แฟรนไชส์กาแฟ…เฟื่องฟู เบียดโนเนม-รายย่อยกระเจิง

แฟรนไชส์กาแฟ

ยังคงเดินหน้าขยายสาขาด้วยการขายแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับ “บิ๊ก 3” ธุรกิจร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน-พันธุ์ไทย-อินทนิล” สะท้อนจากการประกาศเป้าหมายการเปิดสาขาเพิ่มในปีนี้ของทั้ง 3 ค่ายยังเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง

เริ่มจาก พันธุ์ไทย (พีทีจี เอ็นเนอยี) ที่ตั้งเป้าจะให้ถึง 1,500 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ จากล่าสุดไตรมาสแรกที่ผ่านมามีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 570 สาขา

ขณะที่ อินทนิล ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด (BCR) บริษัทในเครือบางจาก ที่แม้ไม่ได้ระบุจำนวนตัวเลขไว้ แต่ก็ได้ประกาศแนวทางอย่างชัดเจนว่า ตั้งเป้าหมายการขยายร้านกาแฟอินทนิลอย่างต่อเนื่อง จากสิ้นไตรมาสแรกที่มีตัวเลข 1,021 สาขา ควบคู่กับการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะกลุ่ม non beverage รวมทั้งสินค้าพรีเมี่ยม

ไม่ต่างจาก คาเฟ่ อเมซอน (ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์) หมายเลข 1 ของวงการ ที่ก่อนหน้านี้ “ดิษทัต ปันยารชุน” ซีอีโอ โออาร์ เคยประกาศว่า จะใช้งบฯกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทในการขยายสาขา คาเฟ่ อเมซอน และเท็กซัส ชิกเก้น ต่อเนื่อง จากจบไตรมาสแรกที่มีมากกว่า 3,927 สาขา ทั้งในปั๊มน้ำมัน ปั๊มอีวี และปั๊มก๊าซแอลพีจี

เช่นเดียวกับ ธุรกิจร้านกาแฟในเครือ ซี.พี. ที่มีหลากแบรนด์ ราคาที่หลากหลาย อาทิ ออลล์ คาเฟ่, คัดสรร, เบลลินี่, กาแฟมวลชน ,จังเกิ้ล, อราบิเทีย, สตาร์ คอฟฟี่, เชสเตอร์ คอฟฟี่ ที่ยังเดินหน้าเปิดจุดขายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นการลงทุนเองและขายแฟรนไชส์

นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดกาแฟเติบโตต่อเนื่อง

ปั๊มน้ำมันคือทำเลทอง

แหล่งข่าวจากวงการร้านกาแฟรายหนึ่ง วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า ทั้งคาเฟ่ อเมซอน อินทนิล และบางจาก ต่างมีจุดแข็งที่สำคัญคือ เรื่องของโลเกชั่นโดยเฉพาะสาขาที่เปิดอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน

แน่นอนว่าข้อดีของการเปิดในปั๊มก็คือ จำนวนรถยนต์ที่วิ่งเข้าปั๊มในแต่ละวันที่จะมีเป็นจำนวนมาก ทั้งเข้ามาเติมน้ำมัน แวะเข้าห้องน้ำ แวะซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ แวะรับประทานอาหาร ฯลฯ ซึ่งแต่ละวันจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีวันหยุดยาว

นี่คือคีย์ซักเซสของร้านกาแฟที่เปิดในปั๊ม

ว่ากันว่า ร้านกาแฟในปั๊มส่วนใหญ่ สัก 70-80% จะประสบความสำเร็จ เพราะความได้เปรียบในเรื่องของโลเกชั่น และทราฟฟิกที่มีมากมาย

ไม่เพียงเฉพาะการโฟกัสการเปิดสาขาในปั๊มเท่านั้น แต่ทั้ง 3 ค่าย ยังมีโมเดลที่หลากหลายเพื่อให้มีความคล่องตัวและสามารถขยายไปในทุก ๆ พื้นที่ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น โมเดลสแตนด์อะโลน การเปิดร้านในศูนย์การค้า ในอาคารสำนักงาน รวมทั้งการเปิดตามอาคารพาณิชย์ (ห้องแถว) ด้วยขนาดร้าน ตั้งแต่ไซซ์เล็ก (S) ไซซ์กลาง (M) และ ไซซ์ใหญ่ (L) ให้ผู้สนใจได้เลือกลงทุน

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ทั้ง 3 ค่ายมีธุรกิจกาแฟที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ในแง่ความสำเร็จของแฟรนไชซีแต่ละรายก็อาจจะแตกต่างกันไป โดยมีทำเล และทราฟฟิก เป็นตัวแปรสำคัญ

หากโลเกชั่นไม่โดน ทราฟฟิกไม่ได้ ความเป็นแบรนด์ใหญ่ โด่งดัง ก็ช่วยไม่ได้เช่นกัน

สารพันปัญหาทุบรายย่อย

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการร้านกาแฟอีกรายหนึ่งกล่าวในเรื่องนี้ว่า อย่างไรก็ตามการขยายสาขาของบิ๊กแบรนด์ร้านกาแฟดังกล่าว อีกด้านหนึ่งก็พบว่ามีผลกระทบกับร้านกาแฟรายย่อย ร้านกาแฟที่ไม่มีแบรนด์ หรือเป็นแบรนด์โนเนม ร้านกาแฟข้างทาง-ร้านกาแฟรถเข็น ที่ขายแก้วละ 35-40 บาท

“ร้านประเภทนี้จะถูกแชร์ลูกค้าไปเรื่อย ๆ เพราะลูกค้าจำนวนหนึ่งอาจจะคิดว่าวันนี้ยอมควักกระเป๋าเพิ่มอีก 15-20 บาท ก็ได้ดื่มกาแฟแบรนด์ดังแล้ว ที่สำคัญคือมันจะดูดี มีอิมเมจ กว่ากินร้านที่ไม่มีแบรนด์ ดังนั้นนาน ๆ เข้า หรือในระยะยาว ร้านกาแฟรายย่อยพวกนี้ก็จะ
ค่อย ๆ หายไป”

แหล่งข่าวรายนี้ยังบอกด้วยว่า ตัวแปรอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ยอดขายร้านกาแฟรายเล็กรายน้อยหายไปหรือลดลง มีสาเหตุมาจากการที่แฟลตฟอร์มดีลิเวอรี่รายใหญ่ได้หยุดหรือชะลอการทุ่มงบฯเพื่อซัพพอร์ตในส่วนนี้ลง ต่างจากเมื่อช่วงโควิด เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เขาทุ่มทุนเพื่อให้ยอด และร้านกาแฟเหล่านี้ก็จะมีรายได้จากส่วนนี้เข้ามาซัพพอร์ต

นอกจากนี้จากปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มคนระดับกลาง-ล่าง ที่ไม่ดีนัก ก็ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เข้าใช้บริการร้านกาแฟลดลงตามไปด้วย และเมื่อบวกกับรายได้ในส่วนของดีลิเวอรี่ที่ลดลง ร้านกาแฟพวกนี้ก็จะเหนื่อยมากขึ้น

ส่วนร้านกาแฟระดับบน แบรนด์ดัง ๆ จะไม่เห็นภาพนี้นัก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวรายนี้ย้ำว่า ตอนนี้คนเข้าร้านกาแฟน้อยลงไปเกินครึ่ง เมื่อยอดหายไปเกินครึ่ง ร้านกาแฟรายเล็กรายน้อยก็จะอยู่ยากขึ้น

“วันนี้ตัวเลขคนดื่มกาแฟไม่ได้เติบโตมากเหมือนช่วงเมื่อสัก 6-8 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งคนสูงวัยจะดื่มกาแฟน้อยลงหรือบางคนก็ลดการดื่ม และหันไปหาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแทน ขณะที่อัตราการเกิดก็น้อยลง อีกสัก 5-6 ปี โอกาสที่ตัวเลขการดื่มกาแฟจะเพิ่มขึ้นหรือเติบโตขึ้นคงเป็นอะไรที่ยาก”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตเมล็ดกาแฟ-อุปกรณ์สำหรับร้านกาแฟ ยอมรับว่า ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ร้านขายกาแฟ อุปกรณ์กาแฟ ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นร้านกาแฟรายย่อย ที่เปิดอยู่ตามตลาดใหญ่ ๆ เช่น ตลาดไท ตลาดบางบอน ฯลฯ มียอดขายที่ลดลงมาก ซึ่งผู้ประกอบการ หรือร้านค้ารายย่อยเหล่านี้จะซื้อสินค้าครั้งละไม่มาก ซื้อครั้งละ 2-3 ถุง ซื้อไปพอขายหมด เพราะเขามีงบในการซื้อที่จำกัด

“ตลาดหรือร้านค้าพวกนี้ ตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา ตัวเลขร้านพวกนี้มันลดลง”

เมล็ดกาแฟผลผลิตลด-ราคาพุ่ง

ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดกาแฟรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตอนนี้อีกปัญหาหนึ่งของผู้ประกอบการกำลังเผชิญหน้าก็คือ เมล็ดกาแฟ ที่เป็นวัตถุดิบหลัก มีราคาที่เพิ่มสูงถึง 270 บาท/กก. จากปีที่แล้ว 200-210 บาท/กก.

เนื่องจากปีนี้ปริมาณผลิตเมล็ดกาแฟจากทุกภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิต ปี’65/66 ที่เก็บเกี่ยวในเดือน ธ.ค. 2565-มี.ค. 2566 ทุกโลเกชั่นหายไปครึ่งหนึ่ง หรือลดลงมากกว่า 50%

เมื่อของมีน้อย ความต้องการมาก ราคาก็ยิ่งแพง ดังนั้นบริษัทขนาดใหญ่ก็จะต้องขอโควตาเพื่อนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งตอนนี้ก็เริ่มพบมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทั้งกาแฟจากเวียดนาม ผ่านเข้ามาจากกัมพูชา จากลาว จากเมียนมา

“ตอนนี้ต้นทุนร้านกาแฟเพิ่มขึ้นทุกอย่าง แต่ผู้ประกอบการคงยังไม่ขึ้นราคาโดยเฉพาะรายใหญ่และรายกลาง เพราะที่ผ่านมาได้ปรับมาแล้วครั้งหนึ่ง และต้องยอมแบกรับภาระไว้ก่อน นอกจากนี้พนักงานยังขาดอยู่เหมือนเดิม ทุกแบรนด์เป็นเหมือนกันหมด เข้ามาทำสักพักหนึ่งก็หาย เทิร์นโอเวอร์สูง”

รูปธรรมและความเคลื่อนไหวของตลาดร้านกาแฟที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจจะสะท้อนภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ได้ไม่มากก็น้อย

และดูเหมือนว่า คนที่สายป่านยาวเท่านั้นที่จะอยู่รอด