ตลาดกลางมหานครผลไม้เมืองจันท์วุ่น ชาวสวน “ทุเรียน-มังคุด” เสียงแตกหวั่นไม่คุ้มทุน

มีมติ - คณะรัฐมนตรีสัญจรมีมติอนุมัติโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก และให้ดำเนินการศึกษา "โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร ศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้จังหวัดจันทบุรี" ในวงเงิน 10 ล้านบาทก่อนสรุปผลนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาอนุมัติดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

วงการส่งออกล้งชาวสวนทุเรียน-มังคุดภาคตะวันออกเสียงแตก ทั้งค้านและหนุน “โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร ศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้จังหวัดจันทบุรี” นายกสมาคมส่งออกทุเรียน มังคุด ค้านความต้องการที่เกิดเมื่อ 6 ปี วันนี้การทำตลาดเปลี่ยนไปแล้ว จี้รัฐบาลเกาให้ถูกที่คัน เสียดายภาษีเฉียด 1 พันล้านหวั่นกลายเป็นอนุสรณ์สถาน ด้านหอการค้าจันทบุรีหนุนสร้าง

หลังจากคณะรัฐมนตรีสัญจร จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 มีมติอนุมัติในหลักการโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก และให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน และนำประเทศไทยไปสู่การเป็นมหานครผลไม้ของโลกนั้น ทางกรมการค้าภายในได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยศรีปทุมเข้ามาดำเนินการศึกษา “โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร ศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้จังหวัดจันทบุรี” International Fruit Market วงเงิน 10 ล้านบาท

และได้จัดประชาพิจารณ์ไป 2 ครั้ง ก่อนสรุปผลนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาอนุมัติดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยกำหนดที่ตั้งบริเวณพื้นที่สาธารณะบ้านน้ำใส อ.นายายอาม จ.จันทบุรี อยู่ห่างจากถนนสุขุมวิท (หมายเลข 3) ประมาณ 500 เมตร เป็นที่สาธารณะขนาด 780 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อ อ.แกลง จ.ระยอง-อ.นายายอาม จ.จันทบุรี อยู่ห่างจากตัว จ.จันทบุรี 30 กิโลเมตร และ จ.ตราด 100 กิโลเมตร

ผู้ส่งออกจี้รัฐเกาให้ถูกที่คัน

นายภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดที่จะให้สร้างตลาดกลางสินค้าเกษตรฯนี้เป็นปัญหาความต้องการย้อนกลับไปตั้งแต่ 6-7 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ถึงวันนี้คิดว่าโครงการนี้มีปัญหาหลายประเด็นที่ไม่น่าประสบความสำเร็จ เพราะปัจจุบันในจังหวัดจันทบุรีมีตลาดกลางดำเนินอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การทำตลาดของบริษัทผู้ส่งออกเปลี่ยนแปลงไป มีการเจาะตลาดเข้าไปในจีนทุกมณฑล จากเดิมแค่มณฑลกว่างโจว รวมถึงโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ส่วนใหญ่มีโรงงานที่ผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ขณะที่เกษตรกรชาวสวนเองขายอยู่หน้าสวนซื้อ-ขายสะดวกกว่าไม่ต้องขนส่งผลผลิตมาที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรที่จะสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งอยู่ไกลและไม่สะดวก

“ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในปัจจุบันและอนาคตคือเรื่องภัยแล้งมากกว่า เพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมหาศาล งบประมาณจากภาษีประชาชนใช้แก้ไขภัยแล้งน่าจะคุ้มค่ามากกว่า สร้างแล้วเกรงจะเป็นอนุสรณ์สถาน นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนหาตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย ที่มีประชากรอันดับ 3 ของโลกแทนที่จะมีแต่ตลาดจีน” นายกสมาคมกล่าว

ตราดชี้ตลาดทุเรียนโตจีนต้องการ

ทางด้านนายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่มั่นใจว่าการทำตลาดกลางที่ได้มาตรฐานจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะการทำตลาดเป็นเรื่องยาก ยิ่งเป็นตลาดมาตรฐานด้วยแล้ว นอกจากนี้ สถานที่ก่อสร้างตลาดกลางแห่งใหม่ถ้าเดินทางไปจาก จ.ตราดถือว่าอยู่ไกลเมื่อเทียบกับตลาดกลางที่มีอยู่แล้ว จริง ๆ แล้วตลาดทุเรียนเกิดขึ้นได้ทุกวันนี้มีกระแสความต้องการทุเรียนของจีนปริมาณสูงไม่ใช่การส่งเสริมการตลาด ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่แน่ใจว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไร

ถ้าให้ตรงจุดภาครัฐควรส่งเสริมตลาดคุณภาพมาตรฐานทุเรียน 2 ปัจจัยหลัก คือ พื้นฐานจากเกษตรกร เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) การสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง และสนับสนุนระบบสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการให้เข้มแข็ง เช่น การลงทุน การให้เงินกู้ โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ กฎ ระเบียบที่ทำให้ไม่คล่องตัว ล้าสมัยต้องปรับเปลี่ยน

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการส่งออก กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดจันทบุรีมีตลาดกลางอยู่แล้ว โรงคัดบรรจุมีสถานที่ประกอบการอยู่แล้ว คาดว่าไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการในตลาดกลางแห่งใหม่ที่ฝ่ายการเมือง ภาคเอกชนบางองค์กร และหน่วยราชการพยายามผลักดันแน่นอน

ปัญหาสำคัญหากมีตลาดกลางแห่งใหม่เกิดขึ้น คือเรื่องการบริหารจัดการ ภาคเอกชนยังไม่ทราบความชัดเจน เรื่องการลงทุน การกำหนดอัตราค่าเช่าพื้นที่ ระยะเวลาการทำสัญญาเช่า รายละเอียดโครงการ เมื่อไม่มีผู้ลงทุน ผู้บริหารจัดการทนรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ทางด้านเกษตรกรจันทบุรีรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตการจัดทำโครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรฯแห่งใหม่นี้ค่อนข้างรวดเร็ว การประชุมรับฟังความคิดเห็นทำในวงจำกัด ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่ทราบและไม่ได้เข้าร่วมประชุมทำประชาพิจารณ์ด้วย ทำให้ไม่มีความชัดเจนของโครงการ เป็นการรู้ข้อมูลแบบจินตนาการโดยไม่ทราบว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะปัญหาล้งจีนเกิดปัญหามากเมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบันสร้างกันเองและไม่มีปัญหาเรื่องกดราคา

ข้อดี เห็นว่าสามารถดึงตลาดใหม่ ๆ เข้ามา และการบริหารโดยภาคเอกชนน่าจะดีกว่าภาครัฐ แต่ต้องเน้นความโปร่งใส กำหนดสัดส่วนผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐและเอกชนให้ชัดเจน เปิดเผย สรุปได้ว่าบางคนคิดว่าสร้างไว้ก่อนดีกว่าไม่สร้าง และเห็นว่าที่ตั้งโครงการอยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดระยอง-จันทบุรีค่อนข้างไกล พื้นที่ใกล้เคียงที่สาธารณประโยชน์ใช้สร้างตลาดกลางเป็นที่ดินของนักการเมืองท้องถิ่น

แหล่งข่าวจากจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร ศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้จังหวัดจันทบุรี ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ศึกษารูปแบบการจัดตั้งตลาด วิธีบริหารจัดการ การวิเคราะห์ความคุ้มค่า การใช้พื้นที่และออกแบบเบื้องต้นเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ ครม.อนุมัติงบประมาณ 800-900 ล้านบาท เมื่อได้รับอนุมัติจะใช้เวลาดำเนินการสร้างเฟสแรกภายใน 1 ปี ส่วนเฟส 2 จะใช้เวลา 3-4 ปี

“International Fruit Market ลักษณะคอมเพล็กซ์ตลาดครบวงจรเฟสแรกสถานที่เน้นความสะดวกสบาย จำหน่ายสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม มีห้องเย็น จำหน่ายผลไม้แช่เย็นที่ทานได้ตลอดปี โชว์รูมสินค้าต่าง ๆ ผลไม้แปรรูป พื้นที่ให้นักธุรกิจเจรจาจับคู่ทางการค้า เป็น food complex โชว์เคสของดี เช่น ทุเรียนนอกฤดู มีรับประทานได้ตลอดปี กลุ่มผู้สนใจน่าจะเป็น SMEs YSF หรือบริษัทประชารัฐ ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร จุดรวมสินค้าเพื่อจำหน่าย เน้นคุณภาพมาตรฐาน GAP GMP พัฒนาการเกษตรควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว มีแลนด์มาร์กจุดเช็กอิน การบริหารให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ เฟส 2 ใช้เวลา 3-4 ปี โครงการนี้หอการค้าไทยภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด มองเป็นโอกาสที่จะพัฒนาตลาดไปด้วยกัน” แหล่งข่าวกล่าว

 

หอฯจันท์หนุนสร้างตลาดมาตรฐาน

ทางด้านนายอุดม วรัญญูรัฐ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดจันทบุรี และประธานคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร จะทำให้จันทบุรี ตราด ระยองมีตลาดกลางที่ได้มาตรฐาน สามารถรองรับผลผลิตจำนวนมาก จากที่มีอยู่ในจันทบุรี 3 แห่งซึ่งค่อนข้างแออัด คือ วัดศรีเมือง หนองสีงา เนินสูง และเป็นพื้นที่เจรจาทำการค้ากับชายแดน ตลาดจีนรวมทั้งตลาดต่างประเทศ หากตลาดเป็นที่นิยม โรงคัดบรรจุ (ล้ง) อาจจะนำผลผลิตจากภาคใต้ที่มีปัญหาเรื่องแรงงานมาแปรรูป แพ็กกิ้งได้หรือล้งใหม่สามารถเช่าพื้นที่จัดทำได้อย่างมีมาตรฐาน ทั้งนี้ รูปแบบการบริหารจัดการโดยเอกชน คาดหวังว่าจะเป็นมืออาชีพทำได้ดีกว่าภาครัฐ ทุเรียนทำรายได้อย่างมหาศาล ล่าสุดในการประชุมร่วมกับพี่น้องเกษตรกรจันทบุรีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เกษตรกรมีความต้องการตลาดกลางจึงได้ยื่นหนังสือถึงนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อนำเสนอในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและอดีตประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ามติคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดจันทบุรีเห็นด้วยกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ผลักดันโครงการ “International Fruit Market หรือตลาดกลางสินค้าเกษตร ศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้จังหวัดจันทบุรี” เพื่อเป็นตลาดกลางเกษตรครบวงจร ศูนย์จำหน่ายสินค้า เป้าหมายอนาคตจันทบุรีเป็นประตูสู่ตลาดโลก เป็นผู้นำการค้าโลกและอาเซียน ตลาดกลางแห่งนี้คัดสินค้าคุณภาพ แหล่งเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมเลือกซื้อสินค้า เป็นศูนย์กลางเมืองผลไม้ของไทยไม่ใช่เฉพาะภาคตะวันออก

อนึ่ง โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร ศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้จังหวัดจันทบุรี มีการทำประชาพิจารณ์ผ่านความเห็นชอบในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีผ่านไป 2 ครั้ง คือ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี (จัดเป็น 3 รุ่น) และที่ อบต.วังโตนด 1 ครั้ง พื้นที่อยู่บ้านน้ำใส ต.วังโตนด อ.นายายอาม จ.จันทบุรี