สมุทรสาครสั่งปิดโรงงานใหญ่ย่านวังบางปลา เหตุไม่ดูแลพนักงานติดโควิด

สมุทรสาครสั่งปิดโรงงาน

สมุทรสาครสั่งปิดโรงงานผลิตยางรถยนต์ใหญ่ย่านวังบางปลาชั่วคราว เหตุไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ทั้งยังไม่มีแผนบริหารและดูแลพนักงานที่ติดเชื้อโควิด

วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาร พร้อมด้วยนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์, นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และนางสาวสุวดี ทวีสุข สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกันแถลงข่าวสั่งปิดสถานประกอบการแห่งหนึ่งในตำบลบางปลา อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นายวีระศักดิ์ วิจิรต์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เนื่องจากสถานประกอบแห่งนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจในการป้องกันและควบคุมโรคแล้วหลายครั้ง ปรากฏว่าสถานประกอบการไม่ดำเนินการตามข้อแนะนำ ไม่มีแผนในการบริหารจัดการและควบคุมดูแลพนักงานที่มีผลเป็นบวก

โดยพนักงานบางส่วนที่มีผลเป็นบวกยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการป้องกันและควบคุมโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าไปสู่ชุมชน และเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

ถึงแม้ว่าสถานประกอบการแห่งนี้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับการแยกกัก(FAI) แล้วก็ตาม แต่ไม่เพียงพอต่อการแยกกัก จึงทำให้เห็นว่าสถานการณ์ประกอบการแห่งนี้ละเลย ไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาในการป้องกันและควบคุมโรค สุดท้ายเลยมีการร้องเรียนสถานประกอบการแห่งนี้หลายครั้ง

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราวและห้ามดำเนินกิจการใดๆในสถานที่ดังกล่าว

2.ต้องตรวจคัดกรองพนักงาน 100 % ที่ทำงานในสถานที่แห่งนั้น หากพบพนักงานติดเชื้อให้นำไปแยกกักในโรงพยาบาลสนามของสถานประกอบการแห่งนั้น ระหว่างการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต้องมีกระบวนการควบคุมให้พนักงานดูแลตนเองอยู่ในที่พักอาศัยอย่างชัดเจน จัดทำทะเบียนพนักงานโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง ควบคุมการเดินทางของพนักงานไม่ให้ออกจากพื้นที่สมุทรสาคร

3.หากสถานประกอบการแห่งนี้ดำเนินการข้างต้นแล้วเสร็จให้เสนอผลการดำเนินงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเพื่อเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หากไม่ดำเนินการตามที่กำหนดอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการต่อไป

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามในมาตรา 51 และมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในมาตรา 48 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2 -15 สิงหาคม เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคแล้วเสร็จ

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า โรงงานที่ถูกสั่งปิดแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตและส่งออกยางรถยนต์ ยางรถจักยานยนต์ มีพนักงานราว 1,500 คน