ทอท.เดินหน้าผุดสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ทุ่ม 6 หมื่นล.ปักหมุดบ้านธิ-สันกำแพง 4 พันไร่

ทอท.เร่งเดินหน้าโครงการสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 เผยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลงทุนเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและครม.เพื่อพิจารณา ชี้ เชียงใหม่เป็นหนึ่งในสามพื้นที่ๆมีความจำเป็นต้องมีท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นและจำนวนผู้โดยสารที่จะมากกว่า 20 ล้านคนต่อปี ปักหมุดพื้นที่การก่อสร้างแน่นอนแล้วที่บ้านธิ-สันกำแพง 4 พันไร่ คาดใช้งบลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท

นางลัชชิดา อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 มีความคืบหน้าในหลายระดับ ซึ่งหลังจากบอร์ท ทอท.อนุมัติให้ฝ่ายบริหารเร่งจัดทำแผนการพัฒนา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำแผนการลงทุนและแผนการพัฒนาโครงการก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาในการจัดแผนดังกล่าวราว 3-6 เดือน เพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอรับความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่เป็น 1 ใน 3 พื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการสร้างสนามบินแห่งใหม่ โดยสำนักงานการบินพลเรือนได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษา พบว่า 3 พื้นที่หลัก คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต มีปริมาณจราจรทางอากาศค่อนข้างหนาแน่น และมีการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามแผนแม่บทของการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 2 จะรองรับผู้โดยสารได้เต็มศักยภาพ 20 ล้านคนในปี 2568 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ใหม่รองรับ

สำหรับพื้นที่ในการศึกษาการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 เบื้องต้นได้มีการศึกษา 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.แม่ริม สันกำแพง สันป่าตอง ดอยหล่อ และบ้านธิ (ลำพูน) ปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม คือ พื้นที่ต้องมีความกว้าง และมีทิศทางลมที่เหมาะสมในการขึ้นลงของอากาศยาน ไม่มีความขัดแย้งกับชุมชน รวมถึงมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าบางพื้นที่มีชุมชน บางอำเภอพื้นที่ไม่เพียงพอ และบางพื้นที่ไม่มีถนนผ่าน โดยข้อสรุปที่ชัดเจนจากการศึกษาทั้ง 5 พื้นที่ ได้คัดเลือกพื้นที่รอยต่ออำเภอบ้านธิ (ลำพูน) และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดจุดพื้นที่ว่าจะอยู่บริเวณใด โดยจะต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่อีกครั้ง

นางลัชชิดากล่าวว่า ช่วงเวลาของการจัดทำแผนการลงทุนและแผนการก่อสร้าง ซึ่งจะใช้เวลาราว 3-6 เดือน คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในปีนี้ แต่จะอยู่ในกรอบปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ แต่ขั้นตอนที่กระทรวงฯพิจารณาจนถึงนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาได้ แต่หาก ครม.มีมติเห็นชอบออกมาแล้ว ก็จะไปสู่ขั้นตอนกระบวนการที่ดิน ซึ่งจะมี 2 รูปแบบ คือ ซื้อที่ดิน หรือเวนคืนที่ดิน และขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และ HIA โดยเมื่อผ่านทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยพื้นที่ในการก่อสร้างจะต้องเตรียมรองรับ 2 รันเวย์ เตรียมพื้นที่เผื่อไว้สำหรับสร้างได้ 2 รันเวย์ คาดว่าจะใช้ที่ดินราว 4,000 ไร่ ส่วนงบประมาณในก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 60,000 ล้านบาท (ไม่รวมงบซื้อที่ดิน) ซึ่งเงินลงทุนจะเป็นในส่วนของ ทอท.ที่ลงทุนเอง