ISTB รับกระแสกัญชาฟีเวอร์ ลุยโออีเอ็ม-ส่งเบียร์ใหม่บุก

เบียร์

“ไอเอสทีบี” คราฟต์เบียร์รายใหญ่ เด้งรับกระแสกัญชามาแรง เตรียมเปิดรับโออีเอ็มเครื่องดื่มผสมกัญชา คาดปี 2565 ลุยแน่ เปิดแผนขยายตลาด ส่งแบรนด์ “ข้าวสาร” บุกญี่ปุ่น-เวียดนาม พร้อมลอนช์แบรนด์ใหม่ผสมอุทัยทิพย์ “ไตรเบียร์” เสริมทัพ เดินหน้าเพิ่มช่องทางจำหน่าย ปูพรมร้านสะดวกซื้อ-ซูเปอร์มาร์เก็ต พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ อำนวยความสะดวก บีทูบี

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทย-ต่างประเทศ เจ้าของคราฟต์เบียร์ไลเกอร์ และอัลเลมองท์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกระแสกัญชาที่มาแรง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจในการวิจัยและพัฒนาสินค้าออกมาทำตลาด

โดยบริษัทมีแผนจะนำโนว์ฮาวด้านการผลิตและกำลังการผลิตของโรงงาน ที่มีอยู่มาเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) คาดว่าจะเริ่มรับผลิตโออีเอ็มได้ในปี 2565 ซึ่งมีค่ายเครื่องดื่มหลายรายที่เข้ามาติดต่อเพื่อให้บริษัทผลิตให้ โดยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โรงงานในต่างประเทศของบริษัทได้มีการพัฒนาเบียร์ที่มีส่วนผสมของกัญชงจากโรงงานในต่างประเทศให้แบรนด์เครื่องดื่มเบียร์ในเยอรมนี และที่หลวงพระบาง สปป.ลาว ทำให้บริษัทมีโนว์ฮาวในการผลิตเบียร์กัญชาเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยโดยส่วนตัวมองว่าอาจจะต้องรอเวลาหลังจากนี้ราว 4 เดือน เพื่อให้ปริมาณกัญชาในประเทศถูกผลิตออกมามากขึ้น ซึ่งช่วงนั้นจะเป็นจังหวะที่ดีในการจัดหาวัตถุดิบที่เหมาะสมและมีปริมาณเพียงพอ ทั้งราคาและปริมาณวัตถุดิบ รวมถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตที่น่าจะพร้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทเองยังไม่มีแผนผลิตเบียร์กัญชา-กัญชงออกมาทำตลาดในขณะนี้ เนื่องจากมองว่าเบียร์กัญชาอาจจะไม่ตอบโจทย์นักดื่มในไทยมากนัก และในแง่ของราคาก็อาจจะสูงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

นายอาชิระวัสส์กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมการแข่งขันในตลาดเบียร์รุนแรงขึ้น จากที่ผู้ประกอบการค่ายต่าง ๆ ต่างเริ่มเปิดตัวสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อปลุกกำลังซื้อในช่วงนี้ที่ชะลอตัวค่อนข้างมาก จากสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สำหรับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทจากนี้ไป บริษัทจะเน้นการขยายตลาดในเชิงรุกมากขึ้น นอกจากแผนการขยายช่องทางจำหน่ายไปยังร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น

ปีที่ผ่านมายังได้พัฒนาเบียร์ไตร (TRAI Beer) ที่มีส่วนผสมของอุทัยทิพย์ เป็นกลุ่ม lager ปริมาณแอลกอฮอล์ 4.8% ออกมาทำตลาด ซึ่งมีกระแสตอบรับออกมาทั้งในแง่ดีและไม่ดี ทำให้บริษัทมีการเดินหน้าพัฒนาแบรนด์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุด

พร้อมกันนี้ยังเตรียมขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วยแบรนด์ข้าวสารเบียร์ ออกไปทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งขณะนี้รอเพียงสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย การส่งออกนำเข้าสามารถทำได้ง่ายขึ้นก็จะส่งออกทันที และหากปีนี้มีการจัดงานเทศกาล Thai Festival ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทก็พร้อมไปเปิดตัวและสร้างแบรนด์ทันที

“การร่วมมือดังกล่าวเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศได้ ทำให้ผู้ประกอบการมองหาสินค้าจากต่างประเทศเข้ามารองรับความต้องการภายในที่ไม่สามารถเดินทางได้ จึงเกิดเป็นการร่วมมือกันเกิดขึ้นระหว่างบริษัท และบริษัทผู้ผลิตสาเกในญี่ปุ่น ที่จะมองหาสินค้าเข้ามาตอบโจทย์” นายอาชิระวัสส์กล่าวและว่า

อีกด้านหนึ่งก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบการขายแบบออนไลน์ที่เน้น B to B เพื่อโยกคู่ค้า-ลูกค้าที่เป็นคอร์ปอเรตมาในช่องทาง B to B 100% โดยจะมีคอร์เปอเรตไอดี/รหัส ในการสั่งซื้อของแต่ละราย รวมถึงจะมีการรวบรวมผู้นำเข้าแต่ละรายเข้ามาในระบบด้วย โดยเฟสแรกวางเป้าหมายในการจัดคู่ค้า B to B ให้เข้าระบบออนไลน์ให้ได้ 25 ราย 200 ร้านค้า โดยเฟสแรกจะเป็นการซื้อขายในรูปแบบเงินสด ก่อนจะพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินเป็นแบบเครดิต 90 วัน

รวมถึงจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มคอลเซ็นเตอร์ในการสั่งสินค้าทางโทรศัพท์ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและทดแทนรายได้จากช่องทางออนไลน์เดิม ควบคู่กับการเปิดร้านไมโครบริวเวอรี่แห่งใหม่ ที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ในช่วงเดือนเมษายนนี้

ขณะที่ร้านไมโครบริวเวอรี่ “ร้านอรุณ” บริเวณย่านราชวัตร บนพื้นที่ประมาณ 100 ตารางเมตร 2 ชั้น ที่บริษัทเปิดตัวมาเพื่อเป็นร้านโรงเบียร์ขนาดย่อมที่สามารถเข้าถึงได้ และมีเมนูอาหารให้เลือกหลากหลาย ราคาย่อมเยา โดยเฉพาะเมนูอาหารจะเน้นวัตถุดิบที่มาจากเบียร์ ไม่ว่าจะเป็น ซี่โครงหมูอบ ซี่โครงหมูตุ๋น หรือชาชู ที่มีเบียร์เป็นส่วนประกอบ เบื้องต้นหลังจากนำร่องเปิดให้บริการไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา พบว่าได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์อย่างต่อเนื่อง