3 สหกรณ์โคบาลบูรพาลุยเปิดตลาดโคเนื้อครบวงจร

ครบวงจร - การทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่การเลี้ยงจนแปรรูปเป็นอาหารจะทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ดังนั้น สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อโคบาลบูรพาจึงจับมือกับสหกรณ์เครือข่ายฯ จ.นครปฐม และสุรสิงห์ฟาร์ม จ.ระยอง เพื่อทำแผนโคเนื้อแบบครบวงจร

3 เครือข่ายสหกรณ์โคบาลบูรพาทำ MOU สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อนครปฐมและสุรสิงห์ฟาร์มจังหวัดระยอง เปิดตลาดโคเนื้อครบวงจร เผยยอดเกษตรกรเข้าร่วมโครงการโคบาลบูรพาเฟสแรกแล้ว 6.1 พันราย รวมโคเนื้อกว่า 3 หมื่นตัว ได้ลูกโคผสมเทียม 570 ตัวเตรียมขยายผลโคบาลบูรพาเฟส 2

นายพิษณุ คล้ายเจตน์ดี สหกรณ์จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากความต้องการของประชากรในประเทศ นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และความต้องการของตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การผลิตโคเนื้อนั้นต้องใช้เงินทุนต่อฟาร์มสูงและระยะเวลาคืนทุนใช้เวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อการผลิตโคเนื้อระยะยาวของประเทศ ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสหกรณ์ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมสานพลังประชารัฐ ตลาดนำการผลิต โคบาลบูรพาจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับสหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาอรัญประเทศ จำกัด, สหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาวัฒนานคร จำกัด, สหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาโคกสูง จำกัด มีสมาชิกรวม 6,000 ราย และสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อจังหวัดนครปฐมและสุรสิงห์ฟาร์มจังหวัดระยอง เพื่อทำแผนธุรกิจโคเนื้อ โครงการโคบาลบูรพา ส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบครบวงจร

“จังหวัดสระแก้วมีทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่เหมาะสม เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาให้จังหวัดสระแก้วเป็นเมืองแห่งปศุสัตว์โคบาลบูรพา ที่สำคัญคือมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อครบวงจรได้เป็นอย่างดี”

นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจด้านแผนธุรกิจโคเนื้อ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบครบวงจร นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อตามโครงการโคบาลบูรพา ตลอดจนก่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้กำหนดแนวทางในการจัดระบบการตลาดและการพัฒนาการผลิตโคเนื้อได้อย่างถูกต้องตรงกับความต้องการของตลาดและอาชีพให้มั่นคงยั่งยืน

นายชัยยุทธ เหลืองบุศราคัม ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินโครงการโคบาลบูรพาจังหวัดสระแก้ว ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 3 อำเภอของจังหวัดสระแก้ว ประกอบด้วยอำเภออรัญประเทศ อำเภอวัฒนานครและอำเภอโคกสูง รวมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6,100 ราย จำนวนโคเนื้อทั้งหมด 30,000 ตัว และแพะเนื้อจำนวน 3,200 ตัว เพื่อฟื้นฟูอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสมหันมาเลี้ยงปศุสัตว์แทน ซึ่งได้ผลตอบแทนที่ดีและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรตลอดจนเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคเนื้อครบวงจรในพื้นที่ภาคตะวันออก

ตลอดระยะเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านมา การขับเคลื่อนโครงการโคบาลบูรพาถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เป็นการเริ่มต้นการปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมหันมาทำอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์แทน ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้ง 3 อำเภอมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากผลการดำเนินโครงการโคบาลบูรพาที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลผลิตในด้านปริมาณพันธุ์สัตว์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะนี้มีลูกโคเกิดใหม่จากการบริการผสมเทียมแล้ว จำนวน 570 ตัว แบ่งเป็นลูกโคเพศผู้ 357 ตัว และลูกโคเพศเมีย 213 ตัว ซึ่งผลผลิตนี้จะขยายผลไปยังโครงการ ในระยะที่ 2 ซึ่งรอรับลูกโคจากเกษตรกรในระยะที่ 1 โดยหากดำเนินโครงการโคบาลบูรพาได้ครบถ้วนตามเป้าหมายแล้วจะสามารถต่อยอดขยายผลไปในพื้นที่อื่น ๆ โดยมีการเตรียมแผนและความพร้อมรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการลงบันทึกความร่วมมือ MOU สานพลังประชารัฐ ตลาดนำการผลิต โคบาลบูรพาจังหวัดสระแก้ว โดยมีสหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาอรัญประเทศ จำกัด สหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาวัฒนานคร จำกัด สหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาโคกสูง จำกัด สมาชิกรวม 6,000 ราย ร่วมกับสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อจังหวัดนครปฐมและสุรสิงห์ฟาร์มจังหวัดระยอง จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อตามโครงการโคบาลบูรพา ตลอดจนก่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้กำหนดแนวทางในการจัดระบบการตลาดและการพัฒนาการผลิตโคเนื้อได้อย่างถูกต้องตรงกับความต้องการของตลาดและอาชีพให้มั่นคงยั่งยืน