จับกระแสตลาด
“งานเข้า” ไปตาม ๆ กัน สำหรับสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-ความงาม ที่มีการทุ่มโฆษณาอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา และมีดีกรีมากขึ้น ๆ
ไม่ว่าจะกดรีโมตคอนโทรลไปช่องไหน ช่วงเวลาอะไร ก็จะมีโฆษณาสินค้าที่ว่าให้เห็นและกรอกหูตั้งแต่เช้ายันดึก
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผนึกกำลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงดาบฟันโฆษณาบรรดาสินค้า “ถั่งเช่า” ฐานโฆษณาเกินจริง โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณเป็นยา พร้อมกับสั่งถอดโฆษณาดังกล่าวลงในทุกช่องทาง
จากก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว อย.เชือดพิธีกรรายการทีวีชื่อดัง ที่ทำคลิปโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยบรรยายสรรพคุณว่า รักษาโรคได้ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง อัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า แม้กระทั่งโควิด-19
ในฐานความผิด ที่เป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร พร้อมทั้งได้สั่งระงับการโฆษณา พร้อมดำเนินมาตรการทางปกครอง และมีหนังสือถึงตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
พร้อมกันนี้ อย.ยังเตือนไปยังบุคคลสาธารณะ ทั้งดารา นักร้อง เน็ตไอดอล ให้รับผิดชอบต่อสังคม การโฆษณาใด ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย อย่าทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ อย.ได้ดำเนินคดีโฆษณากับบริษัทและพิธีกรชื่อดังมาแล้ว 7 คดี
พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการแถลงข่าวฟันถั่งเช่าว่า ปัจจุบัน กสทช.และ อย.ได้ร่วมกันจัดการโฆษณาเกินจริงไปมากกว่า 4,000 ชิ้น เป็นโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิทัล 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณีโฆษณา
นี่ยังไม่นับรวมการโฆษณาผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) อีกนับไม่ถ้วน
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาลงดาบสินค้าและการโฆษณาประเภทนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เคยมีการโฆษณาในลักษณะนี้ คือ การใช้ตัวแสดงลักษณะเป็นผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ป่วยติดเตียง แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วหายป่วยอย่างมหัศจรรย์ ซึ่งครั้งนั้น กสทช.ก็ได้ดำเนินคดีไปแล้ว
และครั้งนี้ กสทช.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และนำโทษขั้นหนักสุดกลับมาใช้อีกครั้ง โดยจะปรับสถานีที่ออกอากาศตั้งแต่ 500,000-5,000,000 บาท หากยังฝ่าฝืนและมีการโฆษณาอีก ปรับเพิ่มอีกวันละ 100,000 บาท ส่วนวิทยุจะลดการต่ออายุใบอนุญาตเหลือเพียง 6 เดือน
เช่นเดียวกับพรีเซ็นเตอร์ ดารา-นักแสดง ที่จะถูกดำเนินคดีใน 2 ข้อหา คือ การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 5,000 บาท และการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“…ผู้ประกอบการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ต่อไป กสทช.จะร่วมกับ อย.คุมเข้มให้มากกว่าเดิม และช่วยกันกวาดล้าง เพื่อกำจัดโฆษณาเกินจริงเหล่านี้ให้สิ้นซาก” กรรมการ กสทช.กล่าว
ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. ย้ำว่า “หากพบการโฆษณาในลักษณะนี้อีก อย.จะจัดการขั้นเด็ดขาด ซึ่งกฎหมายของ อย.แม้โทษปรับไม่หนัก แต่เป็นคดีอาญา สามารถติดคุกและมีประวัติเสื่อมเสียได้”
ต่อคำถามที่ว่า จะต้องโฆษณาอย่างไรถึงจะไม่ผิดกฎหมาย และควรทำเช่นไร
รองเลขาธิการ อย.ระบุว่า “…การโฆษณาอาหารเสริมต้องไม่ชี้นำหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ได้ หรือเปลี่ยนโครงสร้างในร่างกาย เช่น ใบหน้า เป็นต้น พร้อมระบุว่าข้อมูลทุกอย่างต้องเป็นไปตามพื้นฐานความจริง ห้ามโฆษณาเกินนั้น”
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการมีเดียเอเยนซี่รายหนึ่งให้ข้อมูลการโฆษณาของสินค้ากลุ่มอาหารเสริมทางทีวีว่า กระแสความใส่ใจในเรื่องของสุขภาพที่มีมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีสินค้ากลุ่มอาหารเสริมเกิดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก และมีการโฆษณามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่อ้างว่ามีส่วนผสมจากถั่งเช่า เห็ดหลินจือ โสม ฯลฯ
“ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้มีการใช้งบฯทางทีวีค่อนข้างมาก หากสังเกตจะเห็นว่า มีโฆษณาแทบทุกช่อง และแทบทุกช่วงเวลา”
แน่นอนว่าเมื่อการโฆษณาสารพัดผลิตภัณฑ์ “ถั่งเช่า” หายไป เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ก็จะจางหายตามลงด้วยเช่นกัน
จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า หลังจากที่ กสทช.และ อย.ได้ประกาศลงดาบกับสินค้าถั่งเช่า-การโฆษณาเกินจริงไปแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวให้ผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง และหากสังเกตจะพบว่าการโฆษณาสินค้าดังกล่าวที่มีเป็นจำนวนมากก็ลดลงและหายไปจากหน้าจอทีวี
อีกด้านหนึ่งผู้บริโภคหลายรายก็เริ่มกลับมาใช้วิจารณญาณในการดูโฆษณาสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น พร้อมกับเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ดารา-นักแสดง ที่พรีเซ็นเตอร์ของสินค้านั้น ๆ แต่แท้จริงแล้วพวกเขามีการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่
หากย้อนกลับไปจะพบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการร้องเรียน และมีการดำเนินการกับโฆษณาขายสินอาหารเสริม และเครื่องสำอาง ที่มีการโฆษณาเกินจริงและหลอกลวงผู้บริโภค รวมถึงการมีนำศิลปิน ดาราชื่อดัง เน็ตไอดอล เป็นผู้รีวิวสินค้า มาเป็นระยะ ๆ
หลังจากเรื่องเงียบหายไประยะหนึ่งก็จะมีสินค้าใหม่ที่โด่งดังเข้ามาแทน
เป็นอย่างนี้ร่ำไป