“ล้งอรษา” ชี้จุดอ่อนไทย “โลจิสติกส์” คีย์สำคัญตลาดผลไม้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจค้าผลไม้ ต้องปรับตัวและรักษาคุณภาพผลผลิตให้มีมาตรฐานคงที่อย่างสม่ำเสมอ จึงจะรักษาคู่ค้าไว้ได้ เพราะการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตลาดผลไม้ส่งออก

“มณฑล ปริวัฒน์” ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ เจ้าของ “ล้งอรษา” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่เข้ามาสืบทอดกิจการล้งผลไม้ต่อจากคุณแม่นับเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเป็นล้งผู้ให้บริการชาวสวนเพื่อการส่งออก เห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในยุคนี้ค่อนข้างแตกต่างจากยุคก่อน

อย่างล้งอรษารับสินค้ามาจากเกษตรในทุกพื้นที่ ผ่านตัวแทนรับซื้อและผ่านกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ได้เข้าร่วมไว้ มีเครือข่ายค่อนข้างมากตั้งแต่รุ่นแม่ แต่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกอบการต่างชาติมีเป็นจำนวนมากขึ้น ยอมรับว่ารูปแบบการซื้อขายเปลี่ยนไป ชาวสวนที่เคยขายผลผลิตให้กับล้งโดยตรงเริ่มมีที่ขายให้กับนายหน้าที่มารับซื้อถึงสวน เพื่อส่งล้งจีนหรือล้งเถ้าแก่มากขึ้น

หากผลผลิตต่อวันที่รับซื้อจากชาวสวนเข้ามาในล้งมีปริมาณน้อย ต้องเก็บสต๊อกไว้ในห้องเย็นเพื่อรักษาคุณภาพไว้ก่อน ซึ่งล้งอรษาทำมังคุด ทุเรียน และลำไยกับมะพร้าวที่รับจ้างผลิต หลัก ๆ ทำมังคุดกว่า 70-80% ที่เหลือเป็นส่วนน้อย มังคุดในฤดูกาลของพื้นที่ภาคตะวันออกจะเริ่มช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม หลังจากนั้นจะมีผลผลิตมาจากภาคใต้ตามมาอีกถึงช่วงเดือนสิงหาคม การคัดคุณภาพของผลผลิต แบ่งได้หลายเกรด ทั้งแยกประเภทตามลักษณะผิวและขนาด

ทั้งนี้ ผลผลิตทั้งหมดส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศจีน ที่ขายตลาดในประเทศมีน้อยมากไม่ถึง 5% ในอนาคตล้งอรษาอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตทุเรียนให้มากขึ้น เพราะเตรียมแผนขยับเพิ่มตามความต้องการของลูกค้า และพยายามแบ่งสัดส่วนดูสินค้าตัวอื่น เพื่อทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่องหากผลผลิตในแต่ละฤดูกาลมีมากน้อยแตกต่างกัน

ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 2 โรงงานในจังหวัดจันทบุรี เป็นโรงงานเดิมที่กำลังรีโนเวตอยู่ ใช้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ และโรงงานใหม่มีขนาดไม่เกิน 2 ไร่ กำลังการผลิตเฉลี่ย 4-5 ตู้ตอนเทนเนอร์ โดยวางระบบใหม่ด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องจักรนำเข้ามาจากจีน อีกส่วนดีไซน์เองแล้วส่งให้โรงงานในประเทศไทยผลิตให้

ถัดมามีอีก 1 โรงงานในจังหวัดตราด และอีก 1 โรงงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช มูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 300-500 ล้านบาท/ปี ตัวเลขแล้วแต่ช่วงการผลิตและปริมาณผลผลิตที่มากน้อยต่างกัน

“มูลค่ารายได้หรือการลงทุนเราไม่แข่งกับใคร ด้านปริมาณก็สู้ล้งจีนไม่ได้ แต่หากพูดในเรื่องแนวคิดเชื่อว่าล้งอรษาไม่แพ้ใครอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเชื่อเพียงว่าจะเสิร์ฟสินค้าให้ลูกค้าอย่างไรให้คุณภาพดีที่สุด

“เราเชื่อลูกค้ามากกว่าตัวเลขในบัญชี การค้าขายที่ต้องพึ่งตลาดจีนมีสองมุม 1.คือต้องรักษาลูกค้าเก่าไว้ให้ดีที่สุด 2.ต้องทำให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผมคิดเสมอว่าจะรักษาลูกค้าเก่าอย่างไร และจะเพิ่มลูกค้าใหม่อย่างไรมากกว่าการเปลี่ยนลูกค้าใหม่ที่ยากกว่าการค้าขายกับลูกค้าเก่า”

ด้านการส่งออก “มณฑล” กล่าวว่า ปัจจุบันมีการขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ช่วงที่มีปัญหาการตรวจโควิด-19 จีนตรวจเข้มตามมาตรการ Zero COVID จึงใช้การขนส่งทางเครื่องบินกับรถเป็นหลัก

โดยการขนส่งผ่านทางเครื่องบินจะทำได้ช่วงแรกที่สินค้ายังราคาสูงอยู่ เหมาลำเที่ยวละ 2-3 ล้านบาทจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินในประเทศจีน เมื่อเทียบกับการขนส่งทางบกที่ใช้รถ ราคาค่าขนส่งอยู่เพียง 3-4 แสนบาท แต่มีความเสี่ยงสูงหากไม่สามารถผ่านด่านไปได้ภายใน 4-5 วัน จะทำให้สินค้าเน่าเสีย

“ยอมรับว่าเราไม่เก่งการขายตลาดภายในประเทศไทยเลย แม้ว่าจะพยายามหาโอกาสผ่านโครงการภาครัฐและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ แต่มีอยู่น้อยมาก ปัจจุบันจึงมีไม่ถึง 20% ที่คนไทยจะได้กินมังคุดเกรดส่งออก เพราะเราไม่มีระบบการขนส่งและโลจิสติกส์เรื่องของสดหรือผลไม้สดโดยเฉพาะ

“เราได้พยายามสะท้อนภาพการค้าในประเทศไปยังภาครัฐซึ่งผู้ประกอบการน่าจะเคยเจออุปสรรค และข้อจำกัดเดียวกัน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นตลาดขายผลไม้ใหญ่ของโลก ฉะนั้นคนไทยจะกินของดีได้อย่างไร

“อีกอย่างต้องมองว่าการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ต้องทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้ยั่งยืน ทำอย่างไรให้คุณภาพสินค้านิ่งที่สุดโดยไม่ต้องมองที่กำไรสูงสุด เพียงให้ธุรกิจพัฒนาเติบโตไปเรื่อย ๆ ทั้งคนทั้งเทคโนโลยี”

เรื่องโลจิสติกส์เป็นคีย์สำคัญมากในการทำธุรกิจของสด ถ้ายังไม่พัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ในประเทศไทยคงเติบโตยาก จะเห็นได้ว่าผลไม้ทุกอย่างไปกองอยู่ที่ตลาดไทย ตลาดค้าส่ง สุดท้ายถ้าบริหารจัดการไม่ทันก็เน่าเสีย พ่อค้าแม่ค้ายอมทิ้งดีกว่าเสียค่าขนส่งที่ไม่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยพยายามผลักดันเรื่องการขนส่งทางรางผ่านรถไฟจีน-ลาว ทั้งดิวกับบริษัทชิปปิ้งไว้หลายบริษัท ทั้งจากจีนและ สปป.ลาว แม้กระทั่งในประเทศไทย เพราะ ระบบรางคือช่องทางที่จะมาช่วยการขนส่งผลผลิตไปยังตลาดจีน ทั้งความรวดเร็วในการขนส่ง ลดการปนเปื้อนเชื้อโรค และภาคเอกชนพยายามผลักดันการขนส่งทางรางให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด พร้อมนำเสนอเรื่องนี้ต่อภาครัฐ หากเป็นไปได้อยากให้เงื่อนไขของการเจรจาเป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐ