กรุ๊ปเอ็ม เผยอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภค ภายใต้หัวข้อ “Consumers Untold 2023” ยุคหลังโควิด ผู้คนเริ่มมีความหวัง-กล้าใช้เงิน-เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น
วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาดิจิทัล GroupM Focal 2023 ครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้ชื่อ “FOCAL 2023-Know Ahead the Secrets of Marketing Mastery” โดยมีไฮไลต์สำคัญคือการเผยผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคกับการใช้สื่อภายหลังยุคโควิด-19 เพื่อให้นักการตลาดกำหนดทิศทางการสื่อสาร และออกแบบกลยุทธ์การใช้สื่อล่วงหน้า โดยมีผู้บริหารจากกรุ๊ปเอ็มและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 ท่าน ร่วมกันนำเสนอ 6 ประเด็นสำคัญสำหรับนักการตลาด
ซึ่งจากงาน GroupM Focal 2023 นายณัฐวีร์ ณีวมาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด และนายแพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้ร่วมกันเผยอินไซด์ล่าสุดของคนไทย ผ่านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีผลต่อการเลือกเสพ CONTENT สู่การผันตัวเองมาเป็น CONTENT CREATOR และแง่มุมด้านดี-ร้ายของการใช้สื่อ Online/Offline ในหัวข้อ Consumers Untold 2023 ว่า
“ปี 2023 ถือเป็นปีที่สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย ผู้บริโภคเริ่มมีความหวัง และไม่กังวลเรื่องการใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเอง รวมถึงปีนี้ผู้บริโภคยังมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือกลุ่มคนท้องถิ่นที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากในเมืองมาก ๆ ก็เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น เกิดเป็นกลุ่ม Target ใหม่ให้นักการตลาด”
ซึ่งบางคนที่มีความสามารถด้านการเล่าเรื่อง ผลิตคอนเทนต์เองได้ก็สร้าง Content ที่มีความ Variety มากขึ้นกลายเป็น Digital Power แต่ขณะเดียวกันด้านมืดของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต คือ การที่ผู้บริโภคถูกมิจฉาชีพหลอกก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นคนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันจึงควรใช้อย่างมีสติ มีความระมัดระวังตัว
สำหรับด้านภาพรวมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคนับว่าดีขึ้น คนจะเริ่มใช้เงินเพื่อซื้อสิ่งที่ใช่สำหรับพวกเขาจริง ๆ ทั้งนี้ พบว่าผู้บริโภคมีความผ่อนคลายเริ่มออกไปหาความสุขนอกบ้านมากขึ้น ไม่ได้ใช้ชีวิตเฉพาะบนออนไลน์ หรือพึ่งพาการจับจ่ายบนโลกออนไลน์เหมือนใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
“ผู้บริโภคเลือกเสพเฉพาะ Content ที่ตนชอบจริง ไม่แบ่งแยกเป็น Generation อีกต่อไป หากแต่เน้นไปที่ความสนใจเฉพาะตัว”
ส่วนการเห็นแอดโฆษณาซ้ำ ๆ คนจะรู้สึกว่าถูกยัดเยียด ไม่เชื่อมั่นในแพลตฟอร์มรวมถึงแบรนด์ และเริ่มรู้สึกว่าโฆษณาที่ส่งมาให้มีความไม่จริงใจ ดังนั้นแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง จึงไม่สามารถทำให้คนเชื่อได้อีกต่อไป เพราะคนจะสลับการใช้งานระหว่างแพลตฟอร์มเพื่อหาข้อมูลตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี สำหรับคนโฆษณาและนักการตลาด เรามองว่าในปีนี้เป็นโอกาสที่นักโฆษณาและการตลาดควรจะยกระดับโฆษณา และการสื่อสารของแบรนด์ให้ดีพอสำหรับความต้องการของผู้บริโภคด้วยการไม่ยัดเยียด รวมถึงการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนด้วยคอนเท้นต์ที่สร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการเข้าถึงอย่างเหมาะสมด้วยการใช้สื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์จะสร้างความความคุ้นเคยกับแบรนด์ได้อย่างมีความหมาย