แม็คโคร-โลตัส เด้งรับเศรษฐกิจฟื้น ปูพรมสาขาไทย-เทศ/ซินเนอร์ยีเสริมแกร่ง

“สยามแม็คโคร” กางแผนบุกไทย-ต่างประเทศ เดินหน้าลงทุนเพิ่มสาขาในเมียนมา-กัมพูชา พร้อมซินเนอร์ยี 2 ธุรกิจ มุ่งการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน ลดต้นทุน เสริมประสิทธิภาพธุรกิจ เพิ่มความแข็งแกร่ง พร้อมประกาศหาช่องทางเพิ่มรายได้ใหม่ ประกาศทยอยเพิ่มสาขาในเมียนมา-กัมพูชา ส่วนธุรกิจค้าปลีก “โลตัส” ชูสาขา “นอร์ธ ราชพฤกษ์” เป็นโมเดลต้นแบบ ยกระดับ 200 ไฮเปอร์มาร์เก็ต พร้อมปูพรมสาขาคอนวีเนียร์ “โก เฟรช” 200 สาขา ตั้งเป้าโตเป็นดับเบิลดิจิต

ผลการดำเนินงานของสยามแม็คโครที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย การเปิดประเทศที่หนุนให้ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ทำให้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 65) มียอดขายรวมมากกว่า 329,000 ล้านบาท และมีกำไรกว่า 5,200 ล้านบาท จากนี้ไปสยามแม็คโคร ที่วันนี้มีทั้งธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” (B2B) และธุรกิจค้าปลีก “โลตัส” (B2C) ได้ประกาศเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

กราฟฟิกแม็คโคร-โลตัส

แม็คโครบุกไทย-เทศ

นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน Opportunity Day เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า จากนี้ไปบริษัทยังมีแผนจะลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” (B2B) และธุรกิจค้าปลีก “โลตัส” (B2C) โดยในส่วนของแม็คโคร ไตรมาสสุดท้ายนี้มีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง สำหรับตลาดในประเทศ ได้แก่ อุตรดิตถ์, พัฒนาการ, เมืองทอง, เลียบคลอง 2 และอ้อมน้อย ส่วนต่างประเทศ 3 แห่ง ที่ Delhi (อินเดีย), Guangzhou Panya Dashi (จีน) และกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายสาขาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดสาขาที่ 2 ในเมียนมา ซึ่งเมียนมาเป็นตลาดที่มีการเติบโตมากที่สุดใน 4 ประเทศที่แม็คโครมีสาขาอยู่ เช่นเดียวกับกัมพูชาที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และตอนนี้กัมพูชาก็เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแล้ว โดยจะเปิดสาขาที่ 3 เมืองจรอย จางวาร์ (Chroy Changvar) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ ซึ่งเพิ่งซอฟต์ลอนช์ไปเมื่อกลางเดือน พ.ย. และเปิดเป็นทางการวันที่ 14 ธ.ค. จากเดิมที่มี 2 สาขา (พนมเปญและเสียมเรียบ)

“ส่วนอินเดียตอนนี้อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นค้าส่งเพียงอย่างเดียว และอยู่ระหว่างการปรับเพื่อให้มีความแข็งแกร่งในเรื่องอาหารสด และ food service เช่นเดียวกับเมืองจีนที่ยังมีอุปสรรคจากนโยบาย Zero COVID และขณะนี้ได้ส่งผู้ชำนาญเรื่อง food service ลงไปช่วย และสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยมเข้าไปขาย รวมทั้งการทำธุรกิจออนไลน์ ที่ผ่านมาการเติบโตหลัก ๆ กลุ่ม HoReCa และกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นเซอร์วิสเซ็กเตอร์ ขณะเดียวกัน ก็มีศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ ถ้ามีโอกาสไปได้แล้วสามารถทำกำไรได้เร็วแม็คโครก็จะไป”

“โลตัส” เร่งยกระดับไฮเปอร์

นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจโลตัสประเทศไทย บริษัท สยามแม็คโคร กล่าวเสริมว่า สำหรับธุรกิจค้าปลีก หรือโลตัส แนวโน้มที่จะเกิดในไตรมาส 4 หลัก ๆ จะอยู่ที่การพัฒนาสำคัญของโลตัส คือการพัฒนารูปแบบใหม่ เพื่อปรับปรุงและยกระดับไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่ ด้วยการใช้โมเดลของโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ที่เป็นสมาร์ทคอมมิวนิตี้ เซ็นเตอร์ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมากทั้งฝั่งลูกค้าและฝั่งคู่ค้า เป็นต้นแบบที่จะนำไปต่อยอดในอนาคต

เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน รวมถึงการต่อยอดในการใช้พื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นัก เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

โดยตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป และในปีถัด ๆ ไป จะได้เห็นโลตัสเริ่มปรับสาขาเดิมที่มีอยู่กว่า 200 สาขา ให้ใกล้เคียงรูปแบบที่เป็นสมาร์ทคอมมิวนิตี้เซ็นเตอร์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ปีหน้าตั้งเป้าจะใช้ โลตัส โก เฟรช เป็นหัวหอกในการสร้างการเติบโตในตลาดเมืองไทยโดยตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 200 สาขา จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 2,000 สาขา และตามแผนในช่วงไตรมาส 4 จะเปิด โลตัส โก เฟรช เพิ่มอีก 25 สาขา

นอกจากนี้ ก็จะนำแนวคิดการยกระดับไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทยไปทำที่ประเทศมาเลเซียด้วย เนื่องจากในมาเลเซียเองไฮเปอร์มาร์เก็ตนั้นถือเป็น core business ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะได้นำศักยภาพและความสามารถของแม็คโครที่มีอยู่ไปใส่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มาเลเซียด้วย ซึ่งทำให้สามารถทำธุรกิจได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะ B2C จากนี้ไปก็จะเท่ากับว่าโลตัสที่มาเลเซียมีธุรกิจที่เป็น B2B เพิ่มเข้ามาด้วย

“ปีหน้า โลตัส ทั้งเมืองไทยและมาเลเซียตั้งเป้าการเติบโตเป็นดับเบิลดิจิต โดยตัวขับเคลื่อนสำคัญจะมาจากการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม SSSG ทั้งคู่เลย และจะเป็นปีที่ recover ได้เต็มทั้งปี เนื่องจากปัจจัยหนุนในแง่ของสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และนักท่องเที่ยวก็จะเป็นปัจจัยบวกและหนุนการเติบโตของธุรกิจ ไฮเปอร์มาร์เก็ต จากทราฟฟิกจะกลับเข้ามามากขึ้น

รวมถึงในการปรับเป็นสมาร์ทคอมมิวนิตี้มอลล์ และอีกสิ่งหนึ่งคือช่องทางออนไลน์ หลังจากที่ปีนี้ทั้งปีที่ได้ใช้เวลาในการวางรากฐาน ตั้งแต่การลอนช์แอปใหม่ ปัจจุบันนี้ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าแอปของเราใช้งานได้ง่าย (user-friendly) แล้ว ฉะนั้น ปีหน้าสิ่งนี้ที่ช่วยให้การเติบโตของช่องทางนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเต็มที่”

ผนึกกำลังสร้างความแกร่ง

นางเสาวลักษณ์กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ทั้งแม็คโคร และโลตัส ก็จะมีการทำงานร่วมกัน (synergy) ในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินร่วมกัน บริหารเงินสด รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เหมาะสมกับแหล่งที่มาของรายได้

รวมถึงการแบ่งปันหรือแชร์วิธีการ หรือแนวทางในการปฏิบัติหรือทำงานต่าง ๆ อาทิ เรื่องเกี่ยวกับแบ่งประเภท แยกประเภท (assortment) ของสินค้า เช่น สินค้าแช่แข็ง อาหารสด ที่แม็คโครมีความเชี่ยวชาญ ก็จะแชร์วิธีและแนวทางให้กับกลุ่มธุรกิจรีเทล

หรือในส่วนไม่ใช่การค้า (nontrade) ก็จะมีการประสานความร่วมมือกัน เช่น การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับใช้ในสโตร์ใหม่ร่วมกัน รวมถึงการพยายามที่จะสร้างแหล่งของรายได้เพิ่ม เช่น การศึกษา เพื่อเพิ่มรายได้จากค่าเช่า ซึ่งทีมรีเทลมีความเชี่ยวชาญทางด้านที่เกี่ยวกับการบริหารพื้นที่เช่าอยู่แล้ว แต่ธุรกิจค้าส่งซึ่งก็มีพื้นที่เช่าของตัวและหลาย ๆ แห่งก็อยู่ในไพรมแอเรียและยังไม่ได้พัฒนา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างกระบวนการศึกษา

ส่วนเรื่องซัพพลายเชน กับประสิทธิภาพด้านการขนส่ง รวมถึงบริการดีลิเวอรี่ ก็จะมีการใช้สโตร์ของทั้งแม็คโครและโลตัสให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันสำหรับธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” (B2B) มีสาขาทั้งสิ้น 154 สาขา แบ่งเป็นในประเทศไทย 147 สาขา กัมพูชา 2 สาขา อินเดีย 3 สาขา จีน 1 สาขา เมียนมา 1 สาขา ส่วนธุรกิจค้าปลีก “โลตัส” (B2C) 64 สาขา แบ่งเป็นในประเทศไทย 2,580 สาขา มาเลเซีย 64 สาขา