กปภ.ทุ่มลงทุน 4.6 หมื่นล้าน ลดต้นทุนน้ำดิบ-สูญเสียน้ำ

ประปาภูมิภาคโอดโควิดทุบรายได้ร่วง ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรมยอดใช้น้ำลดวูบ แถมลูกค้าขอผ่อนชำระค่าน้ำ ปรับแผนคุมค่าใช้จ่าย “ลดน้ำสูญเสีย” ควบคู่หาซื้อแหล่งน้ำดิบราคาถูกลง กางแผนลงทุน 62 โครงการ 4.6 หมื่นล้าน เจาะพื้นที่เศรษฐกิจ-เมืองหลัก-เมืองท่องเที่ยว “ภูเก็ต-กระบี่-เชียงใหม่”

นายสมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา รายได้ของการประปาส่วนภูมิภาคลดลงไปพอสมควร เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ โรงแรม อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคมีลูกค้าหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม

คือ 1.ประชาชนทั่วไป 2.ธุรกิจโรงแรม ออฟฟิศ ห้างร้าน 3.ภาคอุตสาหกรรม เมื่อนักท่องเที่ยวหาย ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว รายได้ส่วนนี้จึงหายไป นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งที่มีการยื่นขอผ่อนการชำระค่าน้ำ ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการรับเงินจากการใช้น้ำล่าช้าไปด้วย

ใครขายสินค้าให้กลุ่มนักท่องเที่ยวก็คงจะได้รับผลกระทบหมด การขายน้ำประปาก็เช่นกัน ทั้งการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แม้น้ำจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ แต่หากนักท่องเที่ยวลดลง การใช้น้ำก็จะลดลงตามไปด้วย

แต่ปัจจุบันกราฟการใช้น้ำก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นทีละน้อย แต่ทั้งนี้คงจะต้องติดตามดูผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนด้วยว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากสถานการณ์ไม่ดีประเมินเบื้องต้นคาดว่าปี 2565 จะเป็นปีที่ กปภ.มีรายได้ต่ำสุด

นายสมบูรณ์กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้วางนโยบายเร่งด่วนที่ กปภ.จะต้องแก้ไข คือ ลดการสูญเสียน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขค่อนข้างมาก และมีจำนวนหลายล้านคิวบิก หรือคิดเป็นคิวบิกละ 10-12 บาท จึงมีนโยบายการลดน้ำสูญเสีย ปกติต้องไม่น่าจะเกิน 20%

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กปภ.ยังมีข้อจำกัดทางการเงินในการลงทุนซื้อน้ำที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยมีแผนที่จะซื้อน้ำจากแหล่งน้ำที่ถูกลงไปในคราวเดียวกัน อย่างพื้นที่เขต 3 เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ที่ขณะนี้ลดการซื้อน้ำลงไปแล้วได้วันละ 54,000 คิว/วัน

รวมทั้งมีการปรับการจ่ายน้ำใหม่ จัดสรรแรงดันน้ำให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้คือการซื้อน้ำจากเอกชน ที่ผลิตน้ำดิบหรือทำน้ำประปาขายให้กับ กปภ.ในราคาถูก หลังจากนั้น กปภ.ก็จะนำมาบริหารจัดการให้มีคุณภาพก่อนขายตามราคามาตรฐานของ กปภ.ต่อไป

โดยกลยุทธ์ในการบริหารจัดการตามแผนงานควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อควบคุมต้นทุนของน้ำประปาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่ผ่านมาในปี 2564 กปภ.มีอัตราการลดน้ำสูญเสียอยู่ที่ 603 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งลดลงจากปี 2563 คือ 607 ล้าน ลบ.ม. ทําให้ กปภ.สามารถรักษาทรัพยากรน้ำและลดต้นทุนน้ำการดําเนินงานไปได้กว่า 4 ล้าน ลบ.ม.

นายสมบูรณ์เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กปภ.ยังมีการลงทุนในโครงการปรับปรุงขยายพื้นที่การให้บริการในพื้นที่เศรษฐกิจและเมืองสําคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการน้ำประปาสําหรับลูกค้าและรองรับการเติบโตของชุมชนและเศรษฐกิจในอนาคต

พร้อมทั้งสนองนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ โดยมีแผนงานโครงการจํานวน 62 โครงการ งบประมาณรวม 46,970,384,400 บาท แบ่งตามความคืบหน้าการดําเนินโครงการที่สําคัญ 4 ระยะ ดังนี้

1.แผนงานโครงการสําคัญที่ดําเนินการแล้วเสร็จในปี 2564 จํานวน 4 โครงการ งบประมาณรวม 3,224,054,000 บาท ประกอบด้วยโครงการที่สําคัญ เช่น โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาปทุมธานี กปภ.สาขาเพชรบุรี กปภ.สาขากาญจนบุรี-ท่ามะกา

2.แผนงานโครงการสําคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 โครงการ วงเงินงบประมาณ 12,527,430,000 บาท เช่น โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาชลบุรี-พนัสนิคม-(พานทอง)-(ท่าบุญมี) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาบ้านฉาง (EEC) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพนมสารคาม-บางคล้า-(แปลงยาว)-(คลองนา)-(เทพราช) (EEC)

3.แผนงานโครงการสําคัญที่ได้รับความเห็นชอบในหลักการโดยคณะรัฐมนตรี 4 โครงการ งบประมาณรวม 17,209,171,000 บาท เช่น โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขา พังงา-ภูเก็ต โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาเชียงใหม่-แม่ริม-สันกําแพง โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาเกาะสมุย ระยะที่ 2

4.แผนงานโครงการสําคัญในอนาคตที่อยู่ระหว่างการศึกษา 3 โครงการ ได้แก่ 1) งานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบพัฒนาระบบประปารองรับพื้นที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเกาะช้าง ตําบลเกาะช้าง อําเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

2) งานศึกษาความเหมาะสมแผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขากระบี่ 3) งานศึกษาความเหมาะสมและสํารวจออกแบบแก้ไขปัญหาระบบประปาในพื้นที่เกาะสีชัง อําเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจระบุว่า ตัวเลขผลประกอบการของ กปภ.ปี 2563 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) รายได้ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท รายจ่าย 2.7 หมื่นล้านบาท มีกำไร 1.3 พันล้านบาท มีหนี้สิน 8.6 หมื่นล้านบาท

เมื่อเทียบกับปี 2562 รายได้ 2.9 หมื่นล้านบาท รายจ่าย 2.5 หมื่นล้านบาท กำไรอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาท มีหนี้สิน 7.9 หมื่นล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

นอกจากนี้ นายสมบูรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าการ ภารกิจสำคัญจึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในส่วนภูมิภาคให้มีน้ำประปาที่สะอาดได้มาตรฐานสำหรับอุปโภคบริโภค

และด้วยความตั้งใจที่จะ “พัฒนาประปาไทย” ภายใต้นโยบาย “Forwards : ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า” เพื่อพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง และมุ่งพัฒนาประปาไทยสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงให้ประชาชนมีน้ำประปาสะอาดใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

โดยหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการน้ำประปาของ กปภ. คือการให้ประชาชนเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย ดังนั้น จึงได้ใช้เกณฑ์การจัดการสาธารณูปโภคด้านน้ำอย่างมีประสิทธิผล (Effective Utility Management : EUM) เข้ามาเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการในทุกด้าน

รวมทั้งระบบผลิตน้ำประปาต้องได้มาตรฐานตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยนำหลักการจัดการน้ำสะอาด (Water Safety Plan: WSP) และมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) เข้ามาประยุกต์ใช้

โดย กปภ. ดำเนินงานให้ได้ตามมาตรฐานระบบการให้บริการด้านน้ำ หรือ ISO 24510 และ 24512 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นสำหรับใช้ในการประเมินและพัฒนาการบริการลูกค้าของการบริหารจัดการสาธารณูปโภคด้านน้ำ

ซึ่งล่าสุดดำเนินการนำร่องในพื้นที่ กปภ. จำนวน 5 สาขา ได้แก่ กปภ.สาขาเชียงใหม่ สาขาอุดรธานี สาขาบ้านฉาง สาขาสมุทรสาคร และสาขาหาดใหญ่ อีกทั้ง ขณะนี้กำลังผลักดันให้ ISO 24528 การบริหารจัดการด้านน้ำสูญเสีย โดย กปภ. มุ่งจัดการลดน้ำสูญเสียเชิงรุก ซึ่งให้ความสำคัญกับสาขาที่มีปริมาณน้ำสูญเสียสูง เพื่อช่วยรักษาทรัพยากรน้ำและลดต้นทุนในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กปภ. มีอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Lab Cluster) 31 แห่ง กระจายทั่วประเทศ เพื่อทดสอบคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานอีกด้วยเพราะเรายึดลูกค้าเป็นที่ตั้ง โดยจะผลิตน้ำประปาคุณภาพเกรดน้ำดื่มได้ และจะรักษาคุณภาพน้ำประปาให้คงเส้นคงวา เพื่อให้ลูกค้าประทับใจ