“เหล้า-เบียร์” เจ๊กอั้ก ! ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม-สุดโหด

ผับ-บาร์
อัพเดตล่าสุด 1 มิ.ย. 2566 เวลา 00.20 น.

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ได้ส่งหนังสือ ที่ สธ. 0417.4/ว38 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2566 ลงนามโดยนายพงศธร ชาติพิทักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงผู้ประกอบการเหล้าเบียร์

เพื่อขอให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่…) พ.ศ….ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค ในช่วงระหว่างวันที่ 1-18 มิ.ย.นี้ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

สาระสำคัญกฎหมายใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม มีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดเวลาห้ามการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/1)

2.กำหนดให้ผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งเตือนการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด รวมถึงมีหน้าที่ควบคุม ดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดังกล่าว (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/2)

3.กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น (ร่างมาตรา 27 เพิ่มมาตรา 34 (2))

4.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31/1 และมาตรา 31/2 (ร่างมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 39/1 และมาตรา 39/2)

และ 5.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34/6 (ร่างมาตรา 33 เพิ่มมาตรา 44/1)

ร่างกฎหมายใหม่ กระทบหนัก

“อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์” กรรมการบริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ในฐานะประธานชมรมผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า เจ้าของสถานบันเทิงกลางคืน ผับ บาร์ ร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านข้าวต้มโต้รุ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม เพราะใบอนุญาตขายสุราประเภท 2 ที่จะกระทบครอบคลุมไปถึงในส่วนของมินิบาร์ตามห้องพักต่าง ๆ ด้วย นั่นหมายถึงว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบตามอย่างมาก ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคด้วย

“ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิม เปิดให้มีการซื้อขายได้ 2 ช่วงคือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ไม่ได้มีการห้ามดื่ม แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ กำหนดการห้ามดื่มเอาไว้ ยกตัวอย่าง ผับบาร์ที่เปิดได้ถึง 02.00 น. ปกติเขาจะขายเหล้าเบียร์และเช็กบิลก่อนเที่ยงคืน ซึ่งสิทธิของเครื่องดื่มดังกล่าวก็จะเป็นของผู้บริโภค เขามีสิทธิที่จะนั่งดื่มกินไปจนถึงร้านปิด 02.00 น. แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ลูกค้าที่ซื้อเหล้าและจ่ายเงินไปแล้วก็ไม่สามารถดื่มในร้านได้ การดื่มในร้านหลังเที่ยงคืนถือว่าเป็นความผิด และร้านก็จะมีความผิดด้วย อันนี้ผมว่าการท่องเที่ยวจะวินาศสันตะโร”

ประธานชมรมผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยยังกล่าวด้วยว่า ที่น่ากังวลอีกเรื่องก็คือ ร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้เพิ่มอำนาจให้กับเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก (มาตรา 34) สามารถทำได้เหมือนหน่วยเฉพาะกิจ ตั้งแต่การเข้าไปตรวจสอบ เรียกดูบัตรประชาชน ยึดอายัด เรียกให้เข้ามาให้ปากคำ เท่ากับว่ามีอำนาจทำแทนตำรวจได้ทั้งหมด จากเดิมที่จะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือที่ผ่านมา กรณีที่กรมสรรพสามิต จะเข้าตรวจสอบก็ต้องมีตำรวจไปด้วย

หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ การโฆษณาน้ำดื่มที่มีชื่อหรือเครื่องหมายเป็นเหล้าเบียร์ก็จะไม่สามารถทำได้ (มาตรา 32/2) ยกตัวอย่าง น้ำดื่มสิงห์ โซดาสิงห์ (บุญรอด) น้ำดื่มช้าง โซดาช้าง (ไทยเบฟฯ) ที่เขามีมาก่อน และทำมาก่อนจะมีกฎหมายตัวนี้มีผลบังคับใช้

“การร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา เป็นการมองเฉพาะในมุมผู้ร่างเพียงมุมมองเดียว ไม่ได้คิดถึงมุมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ การเปิดประชาพิจารณ์ที่ทำขึ้นก็เพื่อเป็นการทำให้ครบตามกระบวนการเท่านั้น ไม่ได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวจะพยายามประสานกับผู้ประกอบการสมาคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมโรงแรม สมาคมท่องเที่ยว รวมถึงสาธารณชนให้รับทราบถึงความเคลื่อนไหวนี้ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจและผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อจะได้มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่กำลังทำประชาพิจารณ์”

“ห้ามดื่ม” กระทบสิทธิส่วนบุคคล

ไม่ต่างจาก “ธนากร คุปตจิตต์” ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า มีประเด็นที่เป็นข้อน่ากังวลอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการห้ามดื่ม ที่เป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคลมากเกินไป และจะกระทบกับบรรยากาศการท่องเที่ยวหนักขึ้นไปอีก เพราะชาวต่างประเทศเขาไม่รู้ ไม่เข้าใจ

ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 34) ที่มีมากขึ้น หรือเป็นการเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจค้นสถานที่ จากเดิมการตรวจค้นตามประมวลกฎหมายอาญาจะต้องมีหมายค้น และต้องเข้าไปตรวจค้นในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ถึงพระอาทิตย์ตก แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดไว้เพียงว่า “ในเวลาทำการของสถานที่นั้น” (มาตรา 34 (1))

หรือในส่วนของการโฆษณา (มาตรา 32) ก็จะเป็นในลักษณะการห้ามโฆษณาแบบเด็ดขาดมากขึ้น ขณะที่ มาตรา 32/1 เป็นการห้ามโฆษณา ชื่อ เครื่องหมายการค้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อชักจูงผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนมาตรา 32/2 จะกระทบกับน้ำดื่ม โซดา ที่ใช้ชื่อ (แบรนด์) หรือโลโก้ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่มสิงห์ โซดาสิงห์ จะโฆษณาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบการเขาทำหรือมีมาก่อน นอกจากนี้ ยังห้ามในเรื่องของการทำซีเอสอาร์ และห้ามเผยแพร่ด้วย

“ตั้งแต่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มา โดยส่วนตัวมองว่า เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้เศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และการแก้ไขกฎหมายที่กำลังทำอยู่ จะไม่ทำให้ปัญหาลดลง แต่กลับจะกลายเป็นการสร้างปัญหา การออกกฎหมายแบบนี้ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นการออกกฎหมายมาเพื่อกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงประชาพิจารณ์ แต่ท้ายที่สุดต้องมีการนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแก้ไขในรัฐสภาต่อไป”

ไฮไลต์ข้อห้าม-บทลงโทษแรง

มาตรา 32/2 ห้ามผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น หรือโฆษณาโดยการนำเอาชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตัด ต่อเติม หรือดัดแปลงข้อความให้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น ทั้งในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าหมายความถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

มาตรา 32/3 ห้ามผู้ใดให้การอุปถัมภ์ หรือให้การสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เป็นการสร้างภาพลักษณ์ต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

(2) ที่ส่งผลหรือที่อาจส่งผลเสียต่อนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

(3) โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือโฆษณาตามมาตรา 32/2

(4) ส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

(5) ลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม

มาตรา 32/4 ห้ามผู้ใดเผยแพร่กิจกรรมหรือข่าวสาร เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมตามมาตรา 32/3
มาตรา 34 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาทำการของสถานที่นั้น รวมถึงการเข้าตรวจสอบยานพาหนะเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(2) เรียกขอดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใด ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ และปรากฏรูปถ่ายของผู้ถือบัตรเพื่อบันทึกข้อมูล ในกรณีที่มีการกระทำความผิดหรือกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

(3) ตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานหรือวัตถุอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี

(4) ยึดหรืออายัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ขายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

(5) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา

มาตรา 43 หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 หรือมาตรา 32/1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

หากกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำของผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท


นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินวันละห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง