ทางรอดธุรกิจร้านอาหาร O2O กุญแจช่วยเพิ่มยอด

แม้ว่าตลาดร้านอาหารจะมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่นาทีนี้ดูเหมือนว่าความท้าทายของผู้ประกอบการจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นรายเก่า-รายใหม่ที่กระโดดเข้ามาในตลาดจนทำให้ร้านอาหารที่เปิดใหม่มีเพียง 10% เท่านั้นที่จะอยู่รอด

หากพูดถึงเครื่องมือหรือตัวช่วยการทำตลาด สำหรับธุรกิจร้านอาหาร คงไม่มีใครไม่รู้จักสตาร์ตอัพสัญชาติไทยอย่าง”วงใน” ที่ล่าสุดได้จัดงานสัมมนา “Wongnai for Business :Restaurant 2020 เผยเทรนด์และเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหารแห่งอนาคต”

“ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ฉายภาพว่า ปัจจุบันวงใน มีฐานข้อมูลธุรกิจร้านอาหารพบว่าเพิ่มขึ้น และมีการเติบโตสูงถึง 40% ต่อปี โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีร้านอาหารเปิดใหม่เพียง 10% เท่านั้น และมีการเปิด-ปิดร้านอาหารจำนวนมาก สวนทางกับปี 2562 มีร้านอาหารเปิดใหม่กว่า 70,149 ร้าน เพื่อเพิ่มโอกาสขายในตลาดร้านอาหารที่มีแนวโน้มเติบโตปีละ 3-5% หรือมีมูลค่าตลาดกว่า 4 แสนล้านบาท

โดยเทรนด์ร้านอาหารที่กำลังมาแรงในปีนี้ คือกระแส O2O (online to offline) ที่กำลังส่งสัญญาณแรงขึ้น และจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้วงในต้องพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อเป็นพาร์ตเนอร์ที่มีหน้าที่แชร์ข้อมูลและเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร

Advertisment

ขณะที่ “ธิติวุฒ อุดมชัยพร” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือเรียกว่า O2O เป็นการสื่อสารสองทาง หรือ two way communication โดยสามารถเข้าหากันได้ผ่านช่องทางออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารจึงต้องปรับตัว ด้วยการใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น เทคโนโลยี แอปพลิเคชั่น โซเชียลเน็ตเวิร์ก และเว็บไซต์ ที่จะช่วยดึงดูดลูกค้าจากหน้าร้านเข้าสู่ระบบของร้าน เพื่อเชื่อมต่อและดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการ

ประโยชน์ของการทำตลาดแบบ O2O หลัก ๆ คือ การเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำ และสร้างฐานลูกค้าประจำ เพิ่มยอดขาย และขยายฐานลูกค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันคือต้องเชื่อมโลกออฟไลน์เข้าโลกออนไลน์ (O2O) ผ่านระบบดีลิเวอรี่ ที่เข้ามาช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างกำไร รวมถึงสร้างฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวก รวดเร็ว

จากสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารดีลิเวอรี่มีการเติบโตต่อเนื่องกว่า 10% โดยในปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 14% และมีมูลค่าตลาดกว่า 3 หมื่นล้านบาท

Advertisment

ทั้งนี้ ร้านอาหารที่มียอดออร์เดอร์ผ่านช่องทางดีลิเวอรี่สูงสุด ได้แก่ ร้านอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว อาหารอีสาน อาหารไทย เป็นต้น ส่วนร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี จีน และร้านอาหารซีฟู้ดก็ได้รับความนิยมไล่เลี่ยกัน และที่เป็นรองกลุ่มแรก หลัก ๆ มาจากเป็นเรื่องของราคาอาหารที่มีราคาสูง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ควรจับตา แบ่งเป็น 1.ผู้บริโภคสะดวกใช้บริการดีลิเวอรี่มากกว่าออกไปกินที่ร้าน 2.ผู้บริโภคที่ใช้บริการดีลิเวอรี่กับร้านนั้น ๆ มีแนวโน้มจะเดินทางไปร้านอาหารมากขึ้น 3.ผู้ใช้บริการดีลิเวอรี่เป็นวัยรุ่นและวัยกลางคน (25-34 ปี)

รองลงมาคือกลุ่มอายุ 18-24 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี 4.วันที่มีออร์เดอร์ดีลิเวอรี่สูงสุดคือวันอาทิตย์ วันเสาร์ และวันศุกร์ สะท้อนว่าลูกค้านิยมสั่งอาหารในช่วงวันหยุดมากกว่าช่วงวันธรรมดา

ขณะเดียวกันดีลิเวอรี่ยังช่วยเพิ่มโอกาสธุรกิจในรูปแบบใหม่ คือร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้านโดยให้บริการส่งอาหารดีลิเวอรี่อย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การทำธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยขึ้นอยู่กับทำเลต่าง ๆ ยิ่งทำเลดีคนพลุกพล่านราคาพื้นที่เช่ายิ่งสูง ทำให้ปัจจุบันมีร้านอาหารเปิดให้บริการเฉพาะช่องทางดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น และแม้ว่าระบบดีลิเวอรี่จะมีจุดแข็ง การให้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว แต่ในมุมของผู้ประกอบการถ้าหากไม่มีระบบการจัดการที่ดีก็อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับร้าน เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว “วงใน” ได้พัฒนาระบบจัดการร้านอาหาร หรือ WongnaiMerchant App เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถบริหารจัดการออร์เดอร์และฟีเจอร์อื่น ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยแอปพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้ร้านค้าสามารถแก้ไขข้อมูล รวมถึงเมนูร้านอาหาร รวมไปถึงตรวจสอบออร์เดอร์และประวัติการสั่งซื้อได้เอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าระบบดีลิเวอรี่จะหาลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มยอดขายได้จริง แต่การจะเข้ามาในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด หากดูตัวเลขร้านอาหารที่เข้าร่วมระบบดีลิเวอรี่ของวงใน พบว่ามีมากกว่า 1.2 แสนร้าน และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ “ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนกวิน กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้านเพนกวิน อีท ชาบู เปิดเผยว่า ความท้าทายของธุรกิจร้านอาหารในปี 2020 ต่อไปจะไม่ได้แข่งขันเฉพาะ

เอสเอ็มอีด้วยกันเอง แต่จะต้องรับมือกับเชนร้านอาหารรายใหญ่ ที่เริ่มออกมาเปิดนอกพื้นที่ห้าง พร้อมยังต้องแบกรับกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ค่าเช่าพื้นที่ แต่กำไรน้อยลง สิ่งที่ทำไม่ได้เลยคือการเพิ่มราคาขาย ดังนั้นจึงต้องเช็กสต๊อกและนำระบบเทคโนโลยี POS เข้ามาช่วยบันทึกรายได้ ทำให้ควบคุมต้นทุนได้อย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับ “ปรมินทร์ ตันวัฒนะ” เจ้าของร้านอาหารคินซ่าและเกี๊ยวซ่า เล่าว่าธุรกิจเริ่มจากแผงลอย ไม่มีหน้าร้านเมื่อได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น จึงมองเห็นโอกาสการขาย เริ่มจาก

ช่องทางดีลิเวอรี่ ด้วยการจับมือกับวงในและไลน์แมน พร้อมทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าถึงออนไลน์มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทำคือควบคุมคุณภาพเมนูอาหาร และสามารถให้บริการผู้บริโภคได้ต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการคิดที่ร้านอาหารยุคใหม่ต้องนำไปปรับใช้ในธุรกิจร้านอาหาร