ซัพพลายเออร์ หวั่น ซี.พี. อำนาจต่อรองล้นฟ้า หลังซื้อโลตัส

ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

ซัพพลายเออร์ ห่วง “ซี.พี.” อำนาจล้นฟ้า หลังควบรวม “เทสโก้ โลตัส” สาขาทะลุ 14,000 สาขา 

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีบอร์ดแข่งขันการค้าไฟเขียว ดีล 3.38 แสนล้าน “ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง” ควบรวม “เทสโก้ โลตัส” คว้าช่องทางขายกว่า 2 พันสาขามาครองสำเร็จ  หนุนเครือข่ายอาณาจักรค้าปลีกซีพี “เซเว่นฯ-แม็คโคร-ซีพี เฟรชมาร์ท” ตัวเลขทะลุ 14,000 สาขาทั่วประเทศ

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ทางการอนุญาตให้ ซี.พี.ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ได้ สิ่งที่บรรดาซัพพลายเออร์กังวล หลัก ๆ จะเป็นในเรื่องของอำนาจการต่อรอง เนื่องจาก ซี.พี.นอกจากจะเป็นเจ้าของสินค้าหลาย ๆ อย่างแล้ว

อีกด้านหนึ่งก็ยังมีช่องทางจำหน่ายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขายสินค้าอีกหลายช่องทาง ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท และล่าสุดยังมีเทสโก้ โลตัส ซึ่งปัจจุบันมีสาขามากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะเท่ากับว่าค่ายซีพีมีอำนาจการต่อรองที่มากขึ้นอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายและทางการทำการตลาดใหม่ ด้วยการลดการทำกิจกรรมทางการตลาดลง โดยหันมาเน้นในเรื่องของมาร์จิ้นมากขึ้น

ขณะที่ นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แต่ไหนแต่ไรธุรกิจค้าปลีกก็มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าซัพพลายเออร์มาตลอด ซัพพลายเออร์ต้องพึ่งพาผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีช่องทางจำหน่ายอยู่ในมือ

“ส่วนระเบียบปฏิบัติที่จะออกมาดูแลมันไม่เวิร์กมานานแล้ว แม้รัฐจะกำหนดเงื่อนไขในการควบรวม แต่ในทางปฏิบัติ เราห่วงว่าจะบังคับใช้ได้อย่างไร เช่น เรื่องไกด์ไลน์ หรือกติกาอะไร หากบังคับใช้ช้าก็จะไม่ทันต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และเราไม่ได้ขายสินค้าให้เขาแค่ SKU เดียว มีหลาย ๆ SKU ที่เกี่ยวข้อง” นายสมเกียรติ กล่าวและว่า

“จะเห็นว่ายุคหลัง ๆ ผู้ผลิตข้าวถุงต่างก็หันมาลดสัดส่วนช่องทางการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดลง ปัจจุบันเหลือแค่ 30% ส่วนอีก 70% เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรด”