บทสรุป “ฟู้ด แคปปิตอล” โยกพอร์ตร้านอาหาร…คืน “ศรีชวาลา”

หลังจากประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง “ฟู้ด แคปปิตอล” หรือชื่อเดิม เอฟโวลูชั่น แคปปิตอล ที่รู้จักกันในนามผู้ได้รับสิทธิ์บริหารร้านพิซซ่าชื่อดังจากสหรัฐ “โดมิโน พิซซ่า” รวมถึง “เคียวโชน” ร้านไก่ทอดอันดับ 1 จากเกาหลี และ “คอฟฟี่บีน แอนด์ ทีลีฟ” ร้านกาแฟพรีเมี่ยมสัญชาติอเมริกัน

แม้จะผ่านการปรับโครงสร้างการบริหารอยู่หลายครั้ง รวมถึงการขายแบรนด์ “มิสเตอร์โจนส์ ออร์ฟาเนจ” ร้านคาเฟ่สไตล์น่ารัก กุ๊กกิ๊ก ให้กับทางกลุ่ม นิปปอน แพ็ค เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าทางออกสุดท้ายของคณะกรรมการบอร์ด รวมถึงผู้ถือหุ้นที่ออกมาก็คือ การเบนเข็มไปสู่ “ธุรกิจพลังงานทดแทน” โดยวางเป้าหมายขยายธุรกิจดังกล่าวอย่างจริงจัง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “เอ สัจเดว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ FC ถึงทิศทางของกลุ่มร้านอาหาร ภายหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนคอร์บิสซิเนสไปอุตสาหกรรมอื่นอย่างสิ้นเชิง

“เอ” ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ FC และได้รับมอบหมายให้มาดูแลในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ อธิบายว่า การทำธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารจานด่วน QSR มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายสาขาจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน

แต่ในเมื่อการขยายสาขาไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ความสามารถในการทำกำไรจึงลดลง และยังต้องอัดงบฯจำนวนมากไปกับการทำโปรโมชั่น ซึ่งจะเห็นได้ชัดในธุรกิจร้านพิซซ่า อย่างแคมเปญ ซื้อ 1 แถม 1 หรือบางที ซื้อ 1 แถม 2 เมื่อคู่แข่งทำ ก็ทำให้บริษัทต้องทำด้วย เพื่อรักษาฐานลูกค้าและยอดขาย

โดยรายได้เมื่อปีที่ผ่านมาของ FC อยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท แต่มีการขาดทุนสะสมถึง 2.3 พันล้านบาท ในปัจจุบัน ในขณะที่การทำธุรกิจพลังงานทางเลือกนั้นจะช่วยเพิ่มรายได้และการเติบโตให้กับบริษัทได้ทันที โดยกลุ่มของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ มีกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำสัญญาการจ่ายไฟให้ภาครัฐในราคาที่สูงกว่าตลาด และยังเหลือสัญญาอีก 10-20 ปี ซึ่งสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจกลุ่มใหม่เป็นอย่างมาก

“เอ” อธิบายเพิ่มว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ และเมื่อ FC หันไปทำพลังงานทดแทนเป็นหลัก ก็จะขายกลุ่มร้านอาหาร ให้กลับมาอยู่ในพอร์ตของฟิโก้ กรุ๊ป หรือกลุ่มศรีชวาลา อีกครั้ง ประกอบไปด้วย กลุ่มร้านจานด่วน (QSR) อาทิ โดมิโน่ พิซซ่า, คอฟฟี่บีน แอนด์ ทีลีฟ และเคียวโชน กลุ่มร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง ที่ซื้อมาจากบริษัทจี เอ็นเตอร์ไพรส์ แอนด์ โค จำกัด ในปีที่ผ่านมา อาทิ ชิงช้าชาลี, ไพเรท เชมเบอร์, มูมมาม พาร์ค, อูมามิ, ฟาลาเบลล่า และกลุ่มไนท์ไลฟ์ ที่พัฒนาขึ้นมาเอง อาทิ ดิ ไอรอน แฟรี่, แม็กกี้ ชูวส์, แฟต เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบริหาร อัดฉีดงบฯต่าง ๆ ต่อจากนี้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการลงทุนภายใต้บริษัทเอกชน ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ฟิโก้ กรุ๊ป ทำธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหารอยู่แล้ว การนำพอร์ตของ FC มานอกจากจะช่วยเติมเต็มให้กับธุรกิจ ยังทำให้การใส่เงินเข้าไปเพื่อขยายสาขาหรือกระตุ้นยอดขายมีความยืดหยุ่นกว่าตอนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ”

“เอ” ระบุว่า ฟิโก้ กรุ๊ป มีหลายบริษัท และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ฟินิกซ์ ฟู้ด เวิลด์ ที่ดูแลร้านอาหารบางส่วนในโรงแรม ที่จะโยกพอร์ตโฟลิโอของ FC เข้ามารวมไว้ที่นี่ โดยประเมินว่าในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ จะใช้การลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในกลุ่มร้าน QSR โดยจะให้ความสำคัญกับโดมิโน่ พิซซ่า และเคียวโชน เป็นหลัก

ปัจจุบัน โดมิโน่ พิซซ่า มีสาขาอยู่ประมาณ 35 สาขา ห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขยายให้ครบ 100 สาขาในช่วงแรกค่อนข้างมาก จากข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำเล และการแข่งขัน ซึ่งต้องทำอย่างรัดกุม เพราะหากขยายผิดจังหวะ หรือโลเกชั่นอาจขาดทุนหนักกว่าเดิม ซึ่งข้อนี้บริษัทแม่ก็เข้าใจ และค่อนข้างยืดหยุ่นในสัญญาที่เคยตกลงเอาไว้

ส่วนเคียวโชน มีอยู่ 5 สาขา ปัญหาสำคัญของการขยายร้านคือมาตรฐานที่ต้องเหมือนเป๊ะกับร้านที่เกาหลีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นครัว โต๊ะ กระจก พื้น โดยเฉพาะการเสิร์ฟอาหารที่ต้องทำสดใหม่ ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เท่านั้น เช่น ไก่ทอด จะต้องรอถึง 15 นาที ทำให้เทิร์นโอเวอร์ของลูกค้าในร้านค่อนข้างช้า ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ฟิโก้ต้องนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น

ในขณะที่คอฟฟี่บีน แอนด์ ทีลีฟ มีทั้งหมด 6 สาขา ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในเซ็กเมนต์เดียวกันอย่างสตาร์บัคส์ เพราะต้องเลือกทำเลในการเข้าไปพอสมควร หากไปตั้งประชิดกับแบรนด์คู่แข่งจะทำตลาดได้ยาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา และต่อรองกับทางบริษัทแม่ เรื่องการให้สิทธิ์เอ็กซ์คลูซีฟในการขยาย เนื่องจากทำไม่ได้ตามเป้า

“7 ปีที่ผ่านมา โดมิโน่อะลุ้มอล่วยให้เรามาก ถือว่าได้พาร์ตเนอร์ดี ทำให้เราตั้งใจสู้ต่อไป เป้าหมายหลักคือขยายให้ครบ 100 สาขา เพื่อการบริหารตุ้นทุนที่ดีขึ้น และมีกำไร ส่วนเคียวโชนก็เดินหน้าต่อ ไม่มีปัญหาเรื่องการต่อสัญญา แต่คอฟฟี่บีนฯยังรอเจรจาอยู่ ส่วนกลุ่มไนท์ไลฟ์ และกลุ่มไฟน์ไดนิ่ง ที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างดี เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างมีกำไร แต่จับตลาดนิช จึงมีรายได้ในส่วนดังกล่าวไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับ QSR ที่แมส สามารถขยายไปได้กว้างกว่า และถ้าสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดสำเร็จก็จะหมายถึงยอดขายที่มหาศาล”

คงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงนี้…เอาไว้ให้ดี