ธุรกิจร้านอาหารยิ้มรับ ไตรมาส 3 ปี 2566 หลังเปิดนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน (Dine-in) ดันรายได้โต “ไมเนอร์ฟู้ด-S&P” รายได้-กำไรยังโตแกร่ง แม้ต้นทุนเพิ่มสูง ขณะที่ “MK-เซ็นกรุ๊ป” กำไรร่วง จับตาไตรมาสสุดท้าย ช่วงจับจ่ายใช้สอย-วันหยุดยาวต่อเนื่อง
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สถานการณ์โควิดภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตตามปกติ รวมถึงการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมามีรายได้-กำไรที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 โดยเฉพาะการนั่งรับประทานทานอาหารที่ร้าน หรือ Dine-in ที่กลับมาคึกคักอย่างมาก แต่ธุรกิจร้านอาหารบางแบรนด์กลับมีกำไรที่ลดลง
“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจผลประกอบการธุรกิจร้านอาหารยักษ์ใหญ่ “ไมเนอร์ฟู้ด-เอ็มเค-CRG-S&P-เซ็นกรุ๊ป” ไตรมาส 3 ปี 2566 ใครโตมาก โตน้อย
ไมเนอร์ฟู้ด Q3/66 กวาดรายได้ 7,718 ล้านบาท
เริ่มต้นจากบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เจ้าของร้านอาหาร เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์ คิง ฯลฯ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 ยอดขายโดยรวมทุกสาขา (รวมยอดขายสาขาแฟรนไชส์) เติบโตขึ้น 4%
หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 7,718 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ รวมถึงกําไรจากกิจการร่วมค้าที่เติบโตขึ้น
ขณะที่ 9 เดือน ยอดขายโดยรวมทุกสาขาเติบโต 13.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของยอดขายโดยรวมของทุกกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในทุกประเทศ ส่วนยอดขายต่อร้านเดิมเติบโต 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมการขายที่เพิ่มขึ้นจากความสำเร็จของกลยุทธ์ทางธุรกิจของไมเนอร์ฟู้ด
โดยในไตรมาส 3 ปี 2566 ไมเนอร์ฟู้ด มีธุรกิจอาหารสารพัดแบรนด์ดัง เช่น เดอะ พิซซ่า คัมปะนี, เบอร์เกอร์คิง, ซิซซ์เล่อร์, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, เดอะ คอฟฟี่ คลับฯ ซึ่งมีร้านรวมแล้ว 2,607 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทลงทุนเอง 1,309 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 1,298 สาขา ครอบคลุม 23 ประเทศ
MK ไตรมาส 3/66 กำไรสุทธิลดลง
บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านเอ็มเค สุกี้ ยาโยอิ แหลมเจริญ ยามาซากิฯ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 4,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27 ล้านบาท หรือเพิ่มเพียง 0.7% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยช่องทางขายหลักยังคงเป็น Dine-in ที่เติบโตและมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 86% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีสัดส่วน 82% ส่วนดีลิเวอรี่ลดมาอยู่ที่ 8% จากปีก่อน 12%
และมีกำไรสุทธิ 389 ล้านบาท ปรับลดลง 19 ล้านบาท หรือลดลง 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ โดยได้มีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 177 ล้านบาท หรือ 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนแรก ยอดขายอยู่ที่ 12,619 ล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 8.9%
“S&P” Q3/66 รายได้-กำไรโตแกร่ง
ด้านฝั่งบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP เจ้าของร้านอาหารและเบเกอรี่ภายใต้แบรนด์ “เอส แอนด์ พี” รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 มีรายได้รวม 1,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยร้านอาหารในประเทศขายดีขึ้น 95 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และร้านอาหารต่างประเทศก็ไม่น้อยหน้าเติบโตขึ้น 6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
และมีกำไรสุทธิ 165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิไม่ได้มาจากยอดขายที่เติบโตเพียงอย่างเดียว
แต่ยังเกิดจากการ Lean ในกระบวนการผลิต การบริหารค่าใช้จ่ายในโรงงานได้ดี ท่ามกลางต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าเช่า ค่าแรง และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค
ขณะที่ 9 เดือน มีรายได้ 4,562 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 429 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“เซ็น กรุ๊ป” Q3/66 โตดี แต่กำไรลด
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหาร ZEN, Musha by ZEN, Sushi Cyu Carnival Yakiniku, AKA, On the Table Tokyo cafe, ตำมั่ว, เขียง ฯลฯ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 มีรายได้รวม 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93 ล้านบาท หรือ 10% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
โดยมีปัจจัยหลักมาจากธุรกิจร้านอาหารในช่องทางรับประทานอาหารที่ร้านเติบโตขึ้น 11% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับรูปแบบธุรกิจ การพัฒนาแบรนด์ และการออกโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
และมีกำไรสุทธิ 46 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 9 ล้านบาท หรือลดลง 16% ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้กำไรลดลงมาจากที่กลุ่มบริษัท มีค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น ทั้งค่าเช่า ค่าบริการ ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายพนักงานให้บริการลูกค้าในร้านอาหารเพิ่มขึ้น จากจำนวนสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้น
ขณะที่ 9 เดือนแรก ทำรายได้รวมทั้งกลุ่มบริษัท อยู่ที่ 2,883 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิของทั้งกลุ่มบริษัท อยู่ที่ 134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22 ล้านบาท หรือ 20%
ต้องจับตาดูไตรมาส 4 หรือไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 กันต่อไป เพราะเป็นช่วงของการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปี และเป็นช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน