จีนตื่นเทรนด์ “เนื้อเทียม” ธุรกิจส่งสินค้ารับดีมานด์

กระแสนิยมบริโภคเนื้อเทียมที่ผลิตจากพืช ที่เริ่มเป็นที่นิยมจนกลายเป็นกระแสหลักของผู้บริโภคในสหรัฐหลังเชนฟาสต์ฟู้ดหลายราย อาทิ เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี นำเนื้อชนิดนี้มาใช้ทำเมนูใหม่ ๆ ได้เริ่มแพร่กระจายออกไปยังประเทศอื่น ๆ แล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือ ประเทศจีน ที่ดีมานด์กำลังพุ่งอย่างรวดเร็ว โดยร้านอาหารเจหลายแห่งหันมาเพิ่มเมนูที่ใช้เนื้อจากพืช จนมีสตาร์ตอัพจำนวนมากผุดขึ้นมาพัฒนาเนื้อเทียมในแบบที่เหมาะสำหรับทำเมนูอาหารจีนโดยเฉพาะ

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานถึงกระแสนี้ว่า กระแสนิยมบริโภคเนื้อเทียมในจีนกำลังมาแรง โดยสามารถพบเห็นเมนูจากเนื้อเทียมได้มากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่พื้นฐานอย่างแฮมเบอร์เกอร์ ไปจนถึงเมนูจีน อาทิ ไส้เกี๊ยว หมูสับในก๋วยเตี๋ยว และไส้ขนมไหว้พระจันทร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะขาดแคลนเนื้อหมูหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ

ไข้หวัดหมูแอฟริกัน ทำให้รัฐบาลต้องสั่งทำลายหมูจำนวนมากจนราคาขยับแพงขึ้นเท่าตัว และปัจจุบันอยู่ระหว่างเพิ่มการนำเข้าเนื้อทุกชนิดมาชดเชยกับการบริโภคของชาวจีนซึ่งกินเนื้อหมู ไก่หรือวัวเฉลี่ย 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 30% จากเมื่อ 15 ปีก่อน

ปัจจุบัน แม้เนื้อเทียมจากพืชจะราคาแพงกว่าเนื้อปกติอยู่ประมาณ 50% แต่ดีมานด์ยังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากร้านอาหารหลายแห่งโดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารเจทั้งในจีนและฮ่องกงทดลองเพิ่มเมนูที่ใช้เนื้อชนิดนี้เข้ามา หวังรับดีมานด์และใช้โอกาสนี้ดึงลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้าร้าน ไม่ว่าจะเป็น “แพลเน็ต กรีน” (Planet Green) ในเสิ่นเจิ้นที่สามารถทำยอดขายเมนูเบอร์เกอร์เนื้อเทียมไปถึง 10,000 ชิ้น

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อต้นเดือนก.ย. แม้จะตั้งราคาสูงถึง 88 หยวน ซึ่งแพงกว่าเบอร์เกอร์เนื้อปกติที่มีราคา 10-15 หยวนเท่านั้น ไปในทิศทางเดียวกับ “กรีน คอมมอน” (Green Common) ร้านอาหารเจในฮ่องกง ที่เมนูราเมนฮากาตะพร้อมท็อปปิ้งเนื้อหมูเทียมจากแบรนด์ออมนิพอร์ก (Omnipork) กำลังเป็นเมนูยอดนิยม

โดย “ไรต์ ทรีต” (Right Treat) บริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติฮ่องกง ผู้ผลิตเนื้อเทียมแบรนด์ออมนิพอร์ก เตรียมขยายตลาดเข้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของเอเชีย เช่น ไทย ไต้หวัน และญี่ปุ่น และยังเตรียมลดราคาลง 12% กลางเดือน ต.ค.นี้ พร้อมด้วยเป้าลูกค้า 1.5 หมื่นราย ภายในสิ้นปี 2563

หลังปัจจุบันส่งเนื้อเทียมให้กับร้านค้าและร้านอาหารในฮ่องกงรวมกว่า 1,000 แห่ง แม้จะเพิ่งเปิดตัวในปี 2561

“เดวิด เหลียง” ผู้ก่อตั้งไรต์ ทรีต อธิบายว่า ผู้ผลิตเนื้อเทียมในสหรัฐ เช่น “บียอนด์มีต” (Beyond Meat) นั้นโฟกัสการวิจัยไปที่เมนูอาหารตะวันตก

ทำให้สินค้าเหมาะสำหรับการทำแฮมเบอร์เกอร์หรือสเต๊ก ส่วนของบริษัทเน้นเมนูอาหารเอเชียอย่างใช้เป็นไส้เกี๊ยว เป็นต้น จึงน่าจะสามารถตอบโจทย์ร้านอาหารและผู้บริโภคเอเชียได้ดีกว่า หลังจากนี้จะเน้นการหาโนว์ฮาวด้านกระบวนการผลิตเพื่อเสริมแกร่งรับมือการแข่งขันและดีมานด์จากลูกค้า

แน่นอนว่ากระแสความนิยมนี้ย่อมดึงดูดความสนใจของผู้เล่นต่างชาติด้วยเช่นกัน โดย “บียอนด์มีต” หนึ่งในผู้ผลิตเนื้อเทียมรายใหญ่ของสหรัฐ เล็งรุกตลาดแดนมังกรด้วยการจับมือกับร้านอาหารเจ “กรีน คอมมอน” เพื่อส่งสินค้าเข้าไปขายในจีนแผ่นดินใหญ่

ด้านนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารให้ความเห็นว่า ตลาดเนื้อเทียมมีโอกาสจะเติบโตได้อีกถึง 80% เป็น 2.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และจะมีทิศทางคลายตลาดไอที โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างบริษัทจากสหรัฐและจีน

จากความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปได้ว่าจุดหมายต่อไปของกระแสฮิตเนื้อเทียมจากพืชนั้น อาจจะเป็นประเทศอื่น ๆ ในโซนเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องรอดูกันต่อไปว่ากระแสนี้จะร้อนแรงแค่ไหน