“เชียงราย” ติวเข้มพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร-อาหารสู้การค้าโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยในการเปิดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตรเชิงนวัตกรรมปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย โดยมีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบธุรกิจอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน เข้าร่วม ณ โรงแรมเวียงอินทร์ ริเวอร์ไซต์ รีสอร์ท จ.เชียงราย ว่า ในปัจจุบันพืชภาคเหนือมีพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตดีหลายอย่างโดยเฉพาะที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องและที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยที่เป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่องคือ “ข้าว”

ซึ่งพบว่าภาคเหนือมีข้าวกึ่งข้าวเหนียวคุณภาพดีมาก หากทำบรรจุภัณฑ์ดีและรักษาคุณภาพ มีแนวโน้มไปในตลาดดีแน่นอน ส่วนเรื่องชาและกาแฟนั้นถือว่าเอกลักษณ์เฉพาะเพราะชาให้คุณภาพดีเมื่อสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 500 เมตรขึ้นไป และกาแฟตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไป ทำให้เชียงรายมีพืชเศรษฐกิจออกสู่ตลาดได้อย่างมีคุณภาพและมีความเป็นเอกลักษณ์

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาให้มากคือการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ชวนให้ซื้อ ซึ่งโครงการนี้สามารถช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ดี และสิ่งสำคัญอีกประการคือ การเป็นอาหารปลอดภัยที่ทาง จ.เชียงราย สนับสนุนมาโดยตลอด เนื่องจากในปัจจุบันสู้สินค้าอุตสหากรรมขนาดใหญ่ไม่ได้ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลาง เช่น ผ้า ฯลฯ ก็ต้องสู้กับประเทศใหมๆ เช่น บังกลาเทศ กัมพูชาหรือในแอฟริกา ฯลฯ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไม่ได้ แต่สิ่งที่ประเทศไทยมีแต่ประเทศอื่นไม่มีคือ “อาหาร สมุนไพร และการบริการ” ซึ่งคนไทยสามารถทำได้ดีมาก มีเกษตรกรกว่า 60% แต่มีมูลค่าจากผลผลิตเพียงแค่ 20-30% ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อนำเอกลักษณ์เฉพาะนี้ไปสู่การพัฒนาเพื่อสู้ในตลาดโลกต่อไป

นางกฤษนันท์ ทะวิชัย อุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่าโครงการมีวัตถประสงค์เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้สามารถขยายโอกาสด้านตลาดได้อย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับหรือทัดเทียมกับนานาประเทศ นอกจากนี้ยังเพื่อสร้างเครือข่ายในภาคเหนือตอนบน 2 คือเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ให้มีความเข้มแข็งอีกด้วย

โดยกิจกรรมในโครงการจะมี 6 กิจกรรม คือกิจกรรมสร้างเครือข่ายให้กลุ่มเป้าหมายจังหวัดละ 20 คนรวมทั้งหมด 100 ราย กิจกรรมอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดทำตราสินค้าเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ ข้าว ชา และกาแฟ ให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และการสร้างศักยภาพด้านการตลาดหลังกิจกรรมจะมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาใหม่ให้มีศักยภาพไม่ต่ำกว่า 40 ผลิตภัณฑ์

นางกฤษนันท์ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ยังมีกิจกรรมศึกษาดูงาน กิจกรรมแข่งขันในหัวข้อ “IdeaProducts” กิจกรรมจัดแสดงสินค้า และกิจกรรมพบปะระหว่างสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการ โครงการเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.นี้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน สำหรับกิจกรรมที่โรงแรมฯ ครั้งนี้เป็นการกิจกรรมอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12-15 มิ.ย.โดยมีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ภาครัฐและภาคเอกชน ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วย