รัฐจัดเต็มปลุกเศรษฐกิจโค้งท้าย เดิมพัน “ช้อปช่วยชาติ” ฟื้นกำลังซื้อ

ช้อปช่วยชาติ

รัฐบาลจัดเต็มปลุกเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย ต่อคนละครึ่งเฟส 6 งัด “ช้อปช่วยชาติ” อัดมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 3 หมื่นบาท คาดเริ่ม 8 พ.ย.-31 ธ.ค. หลังจากต้นปีให้สิทธิ “ช้อปดีมีคืน” ไปแล้ว รอบนี้เปิดช่องโรงแรม-ที่พักทั่วประเทศร่วมขบวน คาดสรรพากรสูญรายได้ภาษี 4,900 ล้านบาท โรงแรม-ค้าปลีกเด้งรับกระตุ้นจับจ่ายช่วงไฮซีชั่นปลายปีคึกคัก

สุพัฒนพงษ์ ชงแพ็กเกจแจก

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีว่า เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ คนละครึ่งเฟส 6 กระทรวงการคลังพิจารณาอยู่ และอยู่ในลิสต์แล้วทั้งหมด โดยแหล่งเงินมาจากงบประมาณที่มาจากงบฯกลางส่วนหนึ่งและเงินกู้ที่ยังเหลือ

หลักการ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ซึ่งขณะนี้ดัชนีทางเศรษฐกิจไปด้วยตัวเอง อยู่ในทิศทางที่ดี แต่เราก็ไม่ประมาท และในช่วงสิ้นปีเป็นโอกาสที่ดี ประกอบกับสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มั่นใจว่าจีดีพีปี’65 จะมากกว่า 3% และรัฐบาลมั่นใจว่าจีดีพีปีนี้ 3+ ดีกว่าที่คาดไว้

“ปลายปีเป็นช่วงที่จะกระตุ้นให้มีการใช้จ่าย เพราะการอุปโภคบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญ โดยจะนำแพ็กเกจเข้า ครม.เห็นชอบให้ได้เร็วที่สุด คาดว่าราวกลาง พ.ย.พร้อมกับของขวัญปีใหม่”

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบงบฯกลางปี’66 วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อขยายเวลาช่วยเหลือราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน ต.ค.ไปจนถึง ธ.ค. 2565

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีกำลังดูอยู่ เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า โดยการลทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีผลต้นปี

กระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลเตรียมนำมาตรการช้อปดีมีคืน กลับมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีอีกครั้ง หลังจากหลายปีก่อนมีมาตรการช้อปช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีมาตลอด แต่มาปี 2564 ไม่มีมาตรการกระตุ้นตอนปลายปี แต่มากระตุ้นต้นปี 2565 แทน โดยใช้ชื่อว่า “ช้อปดีมีคืน”

ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา จะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าสัปดาห์ต่อไปจะทำให้ปีนี้มีช้อปดีมีคืน/ช้อปช่วยชาติออกมากระตุ้นทั้งต้นปีและปลายปี

“เบื้องต้นหารือกันว่ามาตรการจะเริ่มตั้งแต่ 8 พ.ย.-31 ธ.ค. 2565 โดยให้วงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาทเช่นเดียวกับต้นปี ทำให้ปีนี้ผู้เสียภาษีใช้สิทธิลดหย่อนภาษีถึง 60,000 บาท ซึ่งจะสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ได้ VAT กลับมา”
ท่องเที่ยวได้สิทธิลดหย่อน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การดำเนินมาตรการรอบปลายปีนี้ จะให้สิทธิสำหรับรายจ่ายค่าที่พักโรงแรมด้วย จากที่มาตรการตอนต้นปีไม่ได้ให้สิทธิตรงนี้ เนื่องจากตอนนั้นมีมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว คือ “เที่ยวทั่วไทย” ซึ่งมีการลดหย่อนภาษีให้อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี รอบนี้ไม่มี “เที่ยวทั่วไทย” แล้ว ประกอบกับไม่มีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เนื่องจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท เงินหมดแล้ว จึงต้องใช้ช้อปดีมีคืน ซึ่งเป็นมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นทั้งการจับจ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศไตรมาสสุดท้าย

“รอบนี้ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตต่าง ๆ จะได้ด้วย ถ้าเป็นกิจการที่มีการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้หมด” แหล่งข่าวกล่าว

สูญรายได้ภาษี 4,900 ล้าน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า มาตรการรอบนี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 1.1 ล้านราย โดยประเมินว่ากรมสรรพากรจะสูญเสียรายได้ภาษีทั้งสิ้น 4,900 ล้านบาท แต่จะช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 33,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

และปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีโครงการช้อปลดหย่อนภาษีทั้งต้นปีและปลายปี ซึ่งหากประชาชนผู้เสียภาษีมีการช็อปเต็มเพดาน 60,000 บาท สำหรับผู้ที่มีฐานภาษี 30% ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีถึง 18,000 บาท หรือผู้ที่เสียภาษีอัตรา 20% ก็จะได้รับการลดหย่อนถึง 12,000 บาท ก็ถือเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

โฆษกคลังรับข้อเสนอเอกชน

ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีมีข้อเสนอจากภาคเอกชน ให้นำมาตรการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ลดหย่อนภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งนั้น ที่ผ่านมาในช่วงต้นปี 2565 กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังก็พร้อมรับเป็นข้อเสนอไปพิจารณา หากภาคเอกชนเสนอมา ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังคาดว่าในช่วงเดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป หลาย ๆ กระทรวงก็จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือเรื่องการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปลายปีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ขณะนี้ยังต้องรอนโยบายจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะเรียก สศค.หารือเร็ว ๆ นี้

ส่วนกรณีที่สำนักงบประมาณระบุว่า ได้เตรียมงบประมาณไว้ใช้สำหรับโครงการคนละครึ่ง เฟส 6 นั้น นายพรชัยกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังยังติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการของคนละครึ่งเฟส 5 อยู่ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 16 ต.ค. 2565 มียอดใช้จ่ายสะสมแล้ว 3.43 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้ใช้สิทธิครบวงเงิน 800 บาทแล้ว 8.75 ล้านราย คิดเป็น 36% ของผู้รับสิทธิทั้งหมด

สำนักงบฯเตรียมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบฯกลางปี 2566 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินเบื้องต้น 2.3 หมื่นล้านบาท สำหรับเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ส่วนจะมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 6 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย สำนักงบประมาณมีหน้าที่เพียงจัดสรรงบประมาณไว้รองรับ ขณะนี้รอกระทรวงมหาดไทยประเมินความเสียหายจากอุทกภัยหลังน้ำลดก่อน จึงจะสามารถบอกได้ว่าจะต้องใช้งบประมาณสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนเท่าไหร่”

สภาพัฒน์แนะเก็บกระสุนปี’66

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงประเมินว่าช่วงปลายปี 2565 อาจจะยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่จะต้องเข้าไปดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม แล้วเก็บกระสุนที่มีอยู่เอาไว้ไปใช้ในปี 2566 เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ประเมินว่าจะชะลอตัวลง รวมถึงการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วย

“ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2565 ประเทศไทยยังไม่น่าเป็นห่วง อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัวกลับมาเรื่อย ๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปีหน้า เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็มีการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% และเรื่องเงินเฟ้อก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแบบไหนต่อ และไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันตอนนี้ ยุโรป อเมริกา หรือจีน การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจก็น่าเป็นห่วง ฉะนั้นปีหน้าหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ และมีผลต่อประชาชนด้วย”

ทั้งนี้ ยอมรับว่าหลังจากที่ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทสิ้นสุดลง งบประมาณในการดูแลเศรษฐกิจมีจำกัด ต้องดูว่าหากผ่านไปแล้วครึ่งปี การจัดเก็บรายได้ของรัฐจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่สามารถดำเนินการได้ หากรายได้จัดเก็บเกินเป้าหมาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วยว่าจะเดินในรูปแบบไหน

ย้อนรอย “ช้อปดีมีคืน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการช้อปดีมีคืนเคยถูกนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา และนำกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2565 นี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบกิจการการผลิตสินค้าท้องถิ่น โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 65 ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับ “ช้อปดีมีคืน” ช่วงต้นปี 2565 ซึ่งจะยื่นแบบและชำระภาษีในช่วงต้นปี 2566 จากการประเมินสถานการณ์ใช้จ่ายของประชาชนในระยะเวลา 46 วัน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 6,200 ล้านบาท แต่จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่า 42,000 ล้านบาท ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.12% และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มากขึ้น

ท่องเที่ยว-โรงแรมเด้งรับ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงน้ำท่วม ทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว ดังนั้นมาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย

“ทุกมาตรการที่ออกมาส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งสิ้น ในมุมของภาคเอกชนต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเชื่อว่าหากมีโครงการช้อปช่วยชาติ หรือช้อปดีมีคืน ออกมากระตุ้นในช่วงปลายปีนี้ จะยิ่งทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีกำลังขับเคลื่อนในปีหน้าต่อไป”

นอกจากนี้ ภาคเอกชนมองว่าที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวยังได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณทำการตลาดที่น้อยมาก จึงอยากเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนด้านงบประมาณให้กับหน่วยงานด้านการทำการตลาด อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) สำหรับเป็น booster shot เพื่อกระตุ้นตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาโดยเร็ว

เช่นเดียวกับ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบที่น่าจะได้ผลระดับหนึ่ง เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลเคยใช้และได้ผลมาแล้วในอดีต ซึ่งน่าจะเป็นบูสเตอร์ชอตที่ดีมาก ๆ ที่จะออกมาช่วยบรรเทาส่งผลกระทบได้บ้างแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

“ตอนนี้หลายโรงแรมกลับมาอยู่ในภาวะฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น และเริ่มเกือบจะยืนกันได้บ้างแล้ว ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมาก็เห็นความชัดเจนขึ้น และคาดว่าจะยิ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ พ.ย.เป็นต้นไป แต่ประเด็นตอนนี้คือ ภาวะการฟื้นยังไม่ทั่วถึงนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังกลับมาเพียงแค่ประมาณ 20% เท่านั้น”

CPN ชี้ปลุกกำลังซื้อกลาง-บน

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า ช่วงก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่นี้ หากภาครัฐมีแคมเปญกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี ไม่ว่าจะในรูปแบบกระตุ้นช็อปปิ้งหรือท่องเที่ยว จะสามารถกระตุ้นการตัดสินใจผู้บริโภคระดับกลางที่เป็นกลุ่มที่ต้องเสียภาษีได้เป็นอย่างดี เมื่อรวมกับช่วงเทศกาลปลายปี ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจค้าปลีกที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยสูงอยู่แล้ว และกำลังซื้อระดับกลาง-บนที่เริ่มกลับมา น่าจะทำให้แนวโน้มการใช้จ่ายปลายปีดีขึ้นอีก

ค้าปลีกขอเพิ่มลดหย่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะการทำโครงการช้อปดีมีคืน พร้อมเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท 3 ครั้ง คือ ต้นปี กลางปี และปลายปี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และดำเนินโครงการคนละครึ่ง รวมทั้งไทยเที่ยวไทย ต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี เนื่องจากแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่จะพบว่าสถานการณ์ของกำลังซื้อที่อ่อนแอ และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการค้าปลีก แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การนำโครงการช้อปช่วยชาติกลับมาในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงของเทศกาลจับจ่าย คาดว่าจะช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายมีความคึกคักมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เข้าร่วมโครงการประมาณ 1.5 ล้านคน ทั้งนี้ หากรัฐบาลกำหนดเพดานการใช้จ่ายอยู่ที่ 100,000 บาท ก็จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดมากถึง 1.5 แสนล้านบาท