เกษตรกรมหาสารคามซึมโควิด ปรับจัด “เซตผักชุด” ขายผ่านเพจ

โควิด-19 พ่นพิษทำตลาด-ร้านอาหารปิด เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกพืชผักสวนครัว จ.มหาสารคาม ไม่มีตลาดขายผลผลิต

นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ปัจจุบัน ทำให้ตลาดชุมชนรวมทั้งร้านอาหารบางส่วนในจังหวัดมหาสารคามปิดตัว

ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยกลุ่มผู้ปลูกพืชผักอินทรีย์และทำแปลงผักธรรมดา

ซึ่งเป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำเก็บผลผลิตส่งขายตลาดทุกวันให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ แม้ตลาดสดในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัดที่ยังเปิดตามปกติก็อยู่ไกล เกษตรกรไม่คุ้มค่าเดินทางที่จะนำผลผลิตไปขาย

“ถึงมีตลาดเปิดอยู่แต่ช่วงนี้คนมาเดินจ่ายสินค้าในตลาดลดลง พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อก็ซื้อน้อยลงด้วย ทำให้ไม่มีที่ส่งขายเหมือนเดิม เมื่อเกษตรกรไม่มีที่จำหน่ายผลผลิตก็ได้รับความเสียหาย

แม้บางส่วนหันไปเปิดขายทางออนไลน์ จัดเซตผักส่งเป็นชุดขายตามบ้านแต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะพืชผักสวนครัวมีโอกาสเน่าเสีย หากขนส่งทางไกล ซึ่งกลุ่มเกษตรกรรายย่อยน่าเป็นห่วงที่สุดเพราะเป็นฐานรากของสังคม

ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ้อย รวมทั้งมันสำปะหลังยังพอไปได้ เราไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ”

นายฉัตรชัย บุญพิคำ กลุ่มเกษตรกรบ้านโขงใหญ่ ม.12 ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้ปลูกพริกบ้านโขงใหญ่มีพื้นที่ปลูกพริกติดลำฝั่งน้ำชี ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะนำไปขายส่งตามตลาดนัดชุมชนและตลาดสด มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่สวนด้วย

ปกติมีรายได้เฉลี่ยวันละ 3-4 ร้อยบาทต่อวัน เมื่อมาเจอการระบาดของโควิด-19รอบล่าสุดถือว่าหนักมาก ไม่มีที่ขายผลผลิตพริกสด ร้านอาหารบางส่วนที่เคยเป็นลูกค้าของสวนก็ปิดตัวลง

และตลาดนัดในชุมชนหรือในตำบลก็ถูกปิด แต่ละวันพริกสดที่เก็บได้จึงได้แต่ขายให้คนในชุมชนได้เงินวันละไม่กี่สิบบาท ส่วนที่เหลือก็นำมาตากแดดแปรรูปเป็นพริกแห้ง ไม่เช่นนั้นผลผลิตพริกสดจะเน่าเสียหาย ตอนนี้หลายคนเริ่มหันมาปลูกข้าวโพด บางส่วนจึงพอมีรายได้เสริมเข้าครัวเรือนทดแทนรายได้จากการขายพริก

ด้านนายปราโมทย์ วัฒนะ เกษตรจังหวัดมหาสารคามให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ช่วงนี้ราคาพืชผักก็ยังคงที่ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะเกษตรจังหวัดประสานกับทางพาณิชย์ตลอดเวลา

ตลาดพืชผักยังคงขายได้เพราะถึงยังไงคนก็ยังต้องกินทุกวัน แต่ยอดขายอาจลดลงบ้างตามอุปสงค์และอุปทาน เพราะพฤติกรรมการบริโภคโดยเฉพาะคนเมืองและคนรุ่นใหม่มีการสั่งอาหารมารับประทานมากกว่าที่จะประกอบอาหารเอง อาจจะไม่ค่อยออกจากบ้านไปจ่ายตลาด