มปัจจุบันราคาอยู่ที่ 6.80 บาทต่อกิโลกรัม ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งราคาสูงสุดอยู่ที่ 7.20 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากราคาปาล์มน้ำมันของมาเลเซียลดลง 200 ริงกิต/ตัน จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 4,500 ริงกิต/ตัน และมีโอกาสจะลดลงถึง 3,000 ริงกิต/ตันด้วย

มาเลเซียถือว่าเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน และมีการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดเฉลี่ยอยู่ 30-32 บาท/กก.

“หากราคาปาล์มน้ำมันของมาเลเซียมีแนวโน้มลดลงอีกก็จะเป็นแรงกดดันให้สถานการณ์ราคาปาล์มในตลาดโลกปรับลดลง รวมถึงราคาปาล์มน้ำมันของไทยด้วย ประกอบกับตอนนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศเริ่มทยอยออกสู่ตลาด เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1-1.2 ล้านตันปาล์มทะลาย และจะออกมากสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน เฉลี่ยประมาณ 1.8-2.0 ล้านตัน”

ด้านสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศขณะนี้คงเหลือประมาณ 200,000 ตัน หรือ “ต่ำกว่า” ปริมาณ Safety Stock ที่กำหนดไว้ 250,000 ตัน/เดือน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการผลักดันให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มก่อนหน้านี้ ทำให้ไทยได้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2565-2566 โดยในปีนี้สามารถส่งออกได้มากกว่า 900,000 ตัน จากเดิมที่ไทยเคยส่งออกน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 200,000-300,000 ตันเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันปาล์มดิบอ่อนตัว หลังจากประเทศอินโดนีเซียยกเลิกมาตรการแบนส่งออก ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกลดลง

ขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศก็ยังคงต้องติดตามมาตรการอุดหนุนผลิตไบโอดีเซล ซึ่งอุดหนุนอยู่ประมาณ 4-5 บาทต่อลิตร หากยกเลิกการอุดหนุนจะมีผลกระทบต่อการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลลดลง จากปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตพลังงานอยู่ที่ 78,000 ตัน และที่สำคัญก็คือ ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 110,000 ตัน

หากคำนวณเฉพาะสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือก็เท่ากับว่า สถานการณ์น้ำมันปาล์มช่วงนี้อยู่ในภาวะ “ตึงตัวพอสมควร” ส่งผลต่อสถานการณ์การจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ซึ่งล่าสุดปรากฏว่า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ปิดป้ายจำกัดจำนวนการขายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดต่อครัวเรือน ไม่เกินครัวเรือนละ 6 ขวดแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องรอติดตามสถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันฤดูกาลใหม่ ปี 2567/2568 ที่เพิ่งเริ่มทยอยออกสู่ตลาด เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1-1.2 ล้านตันปาล์มทลาย และจะออกมากสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน เฉลี่ยประมาณ 1.8-2.0 ล้านตัน

มัน-ข้าวโพดก็ปรับขึ้นด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาหัวมันสดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.65 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 3.10 บาท/กก. ซึ่งถือว่าราคาหัวมันสดปีนี้สูงมาก โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังเข้ามาแย่งซื้อหัวมันเพื่อนำไปผลิตแป้ง จากราคาแป้งในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ส่งออกมันเส้นขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากไม่สามารถสู้ราคาหัวมันกับโรงแป้งได้ โดยสถานการณ์ขาดแคลนหัวมันสดทำมันเส้น ก่อให้เกิดการลักลอบนำเข้ามันเส้นคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านชายแดนเข้ามาอย่างคึกคัก

ส่วนราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9.43 บาท/กก. หรือลดลง 26% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 12.69 บาทต่อ/กก.