สมาคมการตลาดฯ แนะธุรกิจหาจุดร่วมจับคนทุกเจน

สมาคมการตลาด กลยุทธ์การตลาด

สมาคมการตลาดฯเผย การตลาดครึ่งปีหลังท้าทายหลายด้าน หลังค่านิยม-พฤติกรรมคนแต่ละเจเนอเรชั่นสวนทางกัน แต่เศรษฐกิจชะลอตัวทำตลาดหว่านแหลำบาก แนะธุรกิจ-นักการตลาดหาจุดร่วมคนทุกเจเนอเรชั่น สร้างความคุ้มค่าในการลงทุนการตลาด พร้อมเปิด 2 หลักสูตรอบรมใหม่ หวังตอบโจทย์ผู้บริหาร-นักการตลาดรุ่นใหม่

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 การทำการตลาดของธุรกิจต่าง ๆ จะมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยแนวคิดและวิธีการจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นผลจากพฤติกรรม ความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลังคนรุ่นใหม่เริ่มมีบทบาทและอิทธิพลในเรื่องต่าง ๆ อย่างการจับจ่ายสินค้า หรือการสื่อสารมากขึ้น ขณะที่การใช้งานเทคโนโลยีเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ทั้งด้านแพลตฟอร์มและกลุ่มผู้ใช้งาน ทำให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มมาร่วมในออนไลน์ อาทิ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคแต่ละรุ่นไม่ว่าจะเป็นเจน Y เจน X และเบบี้บูมเมอร์นั้น ให้คุณค่าและตีความเหมาะสม-ไม่เหมาะสมของเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การทำตลาดจะต้องคำนึงถึงบริบทหรือปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลทั้งแคมเปญ สินค้า-บริการที่ออกแบบมาตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะคน-กลุ่ม อาจไม่ตอบโจทย์ในแง่ความคุ้มค่าในการลงทุนของแบรนด์ด้วยเช่นกัน จึงต้องหาแนวทางใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการลงทุนของแบรนด์และความสามารถในการเข้าถึง-จูงใจผู้บริโภคไปพร้อมกัน

ด้วยปัจจัยท้าทายเหล่านี้ ธุรกิจจึงต้องพยายามหาจุดร่วมระหว่างผู้บริโภคแต่ละรุ่น เพื่อสร้างกลยุทธ์การตลาด และสินค้า-บริการ ที่สามารถตอบโจทย์ได้หลากหลาย จนเกิดเป็นอีโคโนมีออฟสเกล ทำให้การลงทุนของธุรกิจคุ้มค่ามากขึ้น โดยการหาจุดร่วมนี้สามารถทำได้ด้วยการให้อำนาจการตัดสินใจกับลูกค้าว่า แบรนด์ควรหรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้เสมอ

ทั้งนี้การจะรู้ถึงการตัดสินใจนั้น ธุรกิจต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่าง AI มาช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลหลากหลายรูปแบบได้อย่างรวดเร็วกว่าในอดีต เพื่อให้รู้ถึงการตัดสินใจของลูกค้าก่อนจะนำไปต่อยอดสร้างกลยุทธ์การตลาด รวมถึงสินค้า-บริการที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มอย่างตรงจุดและคุ้มค่าในการลงทุน และกลยุทธ์ที่จะสร้างนั้น นอกจากตอบโจทย์ของผู้บริโภคและธุรกิจแล้ว ต้องมีองค์ประกอบที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหญ่ของปี 2566 นี้ด้วย เช่น ต้องสามารถใช้งานได้ในหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แบบมัลติเวิร์ส ขณะเดียวกันต้องมีความเรียลหรือสะท้อนความจริงใจของธุรกิจ และทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ต่างจากเดิมที่อาจมุ่งเน้นสร้างกระแสในหมู่ผู้บริโภคเท่านั้น

“โจทย์ใหม่ ๆ เหล่านี้จะทำให้แบรนด์ต้องมีความไดนามิกหรือความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น การคอลลาบอเรชั่นกับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อผลลัพธ์อย่างลดอายุให้เชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น”

ดร.บุรณินกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันตัวผู้บริหารขององค์กรธุรกิจ ควรต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการวางแผนธุรกิจและการตลาด โดยต้องพร้อมทดลองกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพราะความเปลี่ยนแปลงทำให้วิธีการเดิม ๆ ยากที่จะประสบความสำเร็จได้เหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันต้องมีข้อมูลอินไซต์ของผู้บริโภคที่ชัดเจน และวางแผนโดยมองสถานการณ์ในอนาคตล่วงหน้าให้ไกลยิ่งขึ้น เช่น ช่วง 4 ปีหลังจากนี้สภาพเศรษฐกิจจะทำให้เกิดการแข่งขันราคาดุเดือดมากเป็นพิเศษ ซึ่งอันตรายกับธุรกิจมาก

นอกจากนี้กลยุทธ์ต่าง ๆ ต้องเน้นความเร็ว เพราะผู้เล่นทุกรายมักมีเป้าหลายและข้อมูลคล้ายกัน จึงต้องลดระยะเวลาวางแผนลง หันใช้การดำเนินการไปก่อนแล้วค่อยปรับแก้ระหว่างทาง เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริหารในธุรกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและแนวทางการทำการตลาด สมาคมจึงเปิดหลักสูตรการอบรมใหม่ 2 หลักสูตร คือ XYZ : Experience Your Zero และ MORP : Visionary Re-Defined โดยหลักสูตร XYZ : Experience Your Zero นั้นจะเน้นการแชร์ประสบการณ์ของผู้บริหารระดับสูงแต่ละรุ่น เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้เข้าใจถึงยุทธศาสตร์การทำตลาดกับผู้บริโภคเจน Z เช่น แนวคิดและโลกของคนเจน Z วิสัยทัศน์การทำธุรกิจในโลกหลังการเปลี่ยนแปลง การสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงถึงคนรุ่นใหม่ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยมีระยะเวลาหลักสูตรระหว่าง 16 สิงหาคม-20 กันยายน 2566

ส่วน MORP : Visionary Re-Defined จะเน้นการปรับแนวคิด ผ่านการแชร์ประสบการณ์ของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ รวมถึงความเข้าใจเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ พร้อมสร้างคอมมิวนิตี้ของผู้บริหารรุ่นใหม่ โดยมีระยะเวลาหลักสูตรระหว่าง 8 กันยายน-3 พฤศจิกายน 2566