“สิงห์-ช้าง”ส่งสาวเชียร์เบียร์ช่วยเอเย่นต์

ค่ายเบียร์เปิดศึกรับหน้าขาย “สิงห์-ช้าง” พร้อมใจส่งสาวเชียร์เบียร์ประกบตู้แช่ หวังช่วยยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ปั๊มยอด เปิดตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ค่ายสิงห์ตัวเลขเพิ่มนำโด่ง 62% ขณะที่ช้างลดเหลือ 30% ล่าสุดไทยเบฟฯสุ่มเปิดตัวเบียร์แบรนด์ใหม่ “TAPPER” ดีกรี 6.5 เสริมทัพเร่งปูพรมเข้าเซเว่นฯ พร้อมงัดกลยุทธ์ตรึงราคาสู้

เริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวทางการตลาดมากขึ้นอีกครั้ง สำหรับ 2 ค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่ “สิงห์-ช้าง” เพื่อรับกับหน้าขายสำคัญ “เทศกาลสงกรานต์” ที่กำลังจะมาถึง นอกจากการทยอยปูพรมส่งสินค้าเข้าช่องทางขายต่าง ๆ เพื่อรองรับดีมานด์ของคอเบียร์ที่จะมีมากขึ้นในช่วงดังกล่าวแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ได้นำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ เพื่อช่วยให้ร้านค้า ตู้แช่ รวมทั้งคู่ค้าขายสินค้าได้ง่ายขึ้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเบียร์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพการแข่งขันของตลาดเบียร์เริ่มกลับมามีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากใกล้จะเข้าสู่เทศกาลที่เป็นหน้าขายสำคัญของตลาดเบียร์ โดยกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญจะยังคงเป็นการใช้สาวเชียร์เบียร์ หรือพีจี (promotiongirl) ช่วยในการกระตุ้นและผลักดันยอดขายและการทำกิจกรรมของค่ายเบียร์หลัก ๆ จะมุ่งไปที่การแย่งฐานลูกค้าของคู่แข่งให้สวิตช์แบรนด์มาบริโภคของตน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากภาพของสาวเชียร์เบียร์ตามร้านอาหาร ผับ บาร์ ที่เห็นกันเป็นปกติแล้ว ล่าสุดทั้งค่ายสิงห์และค่ายช้างได้ส่งสาวเชียร์เบียร์กระจายลงไปประจำร้านยี่ปั๊วซาปั๊ว ร้านตู้แช่ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจะมุ่งไปที่ย่านหอพัก อพาร์ตเมนต์ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น

“เวลาที่สาวเชียร์เบียร์จะไปอยู่ประจำร้านของยี่ปั๊วซาปั๊ว หรือตู้แช่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลา 17.00-24.00 น. ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ขายเบียร์ได้ แต่ในทางปฏิบัติร้านตามตรอกซอกซอยส่วนใหญ่ก็จะเปิดประมาณ 20.00-21.00 น. ส่วนช่วง 11.00-14.00 น. แม้กฎหมายจะให้ขายได้ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนซื้อ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจร้านตู้แช่ ร้านค้าส่ง ของเอเย่นต์เบียร์ทั้ง 2 ค่ายในเขตกรุงเทพฯพบว่า ทั้งค่ายสิงห์และช้างได้ส่งสาวเชียร์เบียร์ไปประจำอยู่ที่ร้านค้าของยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เช่น ย่านบางซื่อ ซอยไทรม้า (นนทบุรี) ฯลฯ และทำหน้าที่ในการช่วยขายสินค้าแบรนด์นั้น ๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่มาซื้อของที่ร้าน และจากการสอบถามพบว่า สาวเชียร์เบียร์จะได้ค่าจ้างวันละ 400 บาท หรือบางพื้นที่ที่การเดินทางลำบาก บริษัทก็จะมีอินเซนทีฟ เช่น ค่าแท็กซี่ เพิ่มให้ และจะตระเวนไปตามร้านของยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รวมทั้งร้านโชห่วยที่มีตู้แช่ต่าง ๆ ตามที่บริษัทกำหนด

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งสาวเชียร์เบียร์ไปประจำร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่งเริ่มมีมาระยะหนึ่ง จากเดิมจะมีตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดหรือพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีหอพัก อพาร์ตเมนต์ ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้สินค้าได้

“แต่ร้านที่เราจะส่งสาวเชียร์เบียร์ไปช่วย หลัก ๆ จะต้องเป็นร้านที่มียอดขายดีในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะส่งพนักงานไปช่วยทุกร้าน”

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเบียร์อีกรายหนึ่งแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปกติยอดขายเบียร์ 70-80% จะอยู่ที่ช่องทางออฟพรีมิส หรือร้านค้าปลีก โมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ ดังนั้นการส่งพนักงานพีจีไปช่วยร้านค้าในลักษณะนี้ นอกจากจะเห็นการหวังผลในแง่ของกระตุ้นยอดขายของแบรนด์ อีกด้านหนึ่งก็ยังเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของคู่ค้า (ร้านค้า) เพราะตั้งแต่มีการปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ เมื่อ 16 กันยายนปีที่ผ่านมา บวกกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่ดีนัก ทำให้ตลาดเบียร์ค่อนข้างนิ่ง

นายภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดเบียร์ค่อนข้างนิ่งมาหลายปี แต่ในเซ็กเมนต์ซูเปอร์พรีเมี่ยม หรือกลุ่มคราฟต์เบียร์ และเบียร์นำเข้า มีเทรนด์การเติบโตค่อนข้างดี โดยก่อนหน้านี้ สิงห์ก็ได้ทยอยเพิ่มพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มเบียร์เป็นระยะ ๆ อาทิ สโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส 33, โครเนนเบิร์ก, ยูเบียร์ เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

“ตลาดเบียร์มูลค่า 2 แสนล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเติบโตเพียง 2-3% ขณะที่เบียร์สิงห์โตกว่า 20% จากการปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์รวมของเครือสิงห์อยู่ที่ 62% เพิ่มขึ้นจาก 59% ปีที่ผ่านมา ส่วนคู่แข่งมีมาร์เก็ตแชร์ลดลง อยู่ที่ 30% กว่า ๆ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ค่ายเบียร์ช้างได้เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อใหม่ชื่อ แทปเปอร์ ออริจินอล เอ็กซ์ตร้า (Tapper Original X-Tra) เป็นลาเกอร์เบียร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 6.5% เริ่มปูพรมวางจำหน่ายแล้วในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ราคากระป๋องละ 53 บาท (490 มิลลิลิตร)

แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายหนึ่งกล่าวว่าการส่งเบียร์ตัวใหม่ที่มีดีกรีสูงถึง 6.5% น่าจะเป็นการแก้เกมและดึงฐานลูกค้าที่ชอบดีกรีแรง ๆ กลับมา เนื่องจากหลังจากที่เบียร์ช้างปรับภาพลักษณ์ใหม่เป็นขวดเขียว และลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงเหลือ 5% ทำให้เสียฐานลูกค้ากลุ่มเดิมไป และมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งสวิตช์ไปหาแบรนด์ของคู่แข่งที่มีแอลกอฮอล์ใกล้เคียงแทน แม้ว่าตาม พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่จะกำหนดให้เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง แต่ค่ายช้างคุมราคาให้อยู่ที่ 53 บาท/กระป๋องได้ หากเทียบกับช้าง คลาสสิค ที่มีแอลกอฮอล์ 5% ราคา 50 บาท/กระป๋อง

“หากสังเกตจะเห็นได้ว่า หลังจากภาษีสรรพสามิตใหม่มีผลบังคับใช้ แต่ราคาขายเบียร์ช้าง (ในช่องทางร้านสะดวกซื้อ) ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาและยังตรึงขายราคาเดิมทุกเอสเคยู เช่น ขวดใหญ่ 620 มล. 56 บาท กระป๋องเล็ก 320 มล. 38 บาท กระป๋องใหญ่ 490 มล. 50 บาท ขณะที่คู่แข่งอย่างเบียร์ลีโอ หรือสิงห์ ปรับราคาทุกเอสเคยูขึ้นแล้ว เฉลี่ย 1-3 บาทต่อขวด/กระป๋อง” แหล่งข่าวกล่าว