ฮาคูโฮโด เปิดผลวิจัยมูเตลู แนะกลยุทธ์เด็ดเจาะ 3Gen

ฮาดูโฮโด
ดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์-พร้อมพร สุภัทรวณิช

“ฮาคูโฮโดฯ” เปิดผลวิจัย “MY GEN MY MU มูต่างวัย มองต่างมุม” พบคนไทยเน้นเรื่องเงิน-โชคลาภมากที่สุด แนะแบรนด์ปรับใช้ด้วยการยึด 3 กลยุทธ์หลัก เจาะ 3 กลุ่ม เผยคน Gen X ขอเรื่องสุขภาพ ขณะที่ Gen Y โฟกัสกับการเงิน-การงาน ส่วน Gen Z เน้นการงาน-อาชีพมั่นคง

นางสาวพร้อมพร สุภัทรวณิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าการมูเตลู ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” ทุก ๆ 2 เดือน ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ ได้นำผลการศึกษานี้ไปใช้เป็นกลยุทธ์ และช่วยเพิ่มกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

จากผลการศึกษาพบว่า คนไทยโดยทั่วไปมูเตลูเน้นเรื่องเงินและโชคลาภมากที่สุด จากคำตอบของผู้ทำแบบทดสอบกว่า 1,200 คน กว่า 88% ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด ให้คำตอบว่าเชื่อเรื่องการมู และกว่า 52% ของคนไทยให้นิยามการมูเตลูว่าเป็น “เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ” โดยคนไทยมักจะเน้นขอเพื่อตัวเองมากกว่าครอบครัว เห็นได้จากตัวเลขกว่า 65% ที่ว่าด้วยคนไทยขอพรเพื่อตัวเอง

จากการศึกษาในหัวข้อ “MY GEN MY MU มูต่างวัย มองต่างมุม” นี้ สามารถแบ่งมิติที่มาที่ไปและวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกเป็น 3 Generation ได้แก่ Gen X หรือกลุ่มคนอายุ 43-58 ปี การมูเตลูของคน Gen X เน้นเรื่องการสวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญ เพื่อเสริมความหวังและกำลังใจให้แก่ตนเอง และด้วยช่วงอายุที่มากขึ้น ทำให้กลุ่ม Gen X มีการมูเตลูเพื่อขอเรื่องสุขภาพมากกว่าเจนอื่น ๆ เพราะการมีสุขภาพที่ดี คือการเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิต

ขณะที่ Gen Y คนในช่วงอายุ 27-42 ปี มีแคแร็กเตอร์เฉพาะตัวคือ เปิดรับและปรับตัวเก่ง เปิดกว้างให้กับความศรัทธาแบบไร้ขีดจำกัด จึงโฟกัสกับการเงินและการงานมากกว่าเจนอื่น ส่วน Gen Z คนในช่วงอายุ 11-26 ปี ที่เติบโตในยุคดิจิทัล การมูที่กลุ่ม Gen Z นำมาปรับใช้เพื่อเป็น Gimmick เช่น การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าสีมงคล เครื่องประดับมงคลชิ้นเล็ก ๆ หรือแม้แต่วอลเปเปอร์บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ การงานและการเรียนคือสิ่งที่ชาว Gen Z ขอจากการมูเตลูมากกว่าเจนอื่น ๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังอยู่ทั้งในวัยเรียนและกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เลือกทางเดินในการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

นางสาวดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโดฯ กล่าวเสริมว่า เพื่อให้แบรนด์ที่ต้องการนำผลการศึกษาไปปรับเป็นกลยุทธ์ให้เข้ากับแบรนด์ของตนเอง ควรแบ่งเป็น 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.Gen X : Empowering Muketing “เติมพลังใจ เพิ่มพลังกายคนสายมู” ด้วยการเน้นการส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ สามารถเพิ่มความน่าสนใจและคุณค่า ด้วยกิจกรรมที่คุ้นเคย เช่น จัดอีเวนต์ “กิจกรรมเดิน-วิ่ง 9 วัด” เพื่อให้คนเจนนี้ได้สวดมนต์ ทำบุญขอพร และได้ออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมตามธรรมเนียมและวิถีปฏิบัติที่คน Gen X ยึดถือด้วย

2.Gen Y : Embracing Muketing “เปิดประสบการณ์มูแบบใหม่ ๆ เอาใจคนชอบลอง” จากการที่คน Gen Y มีนิสัยเปิดกว้าง ชอบลองของใหม่ ชอบโพสต์และแชร์ ดังนั้น แบรนด์อาจ Recommend การมูแบบใหม่ ๆ ที่ไม่มีมาก่อน เช่น “Meet and Mu” ทริปมูเตลู ที่เน้น New Spot ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมการ Tie-in สินค้าหรือบริการของแบรนด์ นอกจากจะได้มูตามศรัทธาแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้เที่ยวและพบปะเพื่อนใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม แบรนด์ควรระวังความถูกต้องชัดเจนของข้อมูลต่าง ๆ เพราะคนเจนนี้ชอบค้นหา และแชร์ข้อมูลกับคนรอบข้าง

และ 3.Gen Z : Embellish Muketing “Mu-nimalistic เอาใจคนรุ่นใหม่” “มูแบบไม่ตะโกน” คือ วิธีการมูที่ถูกจริตชาว Gen Z ที่สุด แบรนด์สามารถเพิ่ม Occasion ในการ Connect กับคน Gen Z ได้ด้วยการเสริมเรื่องราวมูเตลูที่ “ดูดีมีสไตล์” และ “เอ็นจอยร่วมกันกับเพื่อน ๆ ได้” ให้กับสินค้าหรือบริการ เช่นจัดแพ็กสินค้าสีมงคล สำหรับทุก ๆ วัน หรือ “สติ๊กเกอร์ God-vengers รวมพลังเทพครบเซต” อีกทั้งยังควรเปิดโอกาสให้คน Gen Z ได้ “Mu-Mix-Match” ในแบบของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เช่น สินค้าแฟชั่น/Accessories หรือกลุ่มบิวตี้ ที่มี Color Palette เป็น “สีมงคลพาสเทล” เสริมความสนุกและความมั่นใจให้กับพวกเขาทั้งในชีวิตประจำวันและโลกออนไลน์