“สมคิด” นำทีมรัฐมนตรี​ พปชร. ปลุกเศรษฐกิจ​ฐานราก​ “นครศรีฯ-พัทลุง-ตรัง”

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ (นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ว่า ผลการดำเนินงาน “โครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาปักษ์ใต้ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ภาคใต้” ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรังนั้น ธ.ก.ส. ได้มีการอบรมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแก่พนักงานทั่วประเทศ โดยมอบหมายพนักงานพัฒนาลูกค้าดูแลรับผิดชอบธุรกิจชุมชนโดยตรง

พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนระดับจังหวัดและอำเภอ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจชุมชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางผสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคประชาชน รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี และสินเชื่ออื่น ๆ ตามแผนธุรกิจที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนารวมกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกร สถาบันการเงินประชาชน วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน Smart Farmer SMEs เกษตรที่เป็นหัวขบวน และสหกรณ์การเกษตร

ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนไปแล้วกว่า 502 ชุมชนทั่วประเทศ โดยในส่วนของพื้นที่ภาคใต้มีธุรกิจชุมชน จำนวน 27 ชุมชน ทั้งนี้ ภายในงาน ธ.ก.ส. ได้นำเสนอผลการพัฒนาชุมชน ได้แก่ โครงการการจัดการห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอย่างบูรณาการ ประกอบด้วย การจัดการยางพารา โดยสถาบันการเงินชุมชนบ้านวังไทร ตั้งแต่การผลิตน้ำยางสด การแปรรูปยางแท่งและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากยาง ส่งขายภายในประเทศ ซึ่งในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสถาบันการเงินชุมชนได้ระดมเงินทุนจากสมาชิกเพื่อลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราและอุปกรณ์กว่า 69 ล้านบาท คาดว่าเมื่อเปิดโรงงานแล้วจะมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 116 ล้านบาท โดยจะขอรับการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยจาก ธ.ก.ส. ประมาณ 120 ล้านบาท

ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาภาคใต้ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน นั้น ธนาคารออมสินดำเนินงานโดยมุ่งพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในทุกด้านของภาคใต้ รวมไปถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้านและแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยใช้ กลไก “3 ออม 3 สร้าง” 3 ออม คือ (1)ออมเศรษฐกิจ (2) ออมสังคม (3) ออมสิ่งแวดล้อม และกลไก 3 สร้าง คือ

(1) การสร้างความรู้/สร้างอาชีพ เช่น โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน ธนาคารร่วมมือกับ 11 สถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ จัดทำ 55 หลักสูตรเพื่ออบรมอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหลังจากผู้มีรายได้น้อยเข้าอบรม พบว่าทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 75%

(2) สร้างตลาด/สร้างรายได้ ธนาคารได้มีโครงการตลาด Digithai ยกระดับลูกค้าฐานรากที่ปักษ์ใต้สู่สังคมไร้เงินสด และโครงการตลาดร่วมกับภาคีในพื้นที่ เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย และโครงการตลาด Street Food By GSB ซึ่งมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 3,000 ร้านค้า

(3) สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน โดยธนาคารตั้งเป้าในปี 63 จะผลักดันเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากและ SMEs ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 4 หมื่นล้านบาท ด้วยการผลักดันนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง รวมถึงการร่วมมือทุกภาคส่วน จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน