เทรนด์ใหม่…ญี่ปุ่นฮิต “เช่า” ห้าง-แบรนด์ดังลุยรับดีมานด์พุ่ง

การ “เช่า” กำลังกลายเป็นตัวเลือกหลักในการใช้สินค้าหรือบริการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ถูกรายล้อมด้วยบริการรายเดือนไม่ว่าจะเป็น สตรีมมิ่งเพลง-ภาพยนตร์, เกมฟรี, การเช่าจักรยานไฟฟ้า, คาร์แชริ่งและอื่น ๆ ซึ่งผู้ใช้บริการไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าของสิ่งที่ตนกำลังใช้เลย ส่งผลให้คนเหล่านี้เปิดรับการเช่าสิ่งต่าง ๆ มากกว่าคนรุ่นก่อน

ขณะเดียวกัน ฝั่งแบรนด์สินค้าต่างมองว่า เทรนด์นี้เป็นโอกาสใหม่ที่จะสร้างรายได้แบบสม่ำเสมอและมั่นคง กว่าการขายขาด พร้อมเปิดบริการให้เช่าสินค้าของตนกันอย่างคึกคัก เช่น “โตโยต้า” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ยักษ์ค้าปลีก “อิเซตัน”, “แคนนอน” รายใหญ่ในธุรกิจกล้องและอุปกรณ์สำนักงาน และล่าสุด “พานาโซนิค” หนึ่งในยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้ประกาศแผนโมเดลธุรกิจให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วยเช่นกัน มีกำหนดเริ่มให้บริการที่ญี่ปุ่น ภายในปี 2563

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียรีวิว” รายงานว่า “พานาโซนิค” ประกาศเตรียมเปิดให้บริการเช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ มุ่งเจาะครัวเรือนทั่วไป โดยมีไลน์อัพสินค้าทั้งกลุ่มภาพและเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านชิ้นใหญ่อย่าง ตู้เย็น รวมอยู่ด้วย

โดยในระยะแรก “พานาโซนิค” จะต่อยอดบริการให้เช่าทีวีที่ซุ่มทดลองมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์เสริมอย่าง เครื่องเล่นบลูเรย์ และขยายต่อเนื่องไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถสมัครใช้งานได้ที่ร้านค้า ประมาณ 2,500 แห่งทั่วประเทศ คิดค่าใช้บริการ 3,400-14,000 เยนต่อเดือน ขึ้นกับขนาดและความละเอียดของทีวี อาทิ โอแอลอีดีทีวีขนาด 55 นิ้ว ราคา 3.4 แสนเยน คิดค่าเช่า 9,800 เยนต่อเดือน ระยะสัญญา 3-5 ปี พร้อมออปชั่นให้เลือกว่าจะซื้อสินค้าชิ้นนั้นในราคาพิเศษเมื่อครบสัญญา หรือเปลี่ยนไปเช่ารุ่นใหม่แทน

ในแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า จุดประสงค์หลักของโมเดลธุรกิจใหม่นี้ นอกจากค่าเช่าแล้วจะเป็นข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค เช่น ช่องรายการที่ชอบดู หรือช่วงเวลาที่ดูทีวีประจำ มาต่อยอดสร้างแคมเปญการตลาดและพัฒนาสินค้า ขณะเดียวกันยังเป็นการดึงลูกค้ามาที่ร้านเพื่อเพิ่มโอกาสขายสินค้าชนิดอื่น ๆ

โดยตั้งเป้าเพิ่มการซื้อซ้ำของทีวีจาก 41% เป็น 80% อีกทั้งยังอาจสามารถต่อยอดไปใช้รับมือการแข่งขันราคาดุเดือดในตลาดจีน และเกาหลีอีกด้วย

ทั้งนี้ นอกจากพานาโซนิคแล้ว แบรนด์ใหญ่รายอื่น ๆ ต่างเริ่มให้บริการเช่าสินค้าเช่นกัน โดยแคนนอนให้เช่าพรินเตอร์มัลติฟังก์ชั่นสำหรับสำนักงาน ส่วน “โซนี่” ให้เช่าหุ่นยนต์สุนัข “ไอโบ” เสริมกับบริการเพลย์สเตชั่นพลัส ซึ่งมีเกมฟรีหมุนเวียนในแต่ละเดือน ส่วนในธุรกิจอื่น ๆ “โตโยต้า” ให้เช่ารถยนต์ระดับหรูอย่าง เลกซัส เป็นรายเดือน ในขณะที่ “อิเซตัน” เปิดให้เช่าเสื้อผ้า

อย่างไรก็ตาม โมเดลการให้เช่าสินค้านี้ยังมีความท้าทาย ที่บริการเช่าสื่อออนไลน์ หรือสตรีมมิ่งไม่มี นั่นคือการบริหารสต๊อกและการซ่อมบำรุงสินค้า ซึ่งยิ่งพยายามชูความสะดวกเป็นจุดขายตามแบบบริการออนไลน์ ยิ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มความซับซ้อนให้กับระดับปฏิบัติการมากขึ้นตามไปด้วย โดยก่อนหน้านี้ “อาโอกิ โฮลดิ้ง” ผู้ใช้บริการเช่าเสื้อสูท ได้ประกาศถอนตัวหลังเริ่มให้บริการได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น

“ยาสุโนบุ เคียวโกคุ” นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจเช่าของบริษัทจัดการกองทุน โกลบอลแคปปิตัล ชี้ว่า ความเร็วในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์เฉพาะหน้าต่าง ๆ เป็นหัวใจของโมเดลธุรกิจนี้ ดังนั้น ผู้เล่นต้องจับตาธุรกิจอย่างใกล้ชิดและใส่นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไปอย่างต่อเนื่อง

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในหลายธุรกิจ ซึ่งหากบรรดาผู้เล่นญี่ปุ่นประสบความสำเร็จตามเป้า หลังจากนี้อาจได้เห็นผู้เล่นในเซ็กเมนต์และประเทศอื่น ๆ หันมาให้บริการเช่าสินค้าหรือบริการเป็นรายเดือนด้วยก็เป็นได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!