MAKRO ย้ำธุรกิจค้าส่ง ใช้ชื่อแบรนด์เดิม เปลี่ยนเฉพาะชื่อบริษัท-ตัวย่อหุ้น

ยักษ์ค้าส่งย้ำยังคงดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์ค้าส่งเดิมคือ “แม็คโคร” (Makro) เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกภายใต้แบรนด์ “โลตัสส์” (Lotus’s) พร้อมเผยแนวโน้มการดำเนินงานปี’66 และผลประกอบการปี’65

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 บมจ.สยามแม็คโคร ชี้แจงกรณีการเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์ใหม่จาก MAKRO เป็น “CPAXT” ว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อให้สะท้อนภาพของธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งค้าส่ง และค้าปลีก รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนการดำเนินธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกยังคงใช้แบรนด์เดิม คือ “แม็คโคร” (Makro) สำหรับธุรกิจค้าส่ง ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกยังดำเนินการภายใต้แบรนด์ “โลตัสส์” (Lotus’s) เช่นเดิม

พร้อมกันนี้ นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ยังเปิดเผยแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ว่า จะเดินหน้าขยายสาขาและพัฒนาช่องทาง O2O พร้อมตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจจำหน่ายอาหารสด เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง หลังเห็นสัญญาณบวกจากกำลังซื้อในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ต่อเนื่องกับผลบวกจากโครงการช้อปดีมีคืนที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่คึกคักขึ้น

แม็คโคร-โลตัสส์หนุนรายได้พุ่ง 76.1%

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา ธุรกิจค้าส่งภายใต้แม็คโคร และธุรกิจค้าปลีกภายใต้โลตัสส์ ต่างเติบโตส่งผลให้รายได้และกำไรสุทธิเติบโต โดยมีรายได้รวม 469,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 266,367 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 7,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,973 ล้านบาท (ไม่รวมรายการกำไรทางบัญชีจากการรวมธุรกิจแบบขั้นที่เกิดจากการรวมธุรกิจค้าปลีกเข้ามาเมื่อตุลาคม 2564)

ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายเพิ่มขึ้นเป็น 14.2% โดยมีปัจจัยมาจากการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องและปรับรูปแบบสาขาให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเติบโตของธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสที่มีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มโฮเรก้า ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและจัดเลี้ยง อีกทั้งการวางกลยุทธ์เพิ่มยอดขายผ่านช่องทาง O2O (Online to Offline)

ลุ้นปันผล 0.33 บาทต่อหุ้น พ.ค. 66

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริษัทมีมติเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 จ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานปี 2565 ในอัตรา 0.51 บาทต่อหุ้น โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วในอัตรา 0.18 บาทต่อหุ้น คงเหลือที่จะต้องจ่ายอีก 0.33 บาทต่อหุ้น ซึ่งวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 28 เมษายน 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวของบริษัทยังมีความไม่แน่นอนจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าว