ครึ่งทาง ทีวีดิจิทัล “ช่อง 3-เวิร์คพอยท์” เปิดเกมแลกหมัด

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ต้องลุ้นกันสุด ๆ สำหรับช่องทีวีดิจิทัล จากสารพัดมรสุม ทั้งมิติการแข่งขันที่เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ จากเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวี ที่มีอยู่เพียง 60,000 ล้านบาท ซ้ำร้ายยังชะลอการเติบโตลง จากปัญหาเศรษฐกิจ สินค้าหลาย ๆ อย่างต้องรัดเข็มขัดลดงบฯโฆษณาผ่านสื่อลงเรื่อย ๆ

ขณะที่ แทบทุกค่ายต่างมีความเคลื่อนไหวเป็นระลอก ๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปรับกลยุทธ์ ด้วยการเพิ่มคอนเทนต์แม่เหล็ก หวังดึงคนดู เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณามาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรียกว่า ดิ้นกันทุกทาง

ล่าสุด ค่ายทีวีดิจิทัลที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลาย ๆ บริษัท ได้เริ่มทยอยแจ้งผลการดำเนินงาน ไตรมาส 2 ซึ่งพบว่าบางช่องเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่บางช่องก็ยังต้องสู้ต่อ

เริ่มต้นด้วย บริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด (มหาชน) ที่กำใบอนุญาตทีวีดิจิทัลอยู่ในมือถึง 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 33 เอชดี ช่อง 28 เอสดี และ 13 แฟมิลี่ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ช่อง 3 ก็เคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างทีมบริหารใหม่เกือบยกชุด พร้อมเสริมทีมเตรียมบุกออนไลน์เต็มรูปแบบ

โดยไตรมาส 2 นี้ บีอีซีฯ มีรายได้ 2,714.1 ล้านบาท ลดลง 0.9% จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 112.7 ล้านบาท ลดลง 54.7% จากไตรมาสก่อนที่มีกำไร 136.3 ล้านบาท แม้ว่าการขายโฆษณาในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 198.5 ล้านบาท จากการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลกหลายรายการ เช่น วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์สโมสรโลก วอลเลย์บอล เวิลด์กรังด์ปรีซ์ เป็นต้น ทำให้กำไรที่ได้ต่ำกว่าปีก่อน

ขณะที่ดาวรุ่งอย่างบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร “เวิร์คพอยท์ทีวี” ก็พุ่งแรง ตีคู่เบียดเรตติ้งเบอร์ 2 อย่างช่อง 3 มาแบบต่อเนื่อง พร้อมกับเติมคอนเทนต์ใหม่ คู่กับเพิ่มดีกรีให้แก่คอนเทนต์แม่เหล็ก อีกทั้งเสริมช่องทางการออกอากาศสดผ่านออนไลน์ หวังเก็บคนดูทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน ก็ส่งให้รายได้รวมขยับไปอยู่ที่ 1,114.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไร 372.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 238.90 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน

หากเจาะเฉพาะช่องเวิร์คพอยท์พบว่า มีรายได้ถึง 937.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนสื่อออนไลน์ก็เก็บรายได้ไป 76.20 ล้านบาท ตามด้วยรายได้จากการรับจ้างจัดงาน 58.09 ล้านบาท และรายได้จากการจัดคอนเสิร์ต ละครเวทีอยู่ที่ 30.19 ล้านบาท (ทั้งปี)

ส่วนบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง โมโน 29 รายได้รวมขยับมาอยู่ที่ 692.64 ล้านบาท โต 16.56% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลัก ๆ มาจากธุรกิจทีวีดิจิทัล จากเรตติ้งที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีฐานผู้ชมประจำ ทั้งนี้หากแบ่งรายได้ของโมโนฯได้แก่ การให้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ 195.21 ล้านบาท การให้บริการสื่อโฆษณา 449.18 ล้านบาท และอื่น ๆ 48.25 ล้านบาท

ฟากบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 8 มีรายได้รวม 857.6 ล้านบาท มีกำไร 52 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจสุขภาพ ความงาม 300.7 ล้านบาท ธุรกิจเพลง 64.5 ล้านบาท ธุรกิจรับจ้างและผลิตกิจกรรม 57.2 ล้านบาท และธุรกิจสื่อ 435.2 ล้านบาท หลัก ๆ มาจาก ช่อง 8 ซึ่งตั้งแต่เริ่มสตาร์ตต้นปีก็ทยอยเติมคอนเทนต์เด็ดลงจอ โดยเฉพาะซีรีส์อินเดีย ที่สร้างกระแสใหม่และขยายฐานผู้ชมในกลุ่มใหม่ ๆ ให้แก่ช่อง 8 ด้วย

ด้านบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องวัน 31 และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีรายได้รวม 2,124.311 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8.5 ล้านบาท ค่อย ๆ ฟื้นกลับมาเป็นบวกจากผลขาดทุนถึง 109 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหลัก ๆ มาจากประสิทธิภาพของการสร้างกำไรของธุรกิจทีวีดิจิทัล โฮมช็อปปิ้ง และภาพยนตร์ที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็มีบางช่องที่อ่อนแรงลงบ้าง เริ่มด้วยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไตรมาส 2 นี้ มีรายได้รวม 717 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งไตรมาสนี้ขาดทุนอยู่ 164 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากอุตสาหกรรมโฆษณาไม่เติบโต สินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับลดการใช้งบฯโฆษณาลง

ตามด้วยบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง Now26 และเนชั่นทีวี รายงานผลประกอบการ 6 เดือนแรกปีนี้ว่า มีรายได้รวม 294.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้โฆษณาจากธุรกิจทีวีเพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และนิวมีเดียเพิ่มขึ้น 50%

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีแรกนี้ก็ยังขาดทุนอยู่ที่ 119.65 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วนบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องอมรินทร์ทีวี มีรายได้รวม 475.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.95% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากทีวีดิจิทัลเริ่มดีขึ้น โดยช่องอมรินทร์ทีวีมีเรตติ้งติด 1 ใน 10 ของทีวีดิจิทัล จากรายการยอดนิยม “ทุบโต๊ะข่าว” แต่ก็ยังขาดทุนอยู่ประมาณ 72 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว ถือว่าดีขึ้น เพราะการขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนถึง 171 ล้านบาท

เดินมาครึ่งทางแล้วสำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัลปีนี้ หลายช่องรู้แล้วว่า เวลาที่เหลืออยู่จะต้องเดินเกมอย่างไร ขณะที่บางช่องก็ต้องปรับตัวกันต่อไป