ซัพพลายเออร์ฝุ่นตลบปั๊มยอด ของกินของใช้ร่วง-น้ำท่วมทุบซ้ำกำลังซื้อ

ยงสงวน

พิษน้ำท่วมหนัก ทำอีสาน-จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาอ่วม ! ทุบซ้ำกำลังซื้อเกษตรกร-รากหญ้า ค้าปลีก-ค้าส่งครวญยอดขายสะดุด ร้านค้า-โชห่วย เบรกสต๊อกสินค้าไว้ขายหวั่นของเสียหาย ด้านซัพพลายเออร์ ของกิน-ของใช้ ดิ้นฝุ่นตลบ ส่งเซลส์เดินสายเจรจาคู่ค้าในจังหวัดที่น้ำไม่ท่วมช่วยเร่งปั๊มยอดโยกงบฯการตลาดหนุน หวังลุ้นเป้าปลายปี

ขณะนี้แม้ว่าปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดจะค่อย ๆ คลี่คลายลง จำนวนจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมกว่า 50 จังหวัด ค่อย ๆ ทยอยลดลง และเหลือจังหวัดที่ยังถูกน้ำท่วมอยู่ประมาณ 30 จังหวัด หลัก ๆ อยู่ในภาคอีสานไล่เรียงไปตั้งแต่นครราชสีมา ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ และที่หนักที่สุดคือ อุบลราชธานี

และถัดมาเป็นกลุ่มจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 7-8 จังหวัด อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ นอกจากจะส่งผลกระทบในแง่ของการเดินทางคมนาคมไม่สะดวกแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ประชาชนขาดรายได้ ส่งผลกระทบในเชิงธุรกิจการค้าตามมา

น้ำท่วมทุบซ้ำกำลังซื้อ

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีผลกระทบกับกำลังซื้อผู้บริโภคและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสังเกตจะพบว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หลายพื้นที่ท่วมขังเป็นเวลานาน พืชผลทางการเกษตรเสียหายจำนวนมาก เมื่อเกษตรกรชาวไร่ชาวนาไม่มีรายได้ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบกับกำลังซื้อ แต่ผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นในลักษณะของการกระทบเฉพาะจุด หรือบางจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม

แหล่งข่าวกล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบกับกำลังซื้อในหลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสาน และจังหวัดภาคกลางที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ปัญหาน้ำท่วมนาน บางพื้นที่ท่วมมาตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. และที่น่าจับตามากก็คือ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ที่น้ำท่วมหนักท่วมนาน กระจายเป็นพื้นที่กว้าง และกระทบตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วง 1-2 เดือนนี้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือ อีสานนั้นเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับกรุงเทพฯ

ขณะที่ สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า จริง ๆ แล้วขณะนี้หากน้ำไม่ท่วมการค้าขายก็แย่อยู่แล้ว พอมีสถานการณ์น้ำท่วมเข้ามาอีก ก็ยิ่งซ้ำเติมกำลังซื้อที่เดิมก็แย่อยู่แล้ว จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการยี่ปั๊วซาปั๊วหลายรายพบว่า น้ำท่วมที่เกิดขึ้นทำให้ยอดขายลดลง สินค้าจำเป็นทั้งของกินของใช้ยอดขายเดินช้าลง แม้รัฐบาลจะมีโครงการคนละครึ่งครั้งล่าสุด (เฟส 5 ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา) ก็ช่วยกระตุ้นได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

“นอกจากการจับจ่ายของประชาชนจะลดลงแล้ว ร้านอาหาร ร้านค้า ร้านโชห่วย ต่างก็ซื้อสินค้าลดลงไปมาก เพราะซื้อไปก็ขายไม่ได้”

ซัพพลายเออร์ฝุ่นตลบ

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกในภาคอีสานยอมรับว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสานในขณะนี้ ทำให้ตัวเลขยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคหายไปมาก เพราะการเดินทางลำบาก กำลังซื้อไม่มี ล่าสุดตอนนี้ผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์สินค้าแทบทุกอย่าง ต้องเร่งปรับตัวปรับแผนกันอย่างหนัก เพราะตอนนี้ใกล้จะปิดยอดสิ้นปี น้ำท่วมเกิดขึ้นทำให้ตัวเลขหลาย ๆ จังหวัดหายไปค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง อุบลราชธานี ที่น้ำท่วมหนักและท่วมนานทำให้ ยงสงวนฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ หรือผู้ประกอบการค้าปลีกรายเล็กรายน้อยก็ปิดร้าน ขายของไม่ได้ ซัพพลายเออร์สินค้าแทบทุกราย ผงซักฟอก สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน กาแฟ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ฯลฯ ต้องปรับตัวปรับแผน

“เมื่อตัวเลขของอุบลฯหรือโคราชซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่หายไป เซลส์ก็ต้องวิ่งไปทำตัวเลขในจังหวัดที่ไม่ถูกน้ำท่วมอื่น ๆ เช่น อุดรธานี หรือจังหวัดอื่น เพื่อชดเชยหรือทดแทนตัวเลขของอุบลฯ โคราช ที่หายไป เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีการโยกงบฯการตลาดเข้าไปซัพพอร์ตเพื่อเร่งยอดให้เข้าเป้าหรือใกล้เคียงเป้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะตอนนี้ก็เดือน ต.ค.แล้ว เหลืออีก 2 เดือน พ.ย.-ธ.ค.ก็จะสิ้นปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายประกิจ ไชยสงคราม ประธานกรรมการ บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ใน จ.อุบลราชธานี กล่าวในเรื่องนี้ว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ฝนตกเกือบทุกวัน สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าเลยแม้แต่วันเดียว สถานการณ์น้ำท่วมหนักในอุบลฯทำให้ปัญหาน้ำท่วมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การสัญจรไป-มาไม่ได้ น้ำท่วมสูงอย่างต่อเนื่องทำให้ต้องปิดร้านชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา เพราะไม่สามารถขายของให้ลูกค้าได้ รถของลูกค้าก็ไม่สามารถวิ่งเข้ามารับสินค้าได้เช่นกันยงสงวนฯต้องหารือกับซัพพลายเออร์ถึงผลกระทบต่อยอดขายในเดือน ต.ค.ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามคาดว่าเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สหพัฒน์ชี้กระทบไม่มาก

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น จากการดูตัวเลขล่าสุด (14 ต.ค.) ในภาพรวมถือว่ามีผลกระทบน้อยมาก จะกระทบเฉพาะจังหวัดที่น้ำท่วมหนักจริง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาจากกรณีที่ร้านค้าต่าง ๆ เกรงว่า หากส่งสินค้าไปแล้วอาจจะเกิดความเสียหายจากการถูกน้ำท่วมจึงหยุดสั่งสินค้าบริษัท ซึ่งลักษณะนี้ก็จะมีเฉพาะหวัดในอีสานที่ถูกน้ำท่วมหนัก ๆ หลายจังหวัด ขณะที่ในภาคกลางร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียงหรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมีการสั่งสินค้าไปจำหน่ายน้อยลง เพราะเกรงว่าสต๊อกจะมีปัญหา

ส่วนในผู้บริโภค ผมยังไม่เห็น เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสินค้าที่ผู้คนต้องใช้ หากจะกระทบก็คงจะกระทบไม่มาก กรณีที่เกิดขึ้นท่วม สิ่งที่จะกระทบทำให้สะดุดลงไปบ้าง ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ไม่สามารถเดินทางไปซื้อได้ ร้านค้าถูกน้ำท่วมและปิด ซัพพลายเชนขาด ไม่สามารถ provide ได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะเอฟเฟ็กต์

“ในแง่ของรายได้หรือกำลังซื้อผู้บริโภคหรือเกษตรกรที่อาจจะลดลงก็อาจจะส่งผลกระทบบ้างแต่คงไม่มาก น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลัก ๆ จะกระทบซัพพลายเชน รีเทลเลอร์ และการเดินทาง” นายเวทิตกล่าวย้ำ