ศึกไก่ทอด 2.5 หมื่นล้านระอุ คู่แข่งรุมกินโต๊ะเจ้าตลาด KFC

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการทุกค่ายต่างได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความกังวลและหลีกเลี่ยงการออกมาจับจ่ายนอกบ้าน แต่ในทางกลับกัน ส่งผลให้ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่กลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดธุรกิจฟาสต์ฟู้ดไก่ทอดที่เป็นเซ็กเมนต์ใหญ่สุดในตลาดร้านอาหารจานด่วน (QSR-quick service restaurants) ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากถึง 50% หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม 4 แสนล้านบาท

จากโอกาสและศักยภาพการเติบโตที่มีต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่กระโดดเข้ามาในตลาดอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อเบียดแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก “เคเอฟซี” ที่มีสัดส่วนอยู่กว่า 70% ไม่ว่าจะเป็นค่ายไก่ทอดเจ้าอื่น ๆ อาทิ เท็กซัส ชิคเก้น, ไก่ทอดบอนชอน และรวมถึงค่ายแฮมเบอร์เกอร์ทั้งแมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง ที่ได้กระโดดเข้ามาร่วมวง

ตลาดนี้จึงมีการแข่งขันสูงขึ้น และเมื่อบวกกับข้อจำกัดจากผลกระทบของโควิดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งเงื่อนไขเวลาเปิดให้บริการ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องงัดกลยุทธ์มุ่งเน้นไปในเรื่องความคุ้มค่าของสินค้า และความหลากหลายของเมนูอาหารเพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า

ไก่ทอดดาหน้าอัดโปรฯแรง

จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า ล่าสุดตลาดไก่ทอดได้เปิดเกมรุกด้วยการทยอยจัดโปรโมชั่นในช่องทางหน้าร้านและดีลิเวอรี่อย่างคึกคัก เริ่มจากเคเอฟซีจัดโปรฯ วันธรรมดาก็เฮได้ เฉพาะวันจันทร์-พฤหัสฯ มีให้เลือกหลากหลายชุด ลดสูงสุด 50% หรือมีราคาเพียง 49 บาท สามารถซื้อได้ที่ร้าน เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น โดยสามารถซื้อจากการทานที่ร้าน ซื้อกลับบ้าน self pick-up และไดรฟ์ทรู มีระยะเวลาถึง 24 พฤษภาคม 2564 ตามด้วยบอนชอนส่งชุดคุ้มสุด เริ่มต้น 399 บาท สั่งได้ทุกแอปพลิเคชั่น ชูจุดขายพร้อมส่งถึงตี 2 เฉพาะสาขาที่กำหนดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเท็กซัส ชิคเก้น ได้ลอนช์เมนูต้อนรับซัมเมอร์ ไก่ทอดซอสน้ำผึ้งมะขาม ในราคาชิ้นละ 47 บาท และกับวิงส์ เผ็ด เผ็ด 3 ชิ้น 59 บาท เป็นต้น

“เบอร์เกอร์” โดดแย่งตลาด

“ธนวรรธ ดำเนินทอง” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านเบอร์เกอร์คิง ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดไก่ทอด (ร้านอาหาร) มีการเติบโตค่อนข้างดี โดยมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 8% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากปัจจุบันคนไทยหันมานิยมรับประทานไก่เพื่อเสริมสร้างโปรตีนมากขึ้น เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของเชนร้านไก่ทอดค่ายต่าง ๆ ที่มีการเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงบอนชอน แบรนด์ในเครือไมเนอร์ ที่มีการเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเจ้าตลาดอย่างเคเอฟซี ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ และตลาดยังมีศักยภาพการเติบโตที่ดีและมีโอกาสต่อเนื่อง ปีนี้คาดการณ์ว่าตลาดไก่ทอดจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 8%

เช่นเดียวกับเบอร์เกอร์คิง ที่ล่าสุดได้เพิ่มเมนูไก่ทอด 2 รสชาติ สำหรับการทำตลาดและรองรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีการบริโภคไก่เพิ่มขึ้น ได้แก่ รสออริจินอล และรสเผ็ด ให้เป็นแคทิกอรี่ใหม่ของเบอร์เกอร์คิง เพิ่มความหลากหลายจับลูกค้าอีกกลุ่มที่อาจไม่ได้อยากทานเบอร์เกอร์ หรือกลุ่มคนที่ทานเนื้อไม่ได้ นอกจากเบอร์เกอร์ และไก่ทอดแล้ว ที่ผ่านมา เบอร์เกอร์คิงได้เพิ่มเมนูเข้าตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างหลากหลาย อาทิ ข้าวไก่ทอด และโจ๊ก เป็นต้น

จากนี้ไปมีแผนจะเพิ่มเมนูไก่ทอดมากขึ้น ด้วยการนำโนว์ฮาวจากทีมไมเนอร์ฟู้ดอินโนเวชั่น ซึ่งเป็นทีมส่วนกลางที่มีหน้าที่คิดค้นนวัตกรรม และเทรนด์ใหม่ ๆ ให้กับทุก ๆ แบรนด์ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ฟู้ด จะใช้โนว์ฮาวตรงนี้ร่วมกัน วันนี้ไก่ทอดของเบอร์เกอร์คิงอาจจะยังถือว่าใหม่อยู่ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ มุ่งสื่อสารโปรดักต์ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ผู้บริโภคได้รู้จักในวงกว้าง

“การเข้ามาในครั้งนี้ก็ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดไก่ โดยถ้าเทียบกับจำนวนสาขาของเคเอฟซีที่มีประมาณ 800 สาขา เรามองว่าตลาดมีโอกาสที่จะสามารถดึงลูกค้าใหม่เข้ามาได้” นายธนวรรธกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านความเคลื่อนไหวของแมคโดนัลด์ (บริษัท แมคไทย จำกัด) ที่ได้กระโดดเข้ามาในตลาดไก่ทอดมาระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดนอกจากเมนูเบอร์เกอร์ที่เป็นสินค้าหลักแล้ว ยังได้พัฒนาเมนูไก่ออกมาหลากหลาย อาทิ แมคไก่กรอบ ข้าวกะเพราไก่กรอบ และนักเก็ตไก่ เป็นต้น และยังมุ่งให้ความสำคัญในช่องทางขายดีลิเวอรี่ โดยจับมือกับพาร์ตเนอร์ ไลน์แมน และแกร็บฟู้ด เพื่อรองรับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นอย่างหลากหลาย

“เท็กซัส ชิคเก้น” ลุยครบเครื่อง

“สุชาติ ระมาศ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ผู้ได้รับสิทธิบริหารแฟรนไชส์ร้านไก่ทอดจากเท็กซัส สหรัฐอเมริกา “เท็กซัส ชิคเก้น” กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดฟาสต์ฟู้ดในเซ็กเมนต์ของไก่ทอดแม้จะมีอัตราการเติบโตที่ไม่หวือหวานัก แต่ก็ยังเป็นตลาดที่ใหญ่ที่น่าสนใจและยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก หากสังเกตจะเห็นว่าปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง

และสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคมองหาคือ เรื่องโปรโมชั่น ลดราคาพิเศษ หรือซื้อ 1 แถม 1 ที่ต้องลอนช์ออกมาเป็นระยะ ๆ ทั้งช่องทางที่เป็นหน้าร้าน หรือตามสาขาต่าง ๆ และช่องทางดีลิเวอรี่ ปัจจุบันเท็กซัส ชิคเก้น มีทั้งหมด 78 สาขา ทั้งร้านที่อยู่ในปั๊มน้ำมันและห้างสรรพสินค้า ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การพัฒนาโปรดักต์ ทั้งเมนูไก่ทอด รสออริจินอล หรือรสสไปซี่ ตามด้วยเมนูเสริมอื่น ๆ เน้นชูจุดขายในราคาที่เข้าถึงง่าย และผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า

สำหรับเป้าหมายเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต มีแผนจะลงทุนเปิดสาขาเพิ่มประมาณ 20 แห่งต่อปี จะมุ่งไปที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เพื่อให้ครอบคลุมการส่งดีลิเวอรี่ที่ต้องสะดวกและรวดเร็ว จากช่วงแรกสาขาส่วนใหญ่จะเปิดตามห้างและคอมมิวนิตี้มอลล์ เพื่อต้องการสร้างแบรนด์

“เคเอฟซี” ย้ำเจ้าตลาด

“อนวัช สังขะทรัพย์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ได้รับสิทธิร้านเคเอฟซีในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดไก่ทอดมีการแข่งขันสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาเริ่มเห็นภาพของเชนร้านอาหารต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขายไก่ทอด เริ่มกระโดดเข้ามาในตลาดนี้เป็นระยะ ๆ ด้วยการพัฒนาเมนูไก่ทอดรสชาติแปลกใหม่เข้ามาดึงดูดความน่าสนใจ และอีกด้านหนึ่งยังมีตลาดไก่ทอดเกาหลีที่กำลังเป็นเทรนด์ที่คนนิยม รวมทั้งยังมีแบรนด์เล็ก ๆ เข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนผลักดันให้ตลาดในภาพรวมขยายตัวตามไปด้วย โดยแต่ละค่ายต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่เกิดขึ้น หากสังเกตจะเห็นว่าหลายค่ายได้มีการเพิ่มงบฯการตลาดเพื่อจัดโปรโมชั่นในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ ออกมาเป็นระยะ ๆ

สำหรับเคเอฟซีนอกจากจะมีจุดแข็งด้านโปรดักต์อยู่แล้ว จำเป็นต้องเน้นควบคุมคุณภาพแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ เนื่องจากปัจจุบันกระแสโซเชียลแรงขึ้น ดังนั้น ความปลอดภัยและคุณภาพจะต้องไม่ตก ทุกอย่างอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน โดยปัจจุบันเคเอฟซีเป็นเจ้าตลาดไก่ทอดด้วยมาร์เก็ตแชร์ที่มีอยู่ประมาณ 70% ซึ่งแม้จะมีคู่แข่งเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น แต่ก็ยังมั่นใจในตำแหน่งผู้นำตลาด