แล้งทำข้าวสูญ 50% โรงสีแย่งซื้อราคาพุ่ง

นาใต้แล้ง - หลายเดือนที่ผ่านมาภาคใต้หลายจังหวัดประสบภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังได้รับความเสียหายผลผลิตลดลงไป 50%

ภัยแล้งทำโรงสีข้าวภาคใต้ผลผลิตหาย 50% แย่งกันซื้อข้าวเปลือก ทำราคาพุ่งจาก 7,700 บาทต่อตัน ขึ้นไป 8,100 บาทต่อตัน

แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมโรงสีข้าวไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่นาข้าวหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน ส่งผลกระทบให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยเบื้องต้นคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกจะหายไปประมาณ 40-50% จากปกติการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และ จ.พัทลุง จะได้ผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน ส่วนผลผลิตข้าวในนาที่เหลืออยู่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการมากน้อยเพียงใด

“ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในพื้นที่ขยับขึ้นสูงมาก โดยข้าวเปลือกความชื้น 15% ตอนนี้ราคาประมาณ 7,800-8,200 บาท/ตัน หากเปรียบเทียบกับราคาข้าวสาร ถือว่าข้าวเปลือกราคาสูงมาก และในปีหน้าประมาณว่าจะต้องนำเข้าข้าวจากภาคกลาง เข้ามาบริโภคเพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

นายลิขิต เลขาพันธ์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผยว่า ในฤดูกาลทำนาปรัง ปี 2562 สำหรับข้าวทางภาคใต้ เบื้องต้นคาดว่าปริมาณข้าวจะหายไปประมาณ 40% จะเหลือประมาณ 100,000-120,000 ตัน จากภาวะปกติจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 200,000 ตัน โดยขณะนี้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวกันแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2562 ขณะเดียวกันยังมีการปลูกข้าวเพิ่มเติม เพราะเริ่มมีฝนตกประปราย แต่ปริมาณข้าวที่ปลูกเพิ่มเติมคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของการบริโภคในพื้นที่ ซึ่งปกติทุกปีจะมีการนำข้าวจากภาคกลางเข้ามาบริโภค โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ

นายลิขิตกล่าวอีกว่า สำหรับราคาข้าวในฤดูกาลนี้ ราคาประมาณ 8,000-8,100 บาท/ตัน ปรับขึ้นจากเดิมราคาเคลื่อนไหวประมาณ 7,700-7,800 บาท/ตัน ราคาขยับเล็กน้อย แต่ไม่ก้าวกระโดด เพราะจากปัจจัยที่ข้าวสารในประเทศเวียดนาม ราคาถูกกว่าข้าวสารไทยประมาณ 300-1,000 บาท/ตัน ปัจจัยสำคัญ ประเทศเวียดนามมีต้นทุนการผลิตโดยรวมต่ำกว่าไทย และเป็นรัฐบาลสังคมนิยม ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต ราคา และสั่งทำตลาดตามที่ต้องการได้

“ตอนนี้วงการธุรกิจค้าข้าวมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะในส่วนของโรงสีข้าว เพราะจะต้องรับซื้อข้าวมาป้อนเข้าโรงสี เนื่องจากกลุ่มผู้ค้าข้าวต่างมีการขยายปริมาณมากขึ้น และแข่งขันกันมากเช่นกัน แต่เวลามีปัญหาต่าง ๆ คนที่ตกเป็นจำเลยกลับเป็นธุรกิจโรงสีข้าวตลอด” นายลิขิตกล่าวและว่า

ตอนนี้ภาคใต้ เกษตรกรชาวนาจะดีกว่าเกษตรกรตัวอื่น ๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และยังได้รับการประกันราคาจากรัฐบาล หากราคา 8,000 บาท จะได้รับการใส่เงินจากรัฐบาล 2,000 บาท เท่ากับชาวนาจะได้ราคาข้าว 10,000 บาท/ตัน และนโยบายนี้รัฐบาลใส่เงินถึงมือชาวนาโดยตรง จะเห็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจในหมู่บ้านได้เงินจะไหลหมุนเวียนเข้าระบบทันที

นายสมศักดิ์ พานิชย์ เจ้าของนาข้าวและโรงสีทิพย์พานิช และประธานชมรมโรงสีข้าวระโนด อ.ระโนด จ.สงขลา พื้นที่ปลูกข้าวรายใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า สำหรับการทำนาปรัง ปี 2562 จ.สงขลาได้พ้นวิกฤตจากภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน เพราะฝนเริ่มตกลงมาบ้างแล้ว ทำให้น้ำทะเลสาบเข้าสู่ภาวะปกติ ความเค็มขึ้นระดับ 1.20 สามารถทำนาได้ แต่จากสภาพความเค็มที่ประสบภัยแล้งยาวที่ผ่านมา ทำให้ได้ผลผลิตข้าวประมาณ 70% เท่านั้น อีก 30% หายไป ภาพรวมการปลูกข้าวเจ้าประมาณ 70,000 ไร่

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจสำรวจร้านค้าขายข้าวสารในพื้นที่จังหวัดพัทลุงพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาข้าวสารมีการปรับตัวสูงขึ้นจากราคาประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมาราคาค่อย ๆ ขยับขึ้นไปประมาณ 23-25-27 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคานี้ปรับตัวมาแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะตามร้านค้าปลีกตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในชุมชน