ชวาร์สคอฟชิงซาลอน 4 พันล้าน ฮุบ 2 แบรนด์ชิเซโด้ขยายฐาน

“เฮงเค็ล” รุกหนักตลาดเส้นผมซาลอน 4 พันล้าน ควบ 2 แบรนด์จากเครือชิเซโด้ เสริมแกร่ง “ชวาร์สคอฟ” เพิ่มส่วนแบ่งตลาดทำสี-บำรุง-ดัดยืด ผนึกกูรูเจาะช่างผมมืออาชีพ คาดตลาดรวมกลับมาโต 5%

นายธีรศักดิ์ ไตรทิพย์ ผู้จัดการทั่วไป ชวาร์สคอฟ โปรเฟสชั่นแนล (ประเทศไทย) บริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในช่องทางซาลอน ร้านเสริมสวย (โปรเฟสชั่นแนล) ภายใต้แบรนด์ ชวาร์สคอฟ โปรเฟสชั่นแนล กล่าวว่า เฮงเค็ลมีเป้าหมายเป็นผู้นำตลาดสินค้าความงามโปรเฟสชั่นแนล (beauty care professional) โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือการควบรวมแบรนด์ที่แข็งแรงเข้ามาเสริมพอร์ต

ล่าสุดบริษัทแม่ได้ควบรวมแบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมสัญชาติอเมริกัน จอยโก้ (JOICO) ที่แข็งแรงในเรื่องทำสีและการบำรุง และโซโตส (ZOTOS) ที่เด่นเรื่องน้ำยาดัดผม จากเครือชิเซโด้ เข้ามาอยู่ในกลุ่มสินค้าความงามโปรเฟสชั่นแนลของเฮงเค็ล ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยดำเนินการในแต่ละประเทศ ซึ่งในไทยได้เข้ามาดูแลการขายและการทำการตลาดทั้ง 2 แบรนด์อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมโปรเฟสชั่นแนลในไทยมีมูลค่า 4,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 แคทิกอรี่ ได้แก่ เปลี่ยนสีผม 30%, ดูแลเส้นผม 30%, ดัด-ยืด 30% และจัดแต่งทรงผม 10% กว่าครึ่งหนึ่งเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์อินเตอร์แบรนด์ อาทิ ลอรีอัล, ชวาร์สคอฟ, ชิเซโด้, เวลล่า ฯลฯ ปีนี้คาดว่าตลาดรวมจะเติบโตได้ราว 5% จากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี จากพฤติกรรมคนไทยทั้งชายหญิงที่นิยมทำสีผมแฟชั่นมากขึ้น แนวโน้มอายุผู้ที่เริ่มทำสีผมเด็กลงเรื่อย ๆ ประกอบกับการทำสีเพื่อปิดผมขาวก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้ตลาดทำสีขยายตัว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการบำรุงเส้นผมหลังการทำสีมากขึ้น โดยมีสื่อดิจิทัลทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเทรนด์ความงามและสินค้าด้านเส้นผมมากขึ้น

ปัจจุบัน เฮงเค็ล (ชวาร์สคอฟ) มีส่วนแบ่งอันดับ 2 ในตลาดโปรเฟสชั่นแนล การมีอีก 2 แบรนด์เข้ามาทำตลาดเพิ่มในไทยจะช่วยให้เฮงเค็ลมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มแฮร์โปรเฟชั่นแนลเพิ่มขึ้น เข้าถึงความต้องการของช่างผมได้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในกลุ่มทำสีผม ดูแลเส้นผม และดัด-ยืดผม ซึ่งกลยุทธ์การตลาดสำคัญ คือ การให้ความรู้ เอดูเคตผู้ใช้โดยเฉพาะช่างผมต่อเนื่อง สื่อสารผ่านกูรูด้านทรงผมใน 2 ช่องทาง คือการจัดงานสัมมนาให้ความรู้แบบตัวต่อตัว รวมทั้งการให้ความรู้ผ่านช่องทางดิจิทัล อะคาเดมี ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น

“ช่างผมหรือสไตลิสต์จะมีแบรนด์ในใจ มีลอยัลตี้กับแบรนด์ที่คุ้นเคย ขณะที่เอนด์ยูสเซอร์ก็จะมีลอยัลตี้กับช่างผมที่มั่นใจเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันชวาร์สคอฟเข้าถึงร้านซาลอนกว่า 30% ของร้านทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 3-5 หมื่นร้าน”