จันทบุรีปรับผังเมืองใหม่ทั้งฉบับ กำหนดโซนจัดสรร-โรงงานแปรรูปรับ EFFC

จันทบุรีลุยปรับผังเมืองรวมใหม่ทั้งฉบับ รองรับเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม-เกษตร-ท่องเที่ยว ด้านหอการค้า-สภาอุตฯเด้งรับ “กำหนดโซนนิ่ง” ขับเคลื่อนสู่ EFFC เผย “ล้ง” นับ 1,000 เล็งตั้งโรงงานแปรรูป ทุนอสังหาฯจ่อขึ้นบ้านจัดสรร โรงแรม รับ EEC และ EFC ตอบโจทย์ “สมาร์ทซิตี้”

นายสุวรรณ เจริญพร โยธาและผังเมือง จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีร่วมกับจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.จันทบุรี

ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขอแก้ไขผังเมืองพื้นที่เทศบาลเมืองจันทบุรีและเขตพื้นที่ อปท.13 แห่ง ต.แสลง ต.ท่าช้าง ต.พลับพลา ต.จันทนิมิต ต.วัดใหม่ ต.บางกะจะ ต.ตลาด ต.คลองนารายณ์ ต.เกาะขวาง อ.เมืองจันทบุรี ต.เขาวัว ต.พลอยแหวน อ.ท่าใหม่

และ ต.ท่าหลวง ต.มะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี พื้นที่ 99 ตร.กม. เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ผลไม้ในจันทบุรีเกือบ 1,000 ล้ง มีแนวคิดที่จะทำโรงงานแปรรูป ห้องเย็น ส่งต่างประเทศ

ขณะเดียวกันมีนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์สนใจลงทุนทำที่พัก บ้านจัดสรร โรงแรม รีสอร์ต เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นแหล่งท่องเที่ยวรองรับแผนการพัฒนาระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC)

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรประเมินผลการใช้ผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี และปรับปรุงจัดทำผังเมืองรวมจันทบุรีใหม่ทั้งฉบับ

“สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรีและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการแก้ไขผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี พ.ศ. 2562 แต่ไม่สอดดล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางการค้าและธุรกิจทางการเกษตร

เพื่อส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากจันทบุรีเป็นแหล่งผลไม้อาหารเชื่อมโยงภาคตะวันออกจึงเห็นควรแก้ไขข้อกำหนดปรับผังสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2563 แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ล่าช้า”

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานกรรมการหอการค้า จ.จันทบุรี กล่าวว่า การปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี ควรกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ชัดเจน เพื่อรองรับการเติบโตและแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรี

ที่มีทิศทางชัดเจน ตอบสนอง supply chain ภาคเกษตรกรรรม เป็นการขยายการลงทุน เช่น โรงงานแปรรูปผลไม้ ห้องเย็น การกำหนดพื้นที่ (zoning) ควรดูภาพรวมองค์ประกอบพื้นที่ภูมิศาสตร์ ระบบโลจิสติกส์ และทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นหลายฝ่าย

พื้นที่เหมาะสมอาจจะเป็นที่ดินของเอกชนไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ แผน EFC จันทบุรีเป็นแหล่งวัตถุดิบ การแพ็กเกจจิ้ง ทุเรียนเป็นสินค้าเน่าเสียง่าย ไม่ใช่สินค้าแฮนดิ้งถือขึ้นเครื่อง โรงงาน คลังสินค้าห้องเย็น (cold storage)

ควรตั้งอยู่จ.จันทบุรี ไม่ใช่ จ.ระยอง การนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของ ปตท.มาใช้ การแปรรูปผลผลิตการเกษตรที่สร้างรายได้ส่งออกเกือบแสนล้านบาทเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ภาครัฐควรเป็นผู้ลงทุน

นายธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ตามการพัฒนายุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก การจัดทำผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี ควรกำหนดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ชัดเจน เช่น มหานครผลไม้ จันทบุรีมีข้อได้เปรียบมีผลผลิตจำนวนมาก

ส่งออกทุเรียนปี 2564 ประมาณ 500,000-600,000 ตันรวมถึงมังคุด ลำไย ลองกอง สละ และอาหารสมุนไพร ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี 2564-2568 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

พัฒนาเป็นระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Food and Friut Corridor : EFFC) เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและจำหน่ายอาหารและผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ และแผนพัฒนายุทธศาสตร์ด้านเกษตรกรรมจันทบุรี เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวเป้าหมายพัฒนา zero waste สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่นให้จันทบุรีเป็นเมืองน่าอยู่(living city) หรือเมืองแห่งความสุข (happy city)

นายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี อบจ.พิจารณา 3 องค์ประกอบ คือ ด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อประสบภาวะผลผลิตราคาตกต่ำได้จัดทำแผนมาสเตอร์แพลน ใช้พื้นที่ใน อบจ.ขนาด 20 ไร่

สร้างห้องเย็นเก็บสต๊อกวัตุดิบ ขนาด 50,000 ตัน งบประมาณ 500 ล้านบาท เฟสแรก 5,000 ตัน และมีแผนใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ แต่วันนี้่อยู่ในพื้นที่สีเขียวสร้างไม่ได้ขณะที่ต้องเตรียมรองรับผลผลิตทุเรียนจันทบุรีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่ำปีละ5%

จากปริมาณ 800,000 ตัน (ปี 2564) ภาคเอกชนสนใจลงทุนอยู่แล้ว การพัฒนา EFFC และผลไม้ที่ให้คุณค่าทางยา รวมทั้งรอบ ๆ ชุมชนเมืองจันทบุรีต้องปรับให้มีการใช้พื้นที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

“แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมจันทบุรี-ตราด เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เป้าหมายแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำและเพิ่มมูลค่า ปี 2565 อบจ.สนับสนุนงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี

คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ปี 2566 สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ 14 แห่ง องค์กรภาคเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้ได้รับการยอมรับ”

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรีและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี พ.ศ. 2562 เห็นควรเร่งดำเนินการ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด

เนื่องจากภาพรวมจังหวัดจันทบุรี เศรษฐกิจและเมืองได้ขยายตัวออกไปมาก ภาคเกษตรกรรมปี 2563-2564 แม้เป็นช่วงวิกฤตโควิด-19 อัตราการเติบโตจากการส่งออกผลผลิตทุเรียนมีปริมาณสูงมากปี 2563 มีปริมาณทุเรียนส่งออก 359,640 ตัน และปี 2564 ยังไม่หมดฤดูกาลส่งออกไป 450,540 ตัน มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท

ขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีก 3 ด้านประสบปัญหาจากโควิด-19 คือ ด้านอัญมณี นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ กระทบต่อรายได้ลดลงแทบจะเป็น 0% การค้าชายแดนด่านต้องปิดเหลือเพียงจุดผ่านแดนถาวร 2 แห่ง รายได้ลดเหลือ 50%

“อนาคตปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้น ราคาตลาดน่าจะผันผวน ต้องเตรียมอุตสาหกรรมแปรรูป ห้องเย็น กำหนดโซนนิ่งและศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ผู้สนใจลงทุนจริง ๆ อาจเป็นที่ดินแปลงใหญ่ของภาคเอกชน

การลงทุนจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ กระจายรายได้เช่น ห้างเซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี ที่กล้าเข้ามาลงทุนก่อน อาจมีผลกระทบกับร้านเล็ก ๆ ที่ต้องปรับตัว แต่ถ้ามองในข้อดีช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ

ต่อไปมีนักท่องเที่ยวคนไทย ต่างประเทศ ชาวกัมพูชามาใช้บริการด้านการแพทย์เข้ามาจับจ่ายใช้สอยและทำให้การลงทุนตามมาทำให้แนวทางการพัฒนาจันทบุรีสู่ MICE city เกิดขึ้น”

“ตราด” รุกสู่อุตสาหกรรมเกษตร

ตามแผนพัฒนาระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFFC กำหนดให้จังหวัดจันทบุรีและตราดเป็น 2 จังหวัดหลักในการขับเคลื่อน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้ตามแผนที่ผลักดัน จำเป็นต้องมีการปรับแก้ผังเมืองของทั้ง 2 จังหวัดให้สอดคล้องกับการพัฒนา

นายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผังเมืองรวมจังหวัดตราดประกาศใช้ปี 2556 และประกาศแก้ไขปรับปรุงในบางส่วน

พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2562 สำนักงานโยธาและผังเมืองจังหวัดตราดได้จัดประชุมวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดตราดตามแนวทางของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ต้องการจำแนกพื้นที่ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา

ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2565 โดยสภาอุตสาหกรรม จ.ตราดเน้นความสอดคล้องผังภาคตะวันออก กลุ่ม 2 ตามแผนพัฒนาระเบียงอาหาร และผลไม้ภาคตะวันออก EFFC จันทบุรีเป็นศูนย์กลางอาหารและผลไม้ ส่งออกตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีนซึ่งจังหวัดตราดเป็นแหล่งผลไม้ 30-40%

ส่งไปโรงคัดบรรจุที่จันทบุรี และถ้าแผนนำร่อง EFFC สำเร็จจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขยายผลมาจันทบุรี ตราด ซึ่งลดความสูญเสียคุณภาพผลไม้ได้ไม่เกิน 5% ต้องเตรียมพื้นที่ไว้

เพราะเป้าหมายการตลาดต่างประเทศจะเชื่อมโยงทั้ง 5 จังหวัดภาคตะวันออก (นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด)

และในส่วนของจังหวัดตราด ประเด็นหลักคือ การขอใช้พื้นที่ทั้งหมดของผังเมืองรวมจังหวัดตราดเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทางการเกษตร ระยะทางห่างจากแหล่งวัตถุดิบไม่เกิน 4 ชั่วโมง

ทั้งอุตสาหกรรมบริการชุมชน ที่เดิมไม่อนุญาตให้อยู่ในบัญชี ก ข เพราะ จ.ตราดส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน SMEs ไม่ต้องขออนุญาตจดทะเบียน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสกัดน้ำมันจากพืช ต้องสนับสนุนการใช้ที่ดิน

จัดสรรพื้นที่ของหน่วยงานไม่ทับซ้อนกันกำหนดโซนนิ่งชัดเจน และโรงงานบรรจุก๊าซหุงต้มให้สร้างในพื้นที่ จ.ตราด จากเดิมไม่อนุญาตต้องนำเข้ามาจากโรงบรรจุที่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี

ที่ผ่านมาที่ดินที่นักลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมสนใจ ราคาสูงมาก ไร่ละ 2-6 ล้านบาท ประกอบกับทุเรียนราคาดี ที่ดินใช้ปลูกหรือให้เช่าเพื่อทำสวนทุเรียนค่าเช่าปีละ 100,000 บาท/ไร่

ส่วนพื้นที่สาธารณประโยชน์บางแปลงอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสม ทำให้คนในพื้นที่จันทบุรี ตราด ไม่กล้าลงทุน ยกเว้นกลุ่มทุนสูงจริง ๆ ด้านผู้ประกอบการ จ.ตราด รับจ้างผลิต (OEM) ให้โรงงานจังหวัดอื่น ๆ ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงาน 40-50 ล้านบาท

“อุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณา จ.ตราด มีศักยภาพทั้งแปลงปลูก แรงงาน ผู้ประกอบการที่รวมกลุ่มกันพร้อมที่จะลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

เป้าหมายคือ การสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์น้ำมันกฤษณาจังหวัดตราด เป็นระดับพรีเมี่ยมในตลาดต่างประเทศ แต่อยู่ในพื้นที่สร้างโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้” นายสุทธิลักษณ์กล่าว