เปิดประวัติ MAKRO ในวันที่ไม่ได้มีแค่ธุรกิจค้าส่งเพียงอย่างเดียว

CP AXTRA MAKRO LOTUS'S

เปิดประวัติ MAKRO (แม็คโคร) ห้างค้าส่งยืน 1 ของกลุ่มซีพี ในวันที่เปลี่ยนชื่อใหม่ จาก “สยามแม็คโคร” สู่ “CP AXTRA” และไม่ได้มีแค่ธุรกิจด้านค้าส่งอย่างเดียวอีกแล้ว

หลังจากคณะกรรมการบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (SET: MAKRO) แจ้งมติต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ถึงการเปลี่ยนชื่อ “บมจ.สยามแม็คโคร (Siam Makro)” เป็น “บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CP AXTRA)”

นับเป็นเวลา 1 ทศวรรษแล้ว ที่ธุรกิจค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นที่รู้จักของผู้ประกอบธุรกิจ กลับเข้ามาอยู่ใต้ชายคาของกลุ่มซีพี และในวันนี้ แม็คโคร (MAKRO) ที่กำลังจะเป็น “ซีพี แอ็กซ์ตร้า” ก็ไม่ได้มีแค่ธุรกิจค้าส่งอีกต่อไปแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนเส้นทาง แม็คโคร จากจุดเริ่มต้นสู่ทุกวันนี้

จุดเริ่มต้น แม็คโคร จากต่างประเทศสู่ประเทศไทย

แม็คโคร (Makro) เป็นแบรนด์ห้างค้าส่งจากประเทศเนเธอร์แลนด์ วางคอนเซ็ปต์การเป็นห้างค้าส่ง รูปแบบ Cash & Carry หรือการค้าส่งระบบสมาชิก ที่ให้ลูกค้าจ่ายด้วยเงินสดและขนของกลับบ้านได้เอง เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2511 โดยกลุ่ม SHV มีสาขาแรกอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม

สำหรับประเทศไทย แม็คโคร เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2531 โดยการร่วมทุนระหว่าง SHV จากเนเธอร์แลนด์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดสาขาแรกในไทยที่ ลาดพร้าว เมื่อปี 2532 และเริ่มขยายสาขามาอย่างต่อเนื่อง

ก่อนจะเจออุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ อย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ที่ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ต้องขายบางธุรกิจออกไป และกลับมาโฟกัสในธุรกิจหลัก

หนึ่งในธุรกิจที่ถูกขายไป คือ สยามแม็คโคร และโลตัส ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของเครือ ซี.พี. ด้านการค้าปลีก-ค้าส่ง

แม็คโคร และการกลับมาอยู่ภายใต้ชายคา “เครือ ซี.พี.”

หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ทำให้ เครือ ซี.พี. ต้องตัดใจขายธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งออกไป เพื่อให้ยังอยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนั้นได้

เมื่อปี 2556 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นของสยามแม็คโคร และ สยาม ฟู้ด เซอร์วิส (Siam Food Service) จาก SHV Nederland B.V. ผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น และทำให้ ซีพี ออลล์ ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของสยามแม็คโคร

ระหว่างทาง 10 ปี ของสยามแม็คโคร ยังคงเติบโต มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2564 หรือช่วง 1 ปี หลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าดูแลกิจการโลตัสส์ (Lotus’s) ทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย เครือ ซี.พี.มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ โอนย้ายกลุ่มธุรกิจ โลตัสส์ เอเชีย-แปซิฟิก จาก บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) มาอยู่ภายใต้การดูแลของสยามแม็คโคร

และล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ จาก “สยามแม็คโคร (SET : MAKRO)” เป็น “ซีพี แอ็กซ์ตร้า (SET : CPAXT)” โดยจะมีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้

ชื่อบริษัทเปลี่ยน แต่แบรนด์ธุรกิจ ยังไม่เปลี่ยน

มติการเปลี่ยนชื่อบริษัทที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความสงสัยในวงกว้างว่า เปลี่ยนทำไม ? จะมีการเปลี่ยนแบรนด์ใหม่หรือไม่ ?

ล่าสุด มีการชี้แจงจากบริษัทเป็นที่เรียบร้อยว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่อให้สะท้อนภาพของธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งค้าส่ง และค้าปลีก รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนการดำเนินธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกยังคงใช้แบรนด์เดิม คือ “แม็คโคร” (Makro) สำหรับธุรกิจค้าส่ง ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกยังดำเนินการภายใต้แบรนด์ “โลตัสส์” (Lotus’s) เช่นเดิม

ส่องธุรกิจในมือ “สยามแม็คโคร” หรือ “ซีพี แอ็กซ์ตร้า”

ปัจจุบันธุรกิจภายใต้ บมจ.สยามแม็คโคร มี 2 ส่วนหลัก คือ ธุรกิจด้านค้าส่ง และธุรกิจด้านค้าปลีก โดยแบ่งเป็น

ธุรกิจค้าส่ง ภายใต้แบรนด์ “แม็คโคร (Makro)” 6 รูปแบบสาขา

  • ศูนย์จำหน่ายสินค้ารูปแบบคลาสสิก (Classic Store)
  • ศูนย์จำหน่ายสินค้ารูปแบบ อีโค พลัส (Eco Plus Store) เพิ่มสัดส่วนพื้นที่จำหน่ายอาหารสด
  • ศูนย์จำหน่ายสินค้ารูปแบบ ฟู้ดเซอร์วิส (Foodservice Store) พื้นที่ขนาด 1,000-5,000 ตร.ม. สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการร้านอาหาร (HoReCa)
  • ศูนย์จำหน่ายสินค้ารูปแบบ ฟู้ดช็อป (Food Shop) พื้นที่ขนาดต่ำกว่า 1,000 ตร.ม. สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการร้านอาหาร (HoReCa) ขนาดกลางและขนาดเล็ก
  • เฟรชแอทแม็คโคร (Fresh@Makro Store)
  • สยามโฟรเซ่น (Siam Frozen Shop)

พร้อมทั้งช่องทางออนไลน์ makroclick.com/Makro PRO แพลตฟอร์ม B2B Online Marketplace ในชื่อ “maknet” และแบรนด์ร้านค้าปลีกชุมชน “บัดดี้มาร์ท (Buddy Mart)”

ธุรกิจค้าปลีก ภายใต้แบรนด์ “โลตัสส์ (Lotus’s)”

ธุรกิจ Lotus’s ภายใต้การดูแลของสยามแม็คโคร มีอยู่ใน 2 ประเทศ ดังนี้

ประเทศไทย

  • ช่องทางออฟไลน์ 3 รูปแบบสาขา – ไฮเปอร์มาร์เก็ต (H-Store), Go Fresh (ซูเปอร์มาร์เก็ต, มินิซูเปอร์มาร์เก็ต)
  • ช่องทางออนไลน์

ประเทศมาเลเซีย

  • ช่องทางออฟไลน์ 2 รูปแบบสาขา – ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต
  • ช่องทางออนไลน์

โดยการชี้แจงผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ระบุว่า ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ภายใต้ บมจ.สยามแม็คโคร มีสาขาอยู่ดังนี้

  • Makro ประเทศไทย 152 สาขา พื้นที่รวม 811,622 ตร.ม.
  • Makro ต่างประเทศ 10 สาขา พื้นที่รวม 43,269 ตร.ม.
  • Lotus’s ประเทศไทย 2,578 สาขา พื้นที่ขายรวม 1,531,317 ตร.ม. พื้นที่ให้เช่ารวม 745,249 ตร.ม.
  • Lotus’s มาเลเซีย 65 สาขา พื้นที่ขายรวม 290,986 ตร.ม. พื้นที่ให้เช่ารวม 316,434 ตร.ม.

ขณะที่รายได้หลักของ สยามแม็คโคร ณ วันนี้ อยู่ที่ธุรกิจค้าส่งเป็นหลัก ตามมาด้วยธุรกิจค้าปลีก และการให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565

ข้อมูลจาก SHV Group, Siammakro (ประวัติ,แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2564 (แบบ 56-1 One Report),รายงานประจำปี 2564), CP-Story