สารพัดสินค้ากัญชา-กัญชง

ขณะที่ธุรกิจในเมืองไทยเพิ่งเริ่มต้น แต่สำหรับต่างประเทศ “กัญชา-กัญชง” อาจจะไม่ใช่ของใหม่นัก และมีพัฒนาการมาระยะหนึ่ง

นับตั้งแต่หลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกาทยอยเปิดเสรีกัญชาเมื่อปี 2561 ได้ปลุกกระแสให้บรรดาธุรกิจทั้งรายใหญ่อย่างผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ “เอ-บี อินเบฟ” รวมไปถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง “ยูนิลีเวอร์” และแบรนด์ความงามรายใหญ่ทั้ง “เอสเต ลอเดอร์” และ “ลอรีอัล” เช่นเดียวกับบริษัทสตาร์ตอัพรายเล็กรายน้อยอีกจำนวนมากที่ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ดในช่วงที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาสินค้าจากสารแคนนาบินอยด์ หรือ CBD ที่สกัดได้จากกัญชาและกัญชง

แม้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจนในหลายประเทศ แต่บริษัทวิจัยการตลาดหลายแห่ง อาทิ แกรนด์ วิว รีเสิร์ช คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์กัญชาทั่วโลกเมื่อปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8.5 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.05 แสนล้านบาทในปี 2564 นี้ รวมถึงมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 21.2% ต่อปีในช่วงปี 2564-2571 เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกทยอยปลดล็อกให้สามารถผลิต-ใช้สารสกัดจากกัญชา-กัญชงได้

สำหรับด้านวัตถุดิบนั้น กัญชงเป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดด้วยสัดส่วน 59.6% ของมูลค่าตลาด ในขณะที่ยาเป็นเซ็กเมนต์ที่ร้อนแรงอันดับ 1 ของวงการ โดยมีมูลค่า 42.8% ของมูลค่าตลาด และคาดว่าจะเป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตสูงสุดตลอดช่วง 7 ปีจากนี้อีกด้วย ส่วนกลุ่มอาหารและความงามได้รับความนิยมสูงเช่นกัน เพราะความเข้าใจเรื่องสรรพคุณด้านสุขภาพซึ่งเริ่มกระจายในวงกว้างช่วยสร้างดีมานด์

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงมีความหลากหลายอย่างมากตั้งแต่กลุ่มยา อาหาร-เครื่องดื่ม ความงาม ไปจนถึงเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งต่างนำสารต่าง ๆ จากกัญชาและกัญชงมาใช้ เช่น น้ำมันจากเมล็ดกัญชง และสารแคนนาบินอยด์ (cannabidiol-CBD) ที่มีสรรพคุณด้านสุขภาพ เช่น ลดอาการปวด-คลื่นไส้อาเจียน ต้านการอักเสบ ช่วยให้นอนหลับ ฯลฯ มาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตนด้วยวิธีการและรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป

โดยผลิตภัณฑ์จากกัญชาในตลาดโลกนั้นมีตั้งแต่ระดับพื้น ๆ เช่น บุหรี่กัญชา น้ำมันกัญชา อาหารและขนมหวานอย่างบราวนี่ กัมมี่ ลูกอม และน้ำมันมะกอกผสมซีบีดีไปจนถึงกลุ่มที่มีนวัตกรรมและแปลกแหวกแนวมากขึ้น อาทิ “ซีบีดี พิลโลว์” หมอนผสมสารซีบีดีที่ผู้ผลิตอ้างว่าสร้างแคปซูลขนาดจิ๋วที่บรรจุสารซีบีดีเอาไว้บนผิวของหมอน และเมื่อใช้หนุนการเสียดสีจะทำให้แคปซูลแตกและปล่อยสารซีบีดีออกมาช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมียาเหน็บทวารหนักผสมสารซีบีดีแบรนด์ “เมลโล” รวมถึงครีมแก้ปวดกล้ามเนื้อผสมสารซีบีดีแบรนด์ “วีด สปอร์ต” รวมทั้งยังมียาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ไม้จิ้มฟัน และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือผสมซีบีดี และอื่น ๆ อีกมากมาย

ด้านแบรนด์หลักที่มีสินค้าจากกัญชา-กัญชงวางจำหน่ายจะเป็นกลุ่มความงาม เช่น ลอรีอัล ซึ่งใช้น้ำมันเมล็ดกัญชงเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกาย เช่น โลชั่น, คอนดิชั่นเนอร์, ลิปบาล์ม และมอยส์เจอไรเซอร์ เช่น น้ำมันบำรุงผิวหน้าแบรนด์คีลส์ โดยชูสรรพคุณลดรอยแดงบนผิวและรักษาความชุ่มชื้น

เช่นเดียวกับเอสเต ลอเดอร์ ซึ่งเมื่อกลางปีที่แล้วเปิดตัวมาสก์หน้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดกัญชงภายใต้แบรนด์ ออริจินส์ ชูการลดความแห้งกร้านของผิว ส่วนยูนิลีเวอร์มีเซรั่มผสมน้ำมันเมล็ดกัญชงในแบรนด์มูรัด

ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มเอ-บี อินเบฟ จับมือพันธมิตรท้องถิ่นเปิดตัวและวางขายชาผสมสารซีบีดีในประเทศแคนาดาเมื่อปลายปี 2562

สำหรับประเทศไทยหลังจากนี้ไปต้องรอดูกันว่า แต่ละบริษัทจะมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา-กัญชงในรูปแบบไหนออกมาบ้าง