“สหพัฒน์” แตกไลน์ธุรกิจใหม่ ลุยพอร์ตแสนล้าน อสังหา-การเงิน

สหพัฒน์

“สหพัฒน์” เคลื่อนทัพบุกธุรกิจใหม่ เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจเดิม กางโรดแมปลุยอสังหาฯเต็มพิกัด ตั้งบริษัทใหม่ ปั้นคอนโดฯ-เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์-ช็อปปิ้งมอลล์-อาคารสำนักงาน ทุ่มงบฯลงทุนกว่าหมื่นล้าน ปั้นโปรเจ็กต์นำร่อง “คิง สแควร์ คอมเพล็กซ์-คิงบริดจ์ ทาวเวอร์” พร้อมปรับโครงสร้าง “ธนูลักษณ์” จากสิ่งทอ-เครื่องหนัง สู่หัวหอกบุกธุรกิจการเงิน โฟกัสปล่อยกู้สินเชื่อแบบมีหลักประกัน-บริหารสินทรัพย์ ทั้ง NPL และ NPA

การจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 27ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทั้งในแง่ของจำนวนผู้เข้าร่วมงานและยอดขาย ไม่เพียงแต่งานนี้จะเป็นเวทีสำหรับโชว์นวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ของบริษัทในเครือสหพัฒน์แล้ว อีกด้านหนึ่งยังมีการประกาศความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนของกลุ่มสหพัฒน์ ยังใช้เวทีดังกล่าวในการดึงนักลงทุน นักวิเคราะห์ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมนำเสนอแผนการดำเนินธุรกิจและโครงการต่าง ๆ ในอนาคต

เปิดเกมบุกอสังหาฯเต็มสูบ

นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือสหพัฒน์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” จากนี้ไปเครือสหพัฒน์จะค่อย ๆ เพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอเป็นระยะ ๆ นอกจากธุรกิจทองคำ สิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้ หลัก ๆ จะเป็นการเดินหน้าเข้าหาธุรกิจเรียลเอสเตต หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

สำหรับ ไอ.ซี.ซี.ฯเองก็จะมีส่วนหนึ่งที่วิ่งเข้าไปร่วมตรงนั้นด้วยเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินของบริษัทที่มีบริเวณรอบ ๆ สำนักงานใหญ่ของบริษัท บนถนนพระราม 3 โดยมีแผนจะพัฒนาเป็นโครงการคิง สแควร์คอมเพล็กซ์ ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ โรงเรียนนานาชาติคิง คอลเลจ ซึ่งในโครงการจะประกอบไปด้วยคอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และช็อปปิ้งมอลล์ขนาดเล็ก ๆ

“โปรเจ็กต์นี้เป็นการลงทุนในนามของบริษัทในเครือ และ ไอ.ซี.ซี.ฯเข้าไปร่วมในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งตอนนี้ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว บริษัท คิง สแควร์ จำกัด ธุรกิจใหม่นี้จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแรงของกลุ่มบริษัทที่เดิมหลัก ๆ จะมุ่งเน้นในเรื่องของการค้าขาย เรื่องของสินค้า และจากนี้ไปธุรกิจอสังหาฯก็จะเป็นอีกขาหนึ่งของกลุ่มสหพัฒน์ ที่ผ่านมาบริษัทมีที่ดินอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ว่าที่ดินบริเวณไหนเหมาะจะทําแบบนี้เราก็ทํา ที่ดินตรงไหนเหมาะที่จะทําอย่างอื่น ถ้ามีใครมาเสนอเราก็ร่วมมือกันได้ ที่ผ่านมาธุรกิจในเครือสหพัฒน์มีความเคลื่อนไหวและขยับขยายตลอดเวลา เพียงแต่ว่า คนข้างนอกอาจจะไม่รู้” นายธรรมรัตน์กล่าว

ขณะที่นายวรยศ ทองตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI กล่าวในงานพบนักลงทุนภายในงานสหกรุ๊ปแฟร์ว่า ภายใต้นโยบายของท่านประธาน บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ที่ต้องการจะขยายธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากที่ผ่านมา กลุ่มสหพัฒน์จะมีการร่วมลงทุน และสร้างโรงเรียนนานาชาติคิง คอลเลจแล้ว

ล่าสุดมีแผนจะสร้างฟาซิลิตี้ขึ้นมารองรับคอมมิวนิตี้ของนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงชุมชนในย่านใกล้เคียง ด้วยการลงทุนในครงการคิง สแควร์ คอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ จะประกอบด้วย รีเทลโปรเจ็กต์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม คาดว่าต้องใช้งบฯลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท

และโครงการลงทุนที่ SPI กำลังทำร่วมกับพันธมิตรและบริษัทในเครือ โครงการแรก คือ KingBridge Tower ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ จำกัด เป็นอาคารสำนักงาน บนถนนพระราม 3 ย่านสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่จะเชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญอย่างสาทรและสีลม และตั้งใจสร้างให้คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ เป็น iconic เคียงคู่กับสะพานภูมิพล และจะเป็นอาคารสำนักงานแห่งแรกตึกแรกของบริษัทในเครือ

“คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ เป็นอาคารสูง 52 ชั้น มีพื้นที่ประมาณ 44,000 ตร.ม. มูลค่าโครงการประมาณ 6,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดภายในตุลาคมปี 2567 ตอนนี้มีบริษัทจากต่างประเทศสนใจจองเข้ามาบ้างแล้วพอสมควร”

ธุรกิจใหม่เครือสหพัฒน์

TNL หัวหอกบุกธุรกิจการเงิน

เช่นเดียวกับนางสาวสุธิดา จงเจนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน จากเดิมที่บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของสิ่งทอ เครื่องหนัง มานานกว่า 48 ปี ล่าสุด บริษัทได้เพิ่ม engine ใหม่เข้ามาอีก 3 engine ประกอบด้วย

1.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ทีเอ็นแอล อัลไลแอนซ์ จำกัด
ประเภทที่อยู่อาศัย ผ่านการลงทุนใน 7 บริษัท ร่วมทุนกับบริษัท โนเบิล
ดีเวลลอปเมนท์

2.ธุรกิจสินเชื่อแบบมีหลักประกัน ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ออกซิเจน แอสเซ็ท จำกัด ที่มุ่งเน้นการให้สินเชื่อกลุ่มลูกค้าบุคคลและองค์กรรายกลางรายใหญ่ ที่มีมูลค่าการปล่อยกู้ 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเริ่มมีการปล่อยกู้ไปแล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา

และ 3.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บริหารสินทรัพย์ ออกซิเจน จำกัด เน้นบริหารสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ ทั้งหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีหลักประกัน และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จากสถาบันการเงิน

“อาจจะกล่าวได้ว่าธนูลักษณ์เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจการเงิน แต่มั่นใจว่าธุรกิจใหม่นี้จะช่วยให้ปีนี้บริษัทมีการเติบโตในแง่รายได้ไม่ต่ำกว่า 20-30% จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวมประมาณ 1,960 ล้านบาท” นางสาวสุธิดากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกธุรกิจหนึ่งที่กลุ่มสหพัฒน์ได้ให้ความสำคัญ และเพิ่งเริ่มดำเนินการมาได้ 6-7 เดือน คือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ในนามบริษัท ไฮโดรเจน รีท แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่เปิดโอกาสให้พันธมิตร ลูกค้า และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสลงทุนในคลังสินค้าและโรงงานของเครือสหพัฒน์ โดยที่ไฮโดรเจน รีท จะเข้าลงทุนในคลังสินค้าและโรงงานของเครือสหพัฒน์ 4 โครงการ คือ โครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ลาดกระบัง โครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา โครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี และโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ แม่สอด

สยายปีกลุยตลาดทองคำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากกลุ่มสหพัฒน์จะรุกคืบเข้ามาในธุรกิจร้านทองในนามของบริษัท ทีเค ไพรเมรี่ จำกัด ที่บริหารโดยนายฐิติภูมิ โชควัฒนา ทายาทนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ด้วยการเปิดร้านทองในชื่อห้างทองกลมเกลียว ถัดมาในงานสหกรุ๊ปแฟร์ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนซื้อขายทองคำในรูปแบบดิจิทัล โกลด์ เซฟวิ่ง (Digital Gold Saving)

ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว จะช่วยให้ลูกค้า คู่ค้า และบริษัทในเครือสหพัฒน์ เข้าถึงการลงทุนในทองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำให้นักลงทุนไทย ได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดทองคำมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ปัจจุบันบริษัทในเครือสหพัฒน์มีมากกว่า 300 บริษัท และมีรายได้รวมในแต่ละปีประมาณ 1 แสนล้านบาท ครอบคลุมการผลิต การตลาด การจำหน่าย นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ธุรกิจค้าปลีก ตู้สินค้าหยอดเหรียญอัตโนมัติ ฯลฯ กลุ่มสหพัฒน์ยังมีธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจการผลิตวัสดุเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอในอากาศยาน ผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพและอนามัย หน้ากากอนามัย เข็มขัดพยุงหลัง พยุงข้อมือและข้อเท้า หมวกคลุมผมสำหรับใช้ในห้องปลอดเชื้อ เป็นต้น