รู้จัก “เดชพงศ์ กาญจนลักษณ์” ผู้กุมสูตรลับ “หัวเชื้อสุรา” ไทยเบฟ ค่าตัว 2,000 ล้าน

เดชพงศ์ กาญจนลักษณ์ ไทยเบฟ
เดชพงศ์ กาญจนลักษณ์ : ภาพจากนิตยสาร Exception

เปิดตัว “เดชพงศ์ กาญจนลักษณ์” ผู้กุมสูตรลับ “หัวเชื้อสุรา” กลุ่มไทยเบฟ ที่ได้รับการส่งต่อจาก “จุล กาญจนลักษณ์” นักปรุงสุรามือหนึ่งในยุคบุกเบิกต้นตำรับสูตรลับเฉพาะของแม่โขง แสงโสม หงส์ทอง ถือเป็นผู้กุมหัวใจธุรกิจน้ำเมาของกลุ่มไทยเบฟ ที่มีสัญญาผูกพันยาว 40 ปี ด้วยมูลค่า 2,000 ล้านบาท

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ Thaibev ยักษ์ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เข้าสู่วงการน้ำเมาตั้งแต่ปี 2518 จากที่ได้เข้าซื้อโรงงานสุรา ของบริษัท ธารน้ำทิพย์ จำกัด หลังจากนั้นในปี 2526 ก็ได้ชนะการประมูลสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมด 12 แห่ง และมีแบรนด์สุราที่แพร่หลายและเป็นผู้นำตลาดก็คือ แม่โขง แสงโสม หงส์ทอง

ทั้งนี้ “สูตรปรุงสุรา” ของกลุ่มไทยเบฟฯ ถือเป็นสูตรลับเฉพาะของ “จุล กาญจนลักษณ์” ซึ่งเป็นนักปรุงสุรามือหนึ่งในยุคบุกเบิก และยังคงเป็นต้นตำรับสูตรลับเฉพาะ ที่มีการส่งต่อถ่ายทอดสูตรลับให้กับ “เดชพงศ์ กาญจนลักษณ์” ทายาทคนเดียว เพื่อรักษามาตรฐานด้านรสชาติของเครื่องดื่มให้คงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ถือได้ว่าขณะนี้ “เดชพงศ์ กาญจนลักษณ์” เป็นการกุมหัวใจธุรกิจน้ำเมาของไทยเบฟฯ จึงได้มีสัญญาว่าจ้างผู้ชำนาญการ ในการควบคุมดูแลการผลิตและปรุงสุรา “หัวเชื้อสุรา” ในมูลค่าสูงระดับ 2 พันล้านบาท

“เดชพงศ์” เคยให้สัมภาษณ์ว่า “คุณพ่อเคยพูดไว้ว่า สุราทำให้ดีขึ้นนั้นง่าย แต่จะทำให้คงที่เหมือนเดิมไปตลอดนั้นยาก”

ทั้งนี้ “เดชพงศ์” ได้เข้ามารับช่วงทำงานต่อจากบิดา (จุล กาญจนลักษณ์ เสียชีวิต 16 มิ.ย. 2530) ตั้งแต่ปี 2530 หลังจากจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการบิน และปริญญาโทด้านวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมอุตสาหการที่ Oklahoma State University ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยเข้ามาดูแลงานด้านวิศวกรรมและเทดนิคการผลิตสุราให้กับกลุ่มบริษัท สุราทิพย์ จำกัด และกลุ่มบริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด ก่อนจะมาเป็นหนึ่งในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

จนกระทั่งปี 2547 “เดชพงศ์” ได้วางมืองานบริหารและมาดูแลเฉพาะงานหัวเชื้อสุราเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน (บทสัมภาษณ์ “เดชพงศ์ กาญจนลักษณ์” จากนิตยสาร EXCEPTION ปี 2557 ของธนาคารทหารไทย)

สอดคล้องกับข้อมูลจากงบการเงินของบริษัท ไทยเบฟฯ ที่ระบุว่าได้มีการทำสัญญาว่าจ้างผู้ชำนาญการ ในการควบคุมดูแลการผลิตและปรุงสุรา “หัวเชื้อสุรา” ตั้งแต่ปี 2547

โดยมีระยะเวลาว่าจ้าง 40 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2587

โดยภายใต้เงื่อนไขสัญญา บริษัท ไทยเบฟฯ และบริษัทย่อยทั้ง 4 มีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าจ้างแก่ผู้ชำนาญการเป็นรายเดือน รวมเดือนละ 4.3 ล้านบาท และเพิ่มค่าจ้างในอัตราร้อยละ 5 ทุก ๆ รอบ 12 เดือนในช่วง 20 ปีแรก (วันที่ 1 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2567) และหลังจากนั้นจะจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน รวมเดือนละ 2.5 แสนบาท จนครบกำหนดสัญญา ซึ่งค่าจ้างภายใต้สัญญาเป็นจำนวนเงินรวม 1,766.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ต่อมามีการทำบันทึกข้อตกลงแนบท้ายเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 ให้บริษัทและบริษัทย่อยจ่ายเงินล่วงหน้าจำนวนเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ชำนาญการท่านนี้เพิ่มเติม

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีค่าจ้างที่ต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาคงเหลือจำนวนเงิน 231.8 ล้านบาท

นี่คือค่าตัวของผู้กุมหัวใจธุรกิจ สูตรลับ “น้ำเมา” ของเจ้าสัวเจริญ