สั่งปิดโรงงานถุงมือศรีตรังโกลฟส์ จ.ตรัง ไม่มีกำหนด ติดโควิดเพิ่ม 37 ราย

ตรังสั่งปิดโรงงาน ถุงมือศรีตรังโกลฟส์’ ไม่มีกำหนด พบโควิดเพิ่มอีก 37 ราย

ตรังป่วนคลัสเตอร์ถุงมือยาง ”ศรีตรังโกลฟส์” เพิ่ม 37 ราย สั่งปิดรง.ไม่มีกำหนด เผยกลุ่มเสี่ยงยังอีกเพียบ เฉพาะพนักงานชาวตรัง 1,082 คน เร่งตรวจเครือญาติกระจายใน 3 อำเภอ ”ย่านตาขาว-เมือง-กันตัง” ต่างจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงรวมอีก 208 คน เมียนมาอีก 291 คน

วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น แพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ว่า จังหวัดตรังมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 37 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์ของโรงงานถุงมือยางบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT แบ่งเป็นเพศหญิง 37 ราย เป็นเพศชาย 7 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวเมียนมา 8 ราย เป็นคนไทย 29 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 381 ราย

สำหรับผู้ป่วยทั้ง 37 รายใหม่เป็นคลัสเตอร์ของโรงงานถุงมือยาง แบ่งเป็นอ.กันตัง 26 ราย ประกอบด้วย ต.ควนธานี 10 ราย ต.บ่อน้ำร้อน 4 ราย ต.บางเป้า 4 ราย ต.บางหมา 3 ราย ต.คลองชีล้อม 3 ราย ต.กันตัง และต.วังวน อย่างละ 1 ราย  ส่วนที่อ.เมืองตรัง 9 ราย ประกอบด้วย ต.ทับเที่ยง 2 ราย ต.นาบินหลา 2 ราย ต.หนองตรุด 2 ราย ต.ควนปริง 2 ราย และต.โคกหล่อ 1 ราย ส่วนที่อ.ย่านตาขาว 2 ราย ประกอบด้วย ต.ทุ่งค่าย และต.เกาะเปียะอย่างละ 1 ราย

สำหรับผู้ป่วยทั้ง 36 ราย คือรายที่ 345-380 เป็นพนักงานโรงงานถุงมือยาง ส่วนรายที่ 381 เป็นเด็กชายอายุ 2 ขวบ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยรายที่ 339
สำหรับพนักงานทั้ง 36 รายที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ทำงานอยู่ใน 3 แผนก ได้แก่ 1.แผนกถอดถุงมือ 2.แผนกตรวจสอบคุณภาพ(คิวซี) และ3.แผนกแพ็กเก็จจิ้ง

ทั้งนี้ได้มีการตรวจพบผู้ป่วยในโรงงานถุงมือยางตั้งแต่วันที่ 26พ.ค.64 จำนวน 2 ราย โดยแรกอยู่ที่อ.ย่านตาขาว อีกรายอยู่ที่อ.กันตรัง โดยทั้ง 2 รายนี้มีอาการทางเดินหายใจส่วนบน มีไข้ ไอ เจ็บคอไปตรวจที่โรงพยาบาลตามเกณฑ์การเฝ้าระวัง ผู้ป่วยทั้ง 2 รายเป็นแรงงานในพื้นที่แออัดจำเป็นต้องได้รับการตรวจสวอปด้วยวิธี PCR ตรวจพบว่า เป็นโควิด-19

ถัดมาวันที่ 27พ.ค.64 มีผู้ป่วยโควิด-19 อีก 4 รายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมเป็นผู้ป่วยช่วงเช้าวันที่ 28พ.ค.64 เป็น 6 ราย ถัดมามีการเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลตรัง 4 ราย และที่โรงพยาบาลกันตรัง 7 ราย รวมทั้ง 11 ราย มีอาการ ทำการตรวจสวอปผลเป็นบวก

จึงได้ค้นหาเชิงรุกในโรงงานตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.64 มีผู้สัมผัสใกล้ชิดใน 3 แผนก แผนกถอดถุงมือ แผนกควบคุมคุณภาพ(คิวซี) และแผนกแพ็กเก็จจิ้ง ตรวจไป 33 ราย ปรากฏพบเป็นบวก 22 ราย คือ 2 ใน 3 ของการค้นหาเชิงรุก

สำหรับการลงไปควบคุมโรคหลังทราบการแพร่ระบาดในโรงงานจึงได้มีคำสั่งจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดตรังให้ปิดโรงงานชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะปกติ ไม่ได้ปิดเพียง 3 วัน แต่ช่วง 3 วันนี้จะลงไปควบคุมโรคโดยวิธีการสวอปเจ้าหน้าที่ในโรงงานทั้งหมด 1,579 คน

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมา 291 คน ที่เหลือเป็นคนไทย ซึ่งแบ่งเป็นคนต่างจังหวัด 208 คน  อีก 1,082 คนเป็นชาวไทยในจังหวัดตรัง มีในส่วนแคมป์คนงานภายในโรงงาน 400 คนเศษ ส่วนอีก 1,082 คน กระจายอยู่ในพื้นที่อ.ย่านตาขาว อ.เมืองตรัง และอ.กันตรังเป็นส่วนใหญ่

ขณะนี้ได้เรียกผู้สัมผัสในโรงงานเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเข้าสู่โรงงาน อยู่ระหว่างทยอยเดินทางกลับเพื่อกักกันโรค เมื่อวานนี้(28พ.ค.64)ตั้งแต่ช่วงเช้า-14.00 น.มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดตรังได้มีการร่วมมือกับอ.กันตรังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง และโรงพยาบาลตรังในการสวอปเจ้าหน้าที่โรงงานประมาณ 500 คน ซึ่งผลขณะนี้กำลังทำวิธี PCR Test อยู่ จะทราบผลในเย็นวันนี้(29พ.ค.64)

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายงานผลการสวอปจะทราบในวันพรุ่งนี้(30พ.ค.64)โดยวันนี้ตรวจเชิงรุกอีก 560 ราย พรุ่งนี้จะสวอปอีกจนครบทั้งหมด 1,579 ราย ผลสรุปน่าจะทราบไม่เกินเช้าวันอังคารที่ 1 มิ.ย.64 หากพบผู้ติดเชื้อจะนำเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลตรัง แล้วแต่อาการ ส่วนผู้ที่เป็นลบ จะกักตัวอีก 14 วัน เมื่อครบ 14 วันจะตรวจซ้ำ โดยแบ่งเป็น 2 วิธี แบ่งเป็นตรวจเลือดหา“แอนติบอดี้” หรือเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ”หรือการตรวจด้วยวิธีสวอป ซึ่งขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังกำลังพิจารณาว่าจะใช้การตรวจโดยวิธีใด

“ส่วนประชาชนที่เป็นเครือญาตหรือร่วมบ้านกับผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงงานอีก 1,082 ราย ก็ขอให้ติดตามข้อมูลว่า ญาติเป็นผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ หากเป็นผู้ป่วยโควิดจะกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดติดต่อไปเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ขณะนี้ยังเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถึงอยู่ในบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะอาจเป็นผู้รับเชื้อมาแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการตรวจยืนยัน เพราะฉะนั้นการแพร่กระจายของเชื้อในบ้านอาจจะเกิดขึ้นได้ การแยกรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าต้องป้อนข้าวเด็กต้องสวมหน้ากากอนามัย อย่ามีการถอดหน้ากากพร้อมกัน”