ผู้ผลิตอาหาร “ญี่ปุ่น” อั้นไม่ไหว ดาหน้าปรับราคา…ลามเหล้าเบียร์

อาหารญี่ปุ่น
คอลัมน์ : Market Move

แม้ค่าเงินเยนจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 25 บาทต่อ 100 เยนบ่อยครั้ง จนเหมือนจะทำให้การไปเที่ยวญี่ปุ่นถูกลง แต่ราคาสินค้าในญี่ปุ่นยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเป็นคิวของอาหารการกินที่จะปรับตัวแพงขึ้นแบบทั้งกระดาน เมื่อของกินจำนวนมากกว่า 3,500 รายการ ขึ้นราคาแบบพร้อมเพรียงกันไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา และบริษัทวิจัยในญี่ปุ่นยังคาดการณ์ว่า คลื่นการขึ้นราคานี้จะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้รวมแล้วอาจมีสินค้าที่ขึ้นราคามากกว่า 1 หมื่นรายการ

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2ยี่ปุ่น566 นี้เป็นต้นไป สินค้าอาหารจำนวน 3,566 รายการในญี่ปุ่นจะแพงขึ้น หลังบรรดาผู้ผลิตกว่า 195 บริษัทตัดสินใจขึ้นราคาสินค้าของตนให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบ ค่าพลังงาน และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

บริษัทวิจัย Teikoku Databank ระบุว่า ปริมาณสินค้าที่ขึ้นราคาไปแล้วนี้ มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ถึง 50% และคาดว่าหลังจากนี้จำนวนสินค้าที่ขึ้นราคาจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม จะมีสินค้าที่ราคาแพงขึ้นรวมกว่า 29,106 รายการ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 10%

การขึ้นราคาครั้งนี้สร้างผลกระทบในวงกว้างตั้งแต่อาหารหรูไปจนถึงอาหารหลักที่ผู้บริโภคทานเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น ขนมปัง โดยผู้ผลิตเบเกอรี่ 3 ราย ประกอบด้วย Yamazaki Baking หนึ่งในผู้ผลิตเบเกอรี่รายใหญ่ประกาศขึ้นราคาขนมปังอีก 7% เช่นเดียวกับ Pasco Shikishima และ Fuji Baking ที่ประกาศขึ้นราคาพร้อมกันด้วย

เช่นเดียวกับข้าว อีกหนึ่งอาหารหลักของชาวญี่ปุ่นซึ่งราคาแพงขึ้นเช่นกัน เมื่อ Sato Foods ผู้ผลิตอาหารพร้อมทาน ตัดสินใจขึ้นราคาข้าวสวยพร้อมทานเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นอีกประมาณ 8-10%

การขึ้นราคานี้ช่วยให้หลายบริษัทรอดพ้นจากผลกระทบของภาวะต้นทุนพุ่งสูง

ตัวอย่างเช่น Nissui บริษัทผู้ผลิตอาหารทะเล ซึ่งเดิมคาดว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรลดลงไปถึง 7.1 พันล้านเยน
(ประมาณ 1.73 พันล้านบาท) แต่การขึ้นราคาสินค้าบวกกับยอดขายที่สูงขึ้น กลับช่วยให้กำไรเพิ่มขึ้น 1.24 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 3 พันล้านบาท) แทน “ชินโก ฮามาดะ” ซีอีโอของ Nissui อธิบายถึงความสำเร็จนี้ว่า ในที่สุดการขึ้นราคาสินค้าก็สามารถตามทันต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทในญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในการส่งต่อภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากมีบางบริษัทที่การขึ้นราคานั้นสามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาได้ไม่มากนัก บางรายอาจช่วยได้ไม่ถึงครึ่ง

จากผลสำรวจการขึ้นราคาสินค้าของนิกเคอิ เอเชีย พบว่า 85% ของบริษัทผู้ผลิตอาหารและสินค้าของใช้ในครัวเรือนสามารถใช้การขึ้นราคามาชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้สำเร็จ แต่อีก 11% ที่ระบุว่า การขึ้นราคาไม่ช่วยด้านภาระต้นทุนเลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ จาก 66 บริษัทที่ขึ้นราคาสินค้า มี 12% ที่ราคาใหม่สามารถชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้ถึง 80% ขณะที่อีกกว่า 50% การขึ้นราคาชดเชยต้นทุนได้เพียงไม่ถึงครึ่งเท่านั้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขึ้นราคาแบบถ้วนหน้าทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายบางด้านลง อย่างเช่น ตามการเก็บข้อมูลจากช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตของนิกเคอินั้น น้ำมันทำอาหารที่ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาราคาแพงขึ้นไปแล้ว 11.5% มียอดขายลดลง 13.6% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์นมและมายองเนส ซึ่งยอดขายลดลงไป 12.2% และ 7.5% ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้จะได้ผลลัพธ์ที่ปนเปกัน แต่คาดว่าการขึ้นราคาสินค้าในญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากยังมีอีกหลายบริษัทที่เตรียมขึ้นราคาสินค้าหลังจากนี้ เช่น เมจิและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมอีกหลายรายที่เตรียมอัพเดตราคานมและโยเกิร์ตในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

โดยคาดว่าจนถึงเดือนตุลาคมน่าจะมีสินค้าขึ้นราคาอีกกว่า 5,000 รายการ ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไวน์และเหล้าสาเกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง นั่นคือผู้เชี่ยวชาญคาดว่ากระแสการขึ้นราคานี้จะลดความร้อนแรงลงในช่วงฤดูหนาว หลังถึงจุดพีกในเดือนตุลาคม “ซาโตชิ ฟูจิวาระ” นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระอธิบายว่า ตามปกติแล้วกระแสการขึ้นราคาสินค้าจะถึงจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจนถึงต้นปีงบฯใหม่จะไม่ค่อยพบการขึ้นราคาวัตถุดิบและแพ็กเกจจิ้งแล้ว

ทั้งนี้ ฟูจิวาระยังคงเตือนว่า แม้กระแสขึ้นราคาจะหยุด แต่ราคาสินค้าที่แพงขึ้นไปแล้วจะไม่ลดลง และจะทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายต่อไป