Gen Z เมินเพชรแท้ ดีมานด์อัญมณีสี-เพชรสังเคราะห์พุ่ง

เพชร
ภาพจาก : pexels
คอลัมน์ : Market Move

สถานะของเพชรในฐานะสัญลักษณ์สื่อถึงความรัก และตำแหน่งอัญมณีเม็ดหลักบนแหวนหมั้นกำลังสั่นคลอน เมื่อผู้บริโภครุ่นใหม่เริ่มไม่อินกับมนต์ขลังของเพชร และหันไปสนใจใช้อัญมณีชนิดอื่น ๆ หรือแม้แต่เพชรสังเคราะห์ที่สร้างในห้องแล็บมาสื่อถึงความรักของตน รวมถึงใช้ใส่บนแหวนหมั้นแทนเพชรที่ได้จากการขุดเหมือง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการอัญมณีของสหรัฐว่า แม้จะวันวาเลนไทน์ปี 2024 นี้ จะมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคในสหรัฐจะใช้เงินซื้อเครื่องประดับเพชรพลอยมากถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการใช้จ่ายในด้านนี้ตลอดทั้งปี แต่สินค้าที่ผู้คนซื้อหากันกลับเปลี่ยนแปลงไป

“อังกูร์ ดากา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Angara เจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายเครื่องประดับออนไลน์ กล่าวว่า ปีนี้ตัวเลือกอัญมณีหลักสำหรับแหวนหมั้นเริ่มเปลี่ยนจากเพชรไปเป็นอัญมณีชนิดอื่นมากขึ้น โดยอัญมณี 3 ชนิดที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้ ประกอบด้วย เพชรสังเคราะห์ ไพลิน และทับทิม

สะท้อนจากผลสำรวจซึ่งบริษัท Angara เป็นผู้ออกทุนให้ โดยจากการสอบถามผู้บริโภคจำนวนกว่า 2,000 คน พบว่า ปัจจุบันสัดส่วนการเลือกใช้อัญมณีสีในแหวนหมั้นมีสัดส่วนถึง 15%

ขณะที่เมื่อทศวรรษที่แล้วอัญมณีชนิดนี้มีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น โดยผู้บริโภคมากกว่า 20% ระบุว่าจะอัพเกรดแหวนหมั้นของตนเองเป็นอัญมณีสี เช่น มรกต ไพลินสีชมพู และเพชรสีเหลือง

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายอื่นในวงการเครื่องประดับอัญมณีเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Signet Jewelers ผู้ค้าอัญมณีภายใต้แบรนด์ Zales, Jared และ Kay ที่ระบุว่าเห็นเทรนด์การใช้อัญมณีสีในแหวนแต่งงานและเครื่องประดับแฟชั่นมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ไพลิน, มอร์แกไนต์, บุษราคัมสีลอนดอนบลู, อะความารีน และควอตซ์สีเขียว

ช่วงวาเลนไทน์ปี 2024 นี้ หินเขี้ยวหนุมาน และทับทิม ยังได้รับความนิยม เนื่องจากหินเขี้ยวหนุมาน ถือเป็นหินประจำเดือนเกิดสำหรับผู้ที่เกิดในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่สีแดงของทับทิมสามารถเชื่อมโยงกับความรักได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ด้าน “เบธ เกอร์สเตน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Brilliant Earth บริษัทผู้เชี่ยวชาญการผลิตเพชรสังเคราะห์และอัญมณีสี กล่าวว่า เห็นความนิยมอัญมณีสีสันต่าง ๆ นี้เป็นผลจากเทรนด์ Personalization หรือความต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนคนอื่นหรือมีวางขายทั่วไป รวมถึงสะท้อนความเป็นตัวตนหรือไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ซึ่งแนวคิดอัญมณีตามเดือนเกิดสามารถตอบโจทย์นี้ได้อย่างตรงจุด

ส่วน “อังกูร์ ดากา” ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า อีกปัจจัยที่กระตุ้นความเปลี่ยนแปลงนี้คือ ความนิยมสินค้าหรูที่มีสีสันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา Rolex ที่มีอัญมณีสีต่าง ๆ เป็นกรอบของตัวเรือน หรือรถ Ferrari ที่สีสันสดใส

ขณะเดียวกันราคาของอัญมณีสีบางชนิดเริ่มขยับสูงขึ้นตามสภาพซัพพลายที่เริ่มลดลง ส่งผลให้อัญมณีอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกลายเป็นที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น การนำโกเมนมาใช้แทนทับทิม ซึ่งราคาแพงขึ้น เนื่องจากความกังวลด้านคุณภาพและข้อจำกัดของภูมิภาคที่สามารถหาอัญมณีชนิดนี้ได้

โดยทับทิมนั้นมีแหล่งผลิตหลักอยู่ที่เหมืองบนเกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นที่มาของทับทิมส่วนใหญ่ในโลก ส่วนไพลินปัจจุบันเหลือแหล่งขุดเพียง 2 แห่ง คือ เหมืองในศรีลังกาและมาดากัสการ์ หลังเหมืองที่ประเทศเมียนมา และแคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย ปิดตัวลง แม้แต่ซัพพลายมรกตจากเหมืองในแซมเบียและโคลอมเบียเริ่มหายากและมีราคาสูงกว่าในอดีตมาก

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาขายส่งของไพลินเพิ่มขึ้น 12% ต่อปี ไปในทิศทางเดียวกับมรกตที่ราคาเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี และทับทิมที่ราคาเพิ่มขึ้น 17% ต่อปีในช่วงเดียวกัน สำหรับอัญมณีที่เฉพาะกลุ่มกว่าอย่างไข่มุกและโอปอลนั้นราคาเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี ส่วนทัวร์มาลีนราคาพุ่งไปถึง 36% ต่อปี

ในงานประมูลของทั้ง Bonhams, Sotheby และ Christie ที่จัดเมื่อเร็ว ๆ นี้ กว่าครึ่งของอัญมณีที่นำมาประมูลต่างมีผู้ซื้อไปในราคาสูงกว่าระดับราคาประเมินสูงสุด และบางลอตมีผู้ประมูลไปด้วยราคาสูงกว่าราคาประเมินสูงสุด 3 เท่า สะท้อนว่าบรรดานักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในอัญมณีมากขึ้น

สำหรับเพชรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความนิยมของเพชรสังเคราะห์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตามข้อมูลของบริษัท Angara แหวนหมั้นทั้งหมดที่ขายออกไปเมื่อปี 2023 มีแหวนที่ใช้เพชรสังเคราะห์ถึง 50%

อย่างไรก็ตาม หากเป็นอัญมณีสีประเภทอื่น ๆ ผู้บริโภคยังต้องการอัญมณีธรรมชาติอยู่

หากเทรนด์นี้ยังดำเนินต่อไป ต้องรอดูกันว่าผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเพชรรายใหญ่จะออกมาแก้เกมอย่างไร เพื่อรักษาธุรกิจของตนเอาไว้